“ไม่ว่าเราจะเกิดมาแตกต่างจากคนปกติอย่างไร จงอย่ายอมแพ้ จงสู้ด้วยพลัง ด้วยความพิเศษ เราไม่แตกต่าง เรามีชีวิต ขอให้เพื่อนสู้”
ประโยคปิดท้ายเวที Youth Talk ของ วีรพงศ์ สุริยะ หรือ “เนอส” นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะศึกษาเชียงใหม่ ที่สะกดผู้ฟังกว่า 200 ชีวิตในห้องประชุมให้นิ่งเงียบ ก่อนเสียงปรบมือจะดังก้อง
มองผิวเผิน “เนอส” ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปมีความสดใสตามวัย แต่ที่หลายคนมองไม่เห็น คือ อาการป่วยจากโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ โรค LD – Learning Disorder ที่ส่งผลให้เขาไม่สามารถสื่อสาร อ่าน เขียน และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเด็กปกติ เขารู้สึกตัวเองแปลกแยก และเรียนไม่ทันเพื่อนวัยเดียวกัน จุดเปลี่ยนแรกในชีวิต คือ การได้ดูสารคดีเรื่อง “มนุษย์ยุคหิน”
“ผมได้ดูสารคดีนั้น และเห็นว่ามนุษย์ยุคโบราณ เลือกใช้การวาดผนังบอกเรื่องราว ในตอนนั้นผมรู้สึกว่า ถ้าผมทำแบบนั้น เพื่อนอาจจะเข้าใจในตัวผมมากขึ้น ผมก็เลยฝึกวาดรูป และมีความฝันว่า อยากจะเป็นนักวาดการ์ตูน”
แต่โชคชะตาก็เหมือนเล่นตลก เมื่อครูที่สอนเขาในช่วงประถมปลาย และเป็นคนแนะนำให้เขาหันมาฝึกฝนการวาดภาพเพื่อแก้ปัญหาการบกพร่องในการเรียนรู้และสื่อสาร เสียชีวิตกะทันหัน “เนอส” เคว้งคว้าง แต่ก็ยังมุ่งมั่นเดินตามความฝัน และมีโอกาสอีกครั้งที่ฝันจะเป็นจริง เมื่อเขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียน ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ จาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขา ดิจิทัลกราฟิก วิทยาลัยอาชีวะเชียงใหม่
“ขอบคุณที่ทำให้ผมและเพื่อนๆ ทุกคนในห้องนี้ได้ใช้ชีวิต ได้ทำตามความฝัน ได้เดินหน้า และผมมีแผนในอนาคตว่า จะเรียนต่อสาขาดิจิทิลกราฟิก เพื่อต่อยอดการทำงานด้านการวาดรูปให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของผม”
เส้นทางชีวิตของ เนอส เป็นหนึ่งในหลายเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าใน งานปัจฉิมนิเทศ นักศึกษาทุนฯ รุ่นที่ 3 รวม 107 คนจากวิทยาลัยอาชีวะ 9 แห่งทั่วประเทศ แต่ถ้ารวมกับรุ่นพี่อีก 2 รุ่น ก็มีนักเรียนทุนฯ รวมทั้งหมด 582 คน
“เรามีผู้พิการในประเทศไทยอยู่ที่ 2 ล้านคน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% จบแค่ประถมศึกษา จากโจทย์ตรงนี้เราก็มองว่า เราจะมีส่วนอย่างไรในการที่จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับคนกลุ่มนี้ ให้มีโอกาสเรียนสูงจนกว่าประถมศึกษา จนถึงระดับอาชีวะศึกษาได้ไหม”
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาส กสศ. เปิดบทสนทนากับ ALTV ด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะเท่ากับว่านักศึกษาทุนฯ ที่เห็นอยู่ขณะนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิการที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้
จากการศึกษาและเก็บข้อมูลมาต่อเนื่องของ กสศ. และหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า การศึกษาที่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับวิถีของเยาวชนกลุ่มผู้พิการมากที่สุด ก็คือ สายอาชีพ เพราะเป็นสายปฏิบัติและสามารถที่จะทำงานไปด้วยได้ในระหว่างการเรียน
แม้การแก้โจทย์นี้จะไม่ง่ายและไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่ ธันว์ธิดา พบว่าท่ามกลางความยากลำบากระหว่างเส้นทาง ก็ยังมีสัญญาณบวกที่บอกว่า พวกเขามาถูกทาง
“เราพบว่าปัจจุบัน มีสถานศึกษาที่ริเริ่ม สนใจ ให้โอกาสทางการศึกษากับเยาวชนผู้พิการอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีว่า แม้จำนวนไม่เยอะ แต่ตรงนี้เป็นทุนการทำงานที่สำคัญยิ่ง เพราะเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีความพยายามของผู้บริหารและครู และหน่วยงานต้นสังกัดที่พยายามจะแก้โจทย์นี้ และทำให้มันเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทีมหนุนเสริมการศึกษาของวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า คุณครู คือ ฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดของงานนี้
