“หลังสถานการณ์โควิด เมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ เด็ก ๆ กลับเข้าโรงเรียน การเปิดเทอมจึงทำให้ผู้ปกครองกังวล หลังโรคติดต่อในเด็กกลับมาระบาด เมื่อมีกิจกรรมการรวมกลุ่ม ดังนั้นการเว้นระยะห่างเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันการกระจายของฝอยละออง เพราะการติดเชื้อไวรัสสามารถติดต่อได้ทางการหายใจ รวมถึงการหมั่นล้างมือลดเชื้อโรคจากการสัมผัส ”
โรคระบาด คือ โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ขณะที่โรคคติดต่อ หมายถึงโรคที่สามารถแพร่กระจายจากบุคคลสู่บุคคลหรือจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ สาเหตุหลักอาจเกิดจากเชื้อโรค นอกจากนี้ สาเหตุของการเกิดโรคติดต่อสามารถแพร่กระจายได้ในระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสผิวหนังการรับประทานอาหาร หรือผ่านทางการสัมผัสโดยตรง เช่น การจับมือ การใช้อากาศร่วมกัน หรือการสัมผัสร่างกาย โรคติดต่อมีความหลากหลายและระยะเวลาที่ต่างกัน บางโรคอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคติดต่ออันตราย
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคระบาดที่ติดต่อได้ในเด็กเล็ก เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปกครอง เพราะภูมิต้านทานของเด็กยังไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่อยู่รอบตัวได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดเชื้อ และเป็นโรคที่มักจะพบได้บ่อย ๆ หรือระบาดตามฤดูกาล การติดเชื้อในเด็กเล็กไม่เพียงสร้างความวิตกกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ บางโรคหากดูแลรักษาไม่ทันอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการที่รู้เร็ว รักษาไว เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากโรคที่มักเกิดขึ้นกับเด็กจะเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงต่อชีวิตเด็กได้
“ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เด็กเล็กยังมีภูมิต้านทานไม่ดีนัก มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคระบาดในเด็กได้ง่าย และอาการป่วยของเด็กมักรุนแรงและเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในเด็กได้”
โรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังในเด็ก อาทิ โรคมือ เท้า ปาก ส่วนมากมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus (EV) แพร่เชื้อออกมาทางน้ำลายและอุจจาระผู้ป่วย หรือการรับเชื้อผ่านทางปาก จากการปนเปื้อนเชื้อที่มือ ของเล่น น้ำ อาหาร ระยะการแพร่เชื้อ 2-3 วัน หลังมีอาการจะพบเชื้อในอุจจาระหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน และหลังได้รับเชื้อ 3-6 วันจะปรากฏอาการ มีไข้, ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก อาการจะหายไปเอง ภายใน 7-10 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแทรกซ้อน ดังนั้นหากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์
ทั้งนี้ มีการรักษาตามอาการ เด็กบางคนมีแผลหลายแผลในปากรับประทานอาหารและน้ำได้ไม่เพียงพอ เด็กไม่ยอมกลืนน้ำลายและไม่ยอมให้ทำความสะอาดแผลในปากก็จะหายช้า หรือหากเป็นมากขึ้นอาจต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ส่วนการป้องกัน ไม่ควรสัมผัสใกล้ชิดเด็กที่ป่วย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และป้องกันการแพร่เชื้อโดยไม่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการรับประทานและดื่มน้ำร่วมกับผู้อื่น
โรคเฮอร์แปงไจนา เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มคอกซากีไวรัสกรุ๊ปเอ และเอ็นเทอร์โรไวรัส ติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และอุจจาระของคนที่มีเชื้อ มีอาการหลังได้รับเชื้อ 3– 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ1 – 2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้จะเป็นมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรง แต่อาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน
การรักษาเช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ทานยาพาราเซตามอลไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หรือยาต้านจุลชีพ หากพบอาการไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือไข้สูง รับประทานอาหารและดื่มนมไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลงและ ซึมลง ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ การป้องกัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่วิธีที่ดีที่สุด คือ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ระวังการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย หากเด็กป่วยให้งดไปโรงเรียน 7 วัน
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคภาวะติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี่ 1,2,3 และ 4 โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อสู่คนและทำให้เกิดอาการ ยุงลายนี้มักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ หรือหลุมที่มีน้ำขัง อาการที่สังเกตได้ คือ มีอาการไข้สูงลอยอย่างต่อเนื่อง 39-41 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2-7 วัน, หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา, เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา, มีเลือดออก เช่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และในรายที่อาการรุนแรงอาจพบว่ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
“การรักษา ไข้เลือดออก พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวทุก 10-15 นาที รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อครั้ง การป้องกันคือไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งยุงลายพาหะนำโรค ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันการวางไข่”
รศ.นพ.ชิษณุ กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วง เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเบื้องต้นท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เด็กจะมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดรีบพบแพทย์ทันที การรักษา โรคอุจจาระร่วง ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ด้วยวิธีรักษาตามอาการ หากเด็กกินไม่ได้ ต้องให้เกลือแร่ทดแทน รักษาอาการไข้โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ การป้องกัน หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือ กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และรับประทานอาหารที่ปรุง สุก ร้อน สะอาด
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เมื่อเด็กติดเชื้ออาจมีอาการไข้สูง ซึม ชักเกร็ง แขนขาอ่อน พ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกอาการได้ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์ เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคคัสแพร่กระจายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ฉะนั้นจึงควรเลี่ยงพาเด็กไปในที่แออัด หรือหากเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนเสริมภูมิต้านทาน โดยฉีดเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน และกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 12-15 เดือน ส่วนเด็กอายุ 1-5 ปีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ ให้ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยให้ฉีดสองครั้งห่างกันสองเดือน
เชื้อโนโรไวรัส เป็นสาเหตุของโรคระบาดในเด็กที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว มักมีอาการติดเชื้อ ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียนอย่างรุนแรง สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะโนโรไวรัส คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อน สามารถระบาดได้ง่าย ในเวลาอันรวดเร็ว การติดต่อ และแพร่กระจายของเชื้อสามารถติดต่อกันได้หลายทาง ทั้งการปนเปื้อนของเชื้อโนโรไวรัสในอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง อาการเมื่อติดเชื้อโนโรไวรัส ในช่วง 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้น
การรักษาตามอาการ หากอาการไม่รุนแรงให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ หากมีการอาเจียน ท้องเสียให้รับประทานอาหารอ่อน และให้ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้อาเจียน ในกรณีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจเกิดการช็อก ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ ต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
การป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำสะอาดก่อนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ล้างวัตถุดิบอาหารให้สะอาด ปรุงอาหารให้สุก และถูกสุขอนามัยก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด หลีกเลี่ยงการหยิบจับสิ่งของ และอาหารให้ผู้อื่น ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาตัวใดที่รักษาที่ป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้โดยเฉพาะ ดังนั้นบุคลากรในโรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก และครอบครัวที่มีลูกน้อยในวัยเด็ก จะต้องดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยให้เด็กในความดูแลของท่านห่างจากเชื้อโนโรไวรัสได้