“เพราะเด็กเป็นวัยที่ชอบการเรียนรู้และมีพัฒนาการรวดเร็วสมวัย ของเล่นเสริมทักษะ จึงเป็นตัวช่วยให้เด็กเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาและฝึกทักษะทางด้านอื่น ๆ ทั้งกล้ามเนื้อ ภาษา และประสาทสัมผัส แต่ของเล่นเหล่านั้น ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่ามีภัยแฝงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเช่นกัน”
มาริสา นิ่มกุล จนท.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก กล่าวว่า ของเล่นเป็นสิ่งของประเภทหนึ่งที่มีทั้งหลากหลายรูปทรง ทั้งหลากหลายรูปแบบในการหยิบจับสัมผัส ซึ่งเด็กมักจะมีวิธีการเล่นในแบบของตัวเองแตกต่างกันออกไป แต่การเล่นของเล่นจริงๆ แล้ว เป็นกระบวนการที่มีความสําคัญเป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
กระบวนการเล่นเป็นกระบวนการที่กระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การมอง การได้ยิน พัฒนาการของกล้ามเนื้อ รวมถึงการฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก ฝึกการแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล การตอบสนองต่อจินตนาการ การเล่นที่กระตุ้นการเรียนรู้ที่ท้าทายนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากสําหรับเด็ก เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมรักการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต แต่ของเล่นที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันมีอันตรายแอบแฝงอยู่ในตัวเช่นกัน
ในแต่ละปีมีเด็กบาดเจ็บจากของเล่นที่ต้องมารับการตรวจรักษาซึ่งครึ่งหนึ่ง เกิดจากเครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่น ซึ่งมักไม่มีความปลอดภัย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในประเทศไทยมีเครื่องเล่นที่ไม่ปลอดภัยกว่า 95%
“มีการแบ่งประเภทของเล่นอันตราย 5 ประเภท ที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามและต้องเฝ้าระวัง คือ 1.ชิ้นเล็กชิ้นน้อย 2.ของเล่นเส้นสายยาว ไม่ควรยาวเกิน 22 เซนติเมตร 3.ความรุนแรง พลุประทัด ไฟเย็น 4.ของแหลมคม และ 5.ของเล่นที่มีสารพิษ สารตะกั่ว ขูดสีออกมาได้ เด็กๆ สูดสารพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า กิน ดม อม สัมผัส”
ของเล่นอันตรายที่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงและเฝ้าระวัง คือ ของเล่น ที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือมีชิ้นส่วนเล็กกว่า 3.2 x 6 ซม. เป็นส่วนประกอบ มีโอกาสทําให้สําลักอุดตันทางเดินหายใจได้มาก โดยเฉพาะเด็กเล็กมักเอาเข้าปากจนติดหลอดลมขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ดังนั้นของเล่นเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ต้องไม่เป็นชิ้นเล็กน้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 3.2เซนติเมตรหรือหากเล็กกว่านี้ต้องยาวกว่า 6 เซนติเมตร รวมถึงของเล่น มีสายยาวกว่า 22เซนติเมตร ขดเป็นวงเสี่ยงทําให้รัดคอเด็ก ของเล่น ที่เป็นลูกกระสุนที่แรงกว่า .08 จุล หากโดนลูกนัยน์ตาอาจมีอันตรายถึงขั้นตาบอด ของเล่นที่มีความแหลมคม หรือมีเสียงดังเกินกว่า 80 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับความปลอดภัยของเด็ก เพราะอาจทําลายเซลล์ประสาทการรับเสียงได้
“ลูกโป่งสีสันสวยงามที่เราเห็น เคยสงสัยหรือไม่ว่าลูกโป่งเหล่านั้นลอยได้อย่างไร ภายใต้ความสวยของลูกโป่งหลากสีสัน มีอันตรายแอบแฝงอย่างคาดไม่ถึง พ่อแม่ควรต้องระวังเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน แม้ปัจจุบัน ไทยจะยังไม่มีข้อห้ามในการจำหน่ายลูกโป่งบรรจุแก๊ส แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประกาศให้ลูกโป่งบรรจุแก๊สไฮโดรเจน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ผู้จำหน่ายต้องติดคำเตือน ห้ามนำเข้าใกล้เปลวไฟหรือความร้อน”
ลูกโป่งสวรรค์ ข้างในบรรจุด้วยแก๊สที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศภายนอก คือ แก๊สไฮโดรเจน หรือแก๊สฮีเลียม ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าอากาศ จึงทำให้ลูกโป่งสามารถลอยขึ้นบนอากาศได้ แม้แก๊สทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติที่คล้ายกัน แต่ยังมีคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างกันและไม่อาจมองข้าม เพราะแก๊สไฮโดรเจนเป็นแก๊สไวไฟ เมื่อมีการจุดไฟ หรือมีประกายไฟ แก๊สจะลุกติดไฟ และสามารถขยายออกให้เป็นลูกไฟหรืออาจลุกติดไฟลุกลามเป็นวงกว้างรวมถึงลูกโป่งที่ให้เด็กเป่าเองก็มีความเสี่ยง เพราะขณะเป่าเด็กจะสูดลมหายใจเพื่อเป่าลูกโป่ง อาจทำให้ลูกโป่งถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลม จนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบเล่นลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ ประทัดที่เด็กๆ ชื่นชอบเพราะมีความตื่นเต้น แต่มีอันตรายถึงชีวิต หากเล่นผิดวิธีย่อมส่งผลกระทบด้านร่างกาย เพราะความร้อนของประทัดทำให้ผิวหนังไหม้ ไอระเหยสารเคมี ระคายเคืองผิวหนัง หู ตา จมูก ระบบทางเดินหายใจ อัมพาต อาจเสียชีวิตได้ ความดังทำให้หูตึง และแรงระเบิดทำให้อวัยวะฉีกขาด โดยวิธีป้องกันอันตรายจากประทัด ควรอ่านฉลากและตรวจสอบประทัดให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เก็บประทัดให้ห่างจากประกายไฟ สถานที่จุดต้องโล่ง ห่างจากถังแก๊ส บ้านเรือน ห้ามเด็กจุดประทัดเอง ห้ามดัดแปลงประทัดจุดห่างจากตัวประมาณ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน ห้ามจุดเล่นในมือ หรือโยนใส่กลุ่มคนเด็ดขาด แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการกดห้ามเลือด ใช้น้ำเปล่าล้างแผล หาผ้าสะอาดพันแผล และเรียกรถพยาบาล
ของเล่นมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ผู้ปกครองจึงควรเลือกของเล่นที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยพิจารณาจากวัสดุ อายุของเด็ก และความเหมาะสมกับวัย รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย โดยเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเด็กอายุ 0-1 ขวบ ควรเลือกของเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัส อายุ 1-3 ขวบ ควรเป็นของเล่นที่ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก อายุ 3 ขวบขึ้นไป ควรเป็นของเล่นที่ส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้ หรืออาจจะเริ่มต้นง่ายๆ จากการอ่านฉลากของเล่น เพื่อให้แน่ใจว่าของเล่นนั้นๆ เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ
ทั้งนี้ ของเล่นมักมีสีสันสดใส เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ ดังนั้นสีบนของเล่น จึงต้องเลือกที่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ และเหมาะสมกับการใช้งานของเด็ก หลีกเลี่ยงสีที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถ้าเด็กนําเข้าปาก บนของเล่นควร มีฉลากที่ระบุอายุจำกัดของผู้เล่น วิธีเล่น คำเตือน รวมถึงชื่อผู้ผลิต โรงงาน ผู้จัดจำหน่าย และเครื่องหมายการค้าอย่างชัดเจน และที่สำคัญคือ เลือกของเล่นที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งมีหลากหลาย อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) - เป็นมาตรฐานของประเทศไทย กําหนดคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของเล่นเด็ก ดังนั้นการเลือกของเล่นที่ดีและปลอดภัยจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา อีกทั้งยังสร้างความสุขและความปลอดภัยให้ลูกน้อย