“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว....” นานจนหลายคนลืมไปแล้วว่า นิทานเรื่องแรกที่ฟังคือเรื่องอะไร?
เด็กๆ หลายคนหลับฝันไปกับการฟังนิทานก่อนนอน บางคนกอดหนังสือนิทานไว้แนบอก อีกไม่น้อยฟังนิทานเรื่องนั้นซ้ำๆ โดยไม่รู้เบื่อ
ถ้าจะบอกว่า ชีวิตของเด็กทั่วโลกเติบโตมาพร้อมกับการฟัง การเล่า หรือ เล่นบทบาทสมมติตามเนื้อเรื่องในนิทานก็คงไม่ผิด นิทานได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานว่า เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ แต่จะมีพลังมากขึ้นเมื่อใช้ “นิทาน” เป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะด้านต่างๆ ให้เด็กปฐมวัย
ไทยพีบีเอส ชวนคุณครูผู้ดูแลเด็กเล็ก และพ่อแม่ผู้ปกครองไปยังห้องเรียนฤดูร้อนของ “สถานรับเลี้ยงเด็กสร้างฝันปันรัก” เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปพูดคุยกับ “อาจารย์ฝน” รศ.ดร.ชลาธิป สมาหิโต อาจารย์ประจำสาขาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เข้ามาสนับสนุนกลุ่มครูปฐมวัยรุ่นใหม่ ให้ใช้ “วรรณกรรม” มาเป็นฐานในการจัดการเรียนรู้ (Literature-based Approach)
อ.ฝน เริ่มด้วยการจำแนก ระหว่าง การใช้นิทานในชีวิตประจำวัน กับ การใช้นิทานเป็นฐานการเรียนรู้ ว่า ความแตกต่างกัน ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังก่อนนอน หรือครูเล่านิทานยามบ่าย ถือได้ว่า เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบหนึ่ง แต่ถ้าจะใช้ “นิทาน” ซึ่งเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งมาจัดการเรียนรู้ จะต้องมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้เชื่อมโยงกับนิทานเรื่องนั้น
เพื่อทำให้เห็นตัวอย่าง อ.ฝน ชวนไทยพีบีเอส ไปนั่งฟังนิทานกับเด็กๆ ชั้นอนุบาล 1-3 ที่กำลังจดจ่อรอฟังนิทาน “กุ๋งกิ๋งไปตลาด” จาก ครูออม และครูมะปราง สองครูรุ่นใหม่ที่จับคู่กันเริ่มกิจกรรมแรกของวัน
“เช้าวันอาทิตย์สดใส กุ๋งกิ๋ง เล่นขายของกับน้องกระต่าย คุณแม่ชวน “ไปตลาดไหมลูก” กุ๋งกิ๋ง รีบลุก อยากไป อยากไป...”
อ.ฝน เล่าว่า เด็กๆ ในช่วงวัย 3-6 ปีจะสนใจนิทานที่มีการเดินเรื่องราว มีตัวละครไม่เยอะ มีการแก้ปัญหา และมีตัวกิจกรรมต่างๆ เมื่อเด็กสนใจ ขั้นตอนต่อไป ก็คือ คุณครูต้องนำนิทานเรื่องเดียวกันนี้ไปออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และฝึกฝนพัฒนาการด้านต่างๆ
เมื่อครูออม เล่านิทานจบ ครูมะปราง จะถามและชวนเด็กๆ เล่าซ้ำเพื่อฝึกการจับใจความ จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมเปลี่ยน ห้องเรียนเป็นตลาด ให้เด็กๆ เล่นบทบาทสมมุติเป็นพ่อค้าแม่ค้า คนจ่ายตลาด
“เด็กๆ จูงมือกันไปเลือกซื้อ แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่า ตัวเองมีเงินเท่าไหร่ พอกับที่ใช้จ่ายของที่มีอยู่ในร้านหรือเปล่า ในขณะที่เล่นบทบาทสมมุติ เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้คำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงิน การซื้อ มีเรื่องของการทอนเงิน ถ้าเกิดให้เงินมากเกินไป เด็กๆ ต้องรู้ว่า มีเงินทอนกลับมา”
สนุกกับการจับจ่ายซื้อของในตลาดแล้ว คุณครู ก็มีกิจกรรมกลุ่มให้เด็กที่ไปจ่ายตลาดออกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า วันนี้ ไปตลาดได้อะไรมาบ้าง ข้าวของที่ไปจ่ายมา ราคาเท่าไหร่กันนะ แต่ถ้าจะเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ ก็ต้องพักสักนิด ก่อนจะเริ่มกิจกรรมใหม่กัน
