ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
‘ท่านประธานสภาที่เคารพ…’ ตำแหน่งนี้ทำอะไรบ้าง?
แชร์
ฟัง
ชอบ
‘ท่านประธานสภาที่เคารพ…’ ตำแหน่งนี้ทำอะไรบ้าง?
01 ก.ค. 66 • 11.00 น. | 579 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

หลังจากเลือกตั้งกันไปแล้ว รอลุ้นว่าพรรคใดจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่จริง ๆ แล้ว มีอีกตำแหน่งที่สำคัญไม่แพ้นายกรัฐมนตรี เพราะตำแหน่งนี้สามารถกำหนดวันประชุมสภา ยืดร่างกฎหมาย จัดลำดับพิจารณากฎหมาย และอื่น ๆ อีกมากที่มีผลต่อชะตาประเทศทั้งสิ้น

วันนี้ ALTV จึงขอชวนทุกคนมารู้จักกับตำแหน่งประธานสภา ผู้คุมเกมที่แท้จริงในรัฐสภากันค่ะ

·    ประธานสภา คือใคร ? มีหน้าที่อะไร ?

ประธานสภาหรือประธานรัฐสภา เป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุม และจัดการประชุมในแต่ละครั้งให้มีประสิทธิภาพ โดยประธานสภาจะต้องวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง และมีหน้าที่หลัก 7 ประการ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ดังนี้

1.     เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

2.     กำหนดการประชุมรัฐสภา

3.     ควบคุม และดำเนินกิจการของรัฐสภา

4.     รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณรัฐสภา

5.     เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก

6.     แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา

7.     หน้าที่ และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

 


·    ความสำคัญของประธานสภา และความได้เปรียบในการบริหารประเทศ

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าประธานสภาจะต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ตำแหน่งนี้ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองที่ได้ตำแหน่งนี้ เป็นผู้คุมชะตาเกมการเมือง รักษาเสถียรภาพทางการเมือง และผลประโยชน์ในด้านนิติบัญญัติไว้ในกำมือ

ประธานสภาสำคัญอย่างไร ?

 โดยประธานสภาจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นโยบายของพรรคที่ได้ตำแหน่ง ให้สามารถเข้ามาหารือในวาระการประชุม และดำเนินงานได้เร็วกว่าพรรคอื่น ๆ เพราะมีสิทธิ และอำนาจในมือ เพื่อการผลักดันวาระต่าง ๆ เช่น การยื่นแก้รัฐธรรมนูญ การเดินเรื่องกฎหมายให้ผ่านได้อย่างราบรื่น ตำแหน่งประธานสภาจึงเป็นที่ภาระหน้าที่อันหอมหวานในการสานภารกิจของพรรคต่อไปอย่างราบรื่น และกลายเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีการต่อรองและนำมาเป็นเงื่อนไขอยู่เสมอนั่นเอง

 

 

·    ขั้นตอนการเลือกประธานสภา

การเลือกประธานสภา ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 หมวด 1 กำหนดไว้ว่า

1.     ให้ ส.ส. ที่มีอายุมากที่สุด ซึ่งอยู่ในที่ประชุมขึ้นเป็นประธานสภาชั่วคราว เพื่อดำเนินเลือกประธานสภาและรองสภาต่อไป

2.     ส.ส. แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อ ส.ส. ได้หนึ่งชื่อ โดยต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ถ้ามี ส.ส. เสนอชื่อประธานสภาชั่วคราว ให้ ส.ส. ที่มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม

3.     ให้ ส.ส. ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม โดยไม่มีการเปิดให้ ส.ส. คนอื่นอภิปรายแต่อย่างใด ถ้ามีการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก แต่หากมีการเสนอหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ นั่นหมายความว่าในทางสาธารณะ เราไม่สามารถทราบได้เลย ว่า ส.ส. แต่ละคน โหวตใครเป็นประธานสภา

เมื่อเลือกประธานสภาเสร็จ จากนั้นให้ทำการเลือกรองประธานสภา ด้วยวิธีการเดียวกันตามลำดับ

4.  ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. มากที่สุดในแต่ละตำแหน่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภาและรองประธานสภา จากนั้นแจ้งนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

 

 

·    สถิติเกี่ยวประธานสภาที่น่าสนใจ

 -   ประธานสภาคนแรกของไทย คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อายุขณะที่ดำรงตำแหน่ง คือ 55 ปี

-   ประธานสภาที่มีอายุน้อยที่สุด คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาคนที่ 13 ของไทย ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2519 ขณะที่มีอายุราว 39 ปี

-       ประธานสภาที่มีอายุมากที่สุด คือ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาคนที่ 24 ของไทย ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ขณะที่มีอายุราว 79 ปี

-       ประธานสภาคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 คือ นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2562

จากสถิตินี้จะเห็นว่าตำแหน่งประธานสภา ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ก็สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาได้เช่นกัน หรืออายุจะมากจะน้อยก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นประธานสภา แต่ก็ไม่ได้เป็นกันโดยง่ายเช่นกัน จึงเป็นเก้าอี้ที่ใคร ๆ ต่างปรารถนาอยากให้คนในพรรคตนเองได้ครอบครองเพื่อคุมเกมบ้านเมือง และต่อจากนี้เรามาจับตาดูอนาคตของประเทศไปด้วยกันนะคะ

 

อ้างอิง iLaw, รัฐสภา, Thai PBS, The MATTER, Thairath, Spring News, PPTV (1), PPTV (2)

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#หลังเลือกตั้ง, 
#สภา, 
#ประธานสภา, 
#การเมือง, 
#จัดตั้งรัฐบาล, 
#เลือกตั้ง2566, 
#สภาผู้แทนราษฎร 
ผู้เขียนบทความ
avatar
Chayanin C
yun
nerdy girl ผู้สนใจใน Kpop ตัวยง รักการนอนและการกินเป็นชีวิตจิตใจ สีเหลือง? เยลโล่ว มะม่วง? แมงโก้
ALTV CI
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
Chayanin C
yun
nerdy girl ผู้สนใจใน Kpop ตัวยง รักการนอนและการกินเป็นชีวิตจิตใจ สีเหลือง? เยลโล่ว มะม่วง? แมงโก้
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#หลังเลือกตั้ง, 
#สภา, 
#ประธานสภา, 
#การเมือง, 
#จัดตั้งรัฐบาล, 
#เลือกตั้ง2566, 
#สภาผู้แทนราษฎร 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา