“ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะมาก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการขยะ จึงมีการแยกขยะประเภทต่างๆ ซึ่งหลักการในการแยกขยะและการสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะ ประสบความสำเร็จมากในญี่ปุ่น แม้ว่าการทิ้งขยะจะมีความซับซ้อนและระเบียบมาก แต่คนญี่ปุ่นต่างมองว่าขยะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน”
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ค่อยมีการตั้งถังขยะให้เห็นทั่วไป เพราะคนญี่ปุ่นจะไม่มีการทิ้งขยะลงในถังขยะก่อนที่จะจัดการแยก เป็นสิ่งที่มีการยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการออกเป็นกฎระเบียบ ระบุบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แต่มากกว่ามาตรการบังคับ สิ่งที่ทำให้การจัดการขยะในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จนั้นมาจากการยึดถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมด้วยพื้นฐานของความมีวินัย
นอกจากมีการแยกขยะอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีการกำหนดวันเวลาที่รถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดด้วย โดยจะกำหนดไว้แน่นอนชัดเจนและตายตัวของแต่ละพื้นที่ สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่จะได้รับแจกตะกร้าพลาสติกสองใบ สีเขียวและฟ้า และคูปองขนาดโปสการ์ดหนึ่งใบ สำหรับไปแลกถุงขยะฟรีจากร้านค้าในบริเวณที่พักอาศัยของแต่ละบ้าน โปสการ์ดหนึ่งใบ แลกถุงขยะได้ 104 ถุง หากบ้านไหนมีขยะมากต้องหาซื้อถุงขยะมาเพิ่มเอง รถเก็บขยะในพื้นที่แต่ละพื้นที่จะมาเก็บตามวันตามเวลา ไม่มีล่าช้า ไม่มีวันหยุดพักผ่อน
“ญี่ปุ่นมีการระบุวัน หรือกำหนดการเก็บขยะในแต่ละวันชัดเจน เช่น วันนี้เก็บขยะพลาสติกและแก้ว หากมีผู้นำขยะมาทิ้งไม่ตรงวัน เจ้าหน้าที่จะไม่เก็บขยะเหล่านั้น และจะทำการสืบค้นต้นตอของขยะว่าใครคือเจ้าของ หรืออาจจะมีเพื่อนบ้านนำขยะไปคืนให้ที่หน้าบ้านหรือหน้าห้อง เมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่มาเก็บขยะก็จะเกิดความสกปรก เป็นการทำให้เจ้าของขยะนั้นเกิดจิตสำนึกด้วยตัวเอง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่มาจัดเวรยามให้กับชาวบ้าน เพื่อช่วยกันดูแลความสะอาด เป็นการทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในชุมชนอีกด้วย”
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการจัดเก็บขยะประเภทที่เจ้าของไม่ต้องการ หรือของเก่าคุณภาพดี เช่น เครื่องไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทเตาปิ้งขนมปัง วิทยุ เครื่องเสียงขนาดเล็ก พัดลม หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส รวมทั้งเครื่องเรือน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางของ วางหนังสือ ในวันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือนจะเป็นวันเก็บขยะใหญ่ และขยะเผาไม่ได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเรือนที่ยังมีสภาพดี จะถูกนำมาวางทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนวันเก็บขยะใหญ่ และคนที่อยากจะได้ของใช้จะมาเลือกขนเอาไปใช้ได้
การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสียสมดุลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาที่เราต้องหาทางฟื้นฟูและรักษาสิ่งที่มีให้ยังคงอยู่ เพื่อต่อชีวิตให้โลกและเพื่อมวลมนุษยชาติ เริ่มต้นที่การลดปริมาณขยะ โดยยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมการกำจัด เพื่อสร้างคุณค่าของขยะในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นของมีมูลค่าราคา ยกระดับขยะที่ไม่ใช่ขยะอีกต่อไป
อย่างเจ้าของกิจการผลิตกระเป๋าจากยางรถยนต์ หรือการนำยางในรถยนต์มาทำเป็นกระเป๋า เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เริ่มจากการนำเต้นท์พลาสติกเก่ามาทำกระเป๋าแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะลองเปลี่ยนมาใช้ยางรถเก่าในปัจจุบัน ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีใครนำยางรถยนต์มาทำกระเป๋า ทำให้ต้องลองผิดลองถูก เพื่อต้องการลดขยะบนโลกขณะเดียวกันอยากเพิ่มสิ่งแปลกใหม่ในวงการแฟชั่น
“กระเป๋าแต่ละใบเรียกได้ว่ามีใบเดียวบนโลก เพราะลายดอกยางที่ผ่านถนนมานานนับ 10 ปีแต่ละเส้น ทำให้ได้กระเป๋าที่มีลวดลายต่างกัน ดังนั้นกระเป๋าแต่ละใบจึงมีลายเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญยังได้ใช้กระเป๋าที่ทำจากยางรถเก่าย่อมมีความภาคภูมิใจเพราะมีส่วนช่วยลดขยะบนโลกได้อีกด้วย”
สำหรับวัตถุดิบยางรถยนต์เก่าทั้งหมด เจ้าของโรงงานบอกว่ามีการนำเข้ายางรถยนต์จากทั้งในประเทศญี่ปุ่นและเมืองไทย โดยเฉลี่ยใน 1 ปีใช้ยางรถยนต์เก่าประมาณ 3,000-4,000 เส้น เพื่อผลิตกระเป๋า ยาง 1 เส้นสามารถทำกระเป๋าได้ 4 ใบ เท่ากับว่าในหนึ่งปีมีกระเป๋าที่ผลิตได้จากยางรถเก่า 16,000 ใบ ทั้งนี้การผลิตกระเป๋าใช้ไนลอนผสมยางรถยนต์ เพราะหากใช้ยางทั้งใบจะมีน้ำหนักและราคาสูง จึงต้องมีการออกแบบดีไซน์ให้เหมาะกับการใช้งานจริง นอกจากกระเป๋า เศษยางในเหล่านี้ยังนำมาทำรองเท้า กระเป๋าเงินและสินค้าอื่นๆ ได้อีกด้วย กระเป๋าเหล่านี้จะถูกนำไปวางจำหน่ายที่ร้าน SEAL ในเมืองโตเกียว โอซาก้า และออนไลน์เท่านั้น อายุการใช้งานกระเป๋าถือว่าคุ้มค่าเพราะสามารถใช้งานได้นาน 5-10ปี
ด้าน อิริเอะ ฮิโยชิ ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดแยกขยะของบริษัทเดินรถไฟญี่ปุ่น (JR) เล่าถึงที่มาของการคัดแยกขยะว่า แต่ละวันที่โรงงานแยกขยะ บริษัทเจอาร์ จะมีการรับขยะจากเจอาร์พื้นที่ภาคตะวันออกทั้งขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา และรถไฟฟ้าความเร็วสูงชินคันเซน เพื่อนำมาคัดแยกขยะประเภทขวดกับกระป๋อง และขวดพลาสติก หากผู้โดยสารมีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางจากจุดตั้งถังขยะที่สถานีรถไฟ ก็จะสามารถลดแรงการคัดแยกของเจ้าพนักงานได้มาก ทั้งนี้ขวดพลาสติกและกระป๋องที่ผ่านการคัดแยกจะถูกนำไปอัดเป็นก้อนขนาดใหญ่ เพื่อส่งไปจัดเก็บรอการรีไซเคิลต่อไป ส่วนกระดาษที่ติดอยู่รอบขวด ตัวขวดและฝาซึ่งทำจากวัสดุเดียวกันจึงไม่ต้องคัดแยกอีก
สำหรับบริษัทเดินรถไฟญี่ปุ่น เริ่มมีการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ก็ยังมีผู้โดยสารไม่แยกประเภทขยะก่อนทิ้งตามถังที่จัดไว้ให้ ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งโรงงานคัดแยกขยะของบริษัทเจอาร์ขึ้นในปี 2554 ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งลำเลียงขยะมาที่นี่ ขยะประเภทหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร กระดาษเหล่านี้เมื่อผ่านการรีไซเคิลแล้วถูกนำมาเป็นกระดาษชำระ หรือการะดาษตั๋วรถไฟ รวมถึงเป็นชุดพนักงาน เพื่อให้เหลือขยะให้น้อยที่สุดสามารถวนกลับมาใช้ให้มากที่สุด แม้จะต้องลงทุนสูงแต่ก็ถือว่าคุ้มค่า ขยะที่ผ่านการรีไซเคิลและขายออกไปเป็นการดำเนินธุรกิจแบบเท่าทุน แต่ที่บริษัทยังทำอยู่เพราะเห็นถึงประโยชน์ของการลดปริมาณขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับโรงแรมนิวโอตานิ โตเกียว หนึ่งในโรงแรมที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปริมาณขยะจากเศษอาหาร โดยมีแผนกรับขยะอาหารจากทุกอย่างของโรงแรมเพื่อนำไปรีไซเคิลให้กลายเป็นปุ๋ย ที่นี่ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกในญี่ปุ่นที่ลงทุนสร้างเครื่องรีไซเคิลขยะอาหารด้วยงบลงทุนกว่า 110 ล้านเยน แต่ภายในระยะเวลา 3 ปี สามารถคืนทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ยามาโมโต้ มาซามิ เจ้าหน้าที่แผนกรีไซเคิลอาหาร โรงแรมนิวโอตานิ เล่าว่า จากเดิมที่โรงแรมต้องสูญเสียงบประมาณรายจ่ายเฉลี่ยปีละ 35 ล้านเยน ให้กับสำนักงานเขตเพื่อกำจัดขยะเศษอาหาร แต่เมื่อมีเครื่องรีไซเคิลเศษอาหาร ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และยังลดมลพิษจากการเผาไหม้ขยะอีกด้วย เพราะโรงแรมจะมีเศษขยะอาหารประมาณ 50 ถังต่อวัน เมื่อนำขยะอาหารเหล่านี้มาลงถังเพื่อทำให้ขยะแห้ง ก่อนจะนำมาเข้าเครื่องอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิสูงถึง 120 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อหรือสิ่งมีชีวิตจนกลายเป็นปุ๋ย ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำมาหมักใหม่ทิ้งไว้ประมาณ 4 วัน เพื่อเพิ่มสิ่งมีชีวิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ไร้สารเคมีปนเปื้อน
สำหรับปุ๋ยที่ผลิตได้โรงแรมนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกร เพื่อปลูกพืชผักแล้วนำกลับมาขายให้โรงแรม เป็นวัตถุดิบปลอดสารปรุงอาหารให้กับลูกค้า โดยแต่ละวันมีขยะอาหารส่งมาเฉลี่ย 4,000 กิโลกรัม ในหนึ่งปีโรงแรมสามารถผลิตปุ๋ยได้มากึง 356 ตัน ทั้งหมดคือตัวอย่างของคิดสร้างสรรค์การลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไร แต่ได้เข้าถึงหัวใจของการรักโลก และการมองการไกลเพื่อให้ขยะไม่ใช่ขยะ แต่กลายเป็นต้นทุนที่มีค่าให้กับผู้อื่นและสร้างวงจรอาหารที่ปลอดภัยให้กับมนุษย์
หมายเหตุ : ถอดความจาก รายการดูให้รู้ ตอน "ขยะมากคุณค่า" ออกอากาศทางช่อง ThaiPBS