“ปากจระเข้” เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเครื่องหมาย “มากกว่า-น้อยกว่า-เท่ากัน” เจ้าจระเข้ตัวนี้ชอบอ้าปากกินตัวเลขที่เยอะกว่า แต่มันจะไม่อ้าปากเลย ถ้าตัวเลขทั้งสองเท่ากัน
นี่เป็นคำอธิบายของ ครูฝน กับ ครูป็อบ สองคู่หูที่จัดกิจกรรมเพิ่มทักษะด้านคณิตศาสตร์ หลังจากเด็กๆ กลับจากการจ่ายตลาด โดยครูทั้งสองคนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างกราฟ แสดงผลไม้ในตลาดที่เด็กๆ ชอบ ผ่านการแปะสติกเกอร์รูปหัวใจ กิจกรรมนี้จะช่วยให้คุณครูมีข้อมูลของเด็กแต่ละคน เพื่อต่อยอดไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นๆ หรือ จัดอาหารว่างได้
เช่นเดียวกับ การฝึกทักษะภาษาต่างประเทศ ที่ยังคงใช้นิทาน กุ๋งกิ๋งไปตลาด เวอร์ชั่น ภาษาอังกฤษ มาบอกเล่าโดย ทีชเชอร์ “โรวีนา” ครูปฐมวัยมากประสบการณ์ ที่ให้เด็กทั้งห้องฝึกทักษะการฟัง ทบทวนคำศัพท์เดิมที่รู้แล้ว “Market” และเพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่ๆ ประเภท ผัก-ผลไม้ ที่เพิ่งไปเจอในตลาด
สุดท้าย คือ ทักษะภาษาไทย ที่ ครูทิพย์ กับ ครูปิงปอง ยังคงยึดโยงกับนิทานเรื่องเดิมด้วยการขยายไปสู่กิจกรรมการสะกด การอ่านออกเสียง และเล่นเกมที่ทำให้ห้องเรียน ยามบ่ายในฤดูร้อนแบบนี้ยังคงมีชีวิตชีวา
“จะเห็นว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้วรรณกรรมเป็นฐานหรือนิทานเป็นฐาน เริ่มต้นจากนิทานเรื่องเดียว แต่สามารถต่อยอดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ และได้ลงมือทำผ่านตัวกิจกรรม ซึ่งตรงนี้ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสอน” อ.ฝน ขมวดสรุป
แม้ “การจัดการเรียนรู้ด้วยวรรณกรรม” จะอยู่ในแวดวงการจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยมานาน แต่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนมากยังไม่คุ้นเคย แต่เรื่องนี้ไม่ยากเกินไป ถ้าจะทดลองทำในบ้าน อาจเริ่มจากวิธีง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถาม และชวนพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดและเล่าว่า เข้าใจเนื้อหาของนิทาน มาก-น้อยแค่ไหน หรืออาจทดลองออกแบบกิจกรรมง่ายๆ ที่เชื่อมโยงกับนิทานที่เล่า
“คำว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทานเป็นฐาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ครูทำกับเด็ก ครูจัดประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้ที่โรงเรียน แต่โดยตัวนิทานเอง เป็นเครื่องมือที่ใช้สอนเด็กๆ ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าใครเป็นผู้เล่า และตัวกิจกรรมก็ปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับเนื้อหาของนิทาน”
รศ.ดร.ชลาธิป ย้ำว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทานเป็นฐาน เป็นแค่รูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนรู้เท่านั้น ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้อีกมากมาย เช่น การใช้เหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบการเรียนรู้ ทั้งนี้ ขึ้นกับ คุณครู และพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจว่า จะเลือกใช้รูปแบบไหนในการจัดการเรียนรู้ตามความเหมาะสม และความสนใจของเด็ก