“ผู้เรียนกลุ่มนี้ มีความท้าทาย เพราะทุกอย่างที่ครูเคยจัดให้กับเด็กทั่วไปก็ต้องมาปรับ เช่น การประเมินผลที่เคยประเมินของคนปกติทั่วไป จะประเมินยังไง จะปรับเปลี่ยนวิธีการยังไง อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ เวลาที่เขามีโอกาสไปฝึกงานหรือไปทำงาน เพราะฉะนั้นครูจะต้องมีองค์ความรู้ มีทักษะที่จะทำงานด้วย และมีใจดังนั้น โจทย์ท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ครูมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือได้เต็มที่”
อาจารย์ชนิศา อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะการศึกษาพิเศษ ไม่ได้มีไว้เพื่อคนพิการเท่านั้น ถ้าการศึกษาสามารถมีความยืดหยุ่นตัว และสร้างครู สร้างบุคลากรทางการศึกษา ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้กับบุคคลที่มีความหลากหลาย ยิ่งมากเท่าไหร่ สถานศึกษายิ่งมีประโยชน์ ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ถ้าการศึกษาโอบรับปัญหาตรงนี้ว่าไม่ใช่ปัญหาของครูคนใดคนหนึ่ง สถานศึกษาหรือวงการการศึกษาจะได้ประโยชน์กันทั้งหมด นี่คือการปฏิรูปวงการการศึกษา
“มีคำหนึ่งว่า ถ้าคุณสามารถสอนเด็กพิเศษได้ คุณคือสุดยอดของครู คุณสามารถสอนได้ทุกอย่าง แล้ววันนี้อย่าเพิ่งคิดว่าจะไม่เจอเด็กพิเศษ เพราะเด็กพิเศษคืออยู่ในทุกห้องเรียน ทุกชั้นเรียน”
“เราพบว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่ได้รับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง เป็นการศึกษาที่ทำให้เขาพาครอบครัวพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น เขาจะไม่ยากจนต่อไป สิ่งที่น้องได้รับครั้งนี้ จึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต”
หากมีคำถามว่า โอกาสที่ เนอส และเพื่อนๆ ได้รับ สำคัญอย่างไร คำกล่าวข้างต้นของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
ไม่เพียงแค่เหตุผลทางเศรษฐกิจ อีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ พลังใจที่แข็งแกร่งของพวกเขา จากการที่ต้องต่อสู้ อดทนอดกลั้นจากการถูกบูลลี่ ถากถาง ดูแคลน มาเกือบตลอดชีวิต อาจารย์สมพงษ์มองว่า เยาวชนกลุ่มนี้ มีจิตใจที่เป็น Growth Mindset ที่มีพลังของการเรียนรู้ มีทัศนคติเชิงบวก และทั้งหมดยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า ทิศทางที่กำลังเดินไปนั้น ถูกทาง
ขณะที่การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งจากครอบครัว คุณครู และผู้ประกอบการ เป็น ลมใต้ปีก สำคัญที่ช่วยนำพาเยาวชนกลุ่มนี้ก้าวเดินไปได้อย่างมั่นใจ
“เรากำลังจะสร้างสังคมใหม่ เราสร้างจินตนาการใหม่ทางการศึกษา เด็กเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ เป็นเพียงแค่ความแตกต่าง เด็กถูกมองว่าเป็นภาระ แต่เราเป็นผู้ให้งาน เลิกสงสาร แต่จงมอบงานให้เราทำ เพื่อพิสูจน์ตัวเราเอง”
แม้มีสัญญาณบวกที่ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับ การจัดการศึกษาเพื่อมีงานทำของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอย่างชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่ว่า จะไม่มีอุปสรรค
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาส กสศ. ระบุว่า ยังต้องมีการทำงานเพื่อปรับวิธีคิดในการจัดการศึกษาจากการ สงเคราะห์ ไปเป็น การดึงศักยภาพของเยาวชนขึ้นมา เพื่อให้เขาไปต่อได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน การต้องมีการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับ ผู้พิการทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการให้เอื้อต่อการเรียนรู้และทำงานได้
ธันว์ธิดา ย้ำว่า การแก้ปัญหาเชิงระบบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่ได้พูดถึงแค่เยาวชน 500 คนที่ได้รับทุนฯ เท่านั้น แต่ต้องมองให้เห็นภาพของผู้พิการทั้ง 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนประมาณหมื่นคน ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ กลายเป็น ตัวแบบที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อมีงานทำสำหรับ เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทั้งหมด
หมายเหตุ : ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คือผู้เรียนพิการ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น (เลือนราง) ความบกพร่องทางการได้ยิน ความบกพร่องทางร่างกาย ความบกพร่องทางสติปัญญา ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และมีภาวะออทิซึม