ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการวางผังเมือง และมีการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติ ที่บอกเส้นทางการอพยพหนีภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม โดยแผนที่ภัยพิบัติที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องน้ำท่วม จะทำขึ้นโดยอิงจากสมมติฐานกรณีทำนบกั้นน้ำพังเสียหายหรือน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และในเมืองสำคัญมีการติดตั้งแผนที่ภัยพิบัติที่แยกต่างหาก เน้นเหตุน้ำท่วมที่เกิดจากการระบายน้ำไม่ทัน แผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมเมื่อการระบายน้ำหยุดชะงัก ตลอดจนพื้นที่อพยพหลบภัย และข้อมูลเตือนภัยอื่นๆ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องเผชิญฝนตกสูงอันดับ 3 ของโลก ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องวางแผนการระบายน้ำอย่างรอบคอบ การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญของประเทศญี่ปุ่น มีตัวอย่างการป้องกันอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งถูกจัดทำขึ้นหลังโตเกียวเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ผ่านภาพจำลองที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนเกิดความตระหนักว่าหากโตเกียวเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จะมีความรุนแรงเพียงใด สะท้อนให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีความระมัดระวังปัญหาน้ำท่วมเป็นอันดับต้นๆ
โตเกียว มีลักษณะทางกายภาพคล้ายแอ่งน้ำ เมื่อเกิดฝนตกจึงเป็นเหมือนพื้นที่รองรับน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมในเวลาอันรวดเร็ว ย้อนเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นในปี 1959 โตเกียวเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คนและมีผู้บาดเจ็บสูญหายอีกนับไม่ถ้วน หลังเหตุการณ์รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งเร่งสร้างคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยซ้ำรอย
พื้นที่คันกั้นน้ำขนาดใหญ่นี้แห่งนี้ เตรียมเป็นพื้นที่รองรับน้ำเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะมีความสูงเกินคันกั้นน้ำที่สร้างไว้กว่า 10 เมตร ตลอดแนวคันกั้นน้ำเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นไม้หรือสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น และสนามกีฬาที่เป็นประโยชน์ จนประชาชนไม่คิดว่านี่คือคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมเพราะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
คันกั้นน้ำภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า เทโบ คันกั้นน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า ซุปเปอร์เทโบ แม่น้ำเอโดะ เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงต้องสร้างคันกั้นน้ำที่มีความกว้างถึง 3 กิโลเมตร เพื่อความแข็งแรงและทนต่อแรงดันน้ำ นอกจากแม่น้ำสายหลัก ยังมีการสร้างคันกั้นน้ำตามแม่น้ำสายอื่นๆ ที่อยู่ในโตเกียว เช่น คลองโทโนะ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้ปริมาณมากในยามน้ำหลาก ป้องกันเมืองจากน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
มีการประเมินว่า พื้นที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมในเมืองมี 3 พื้นที่หลักคือพื้นที่ราบตามแนวแม่น้ำ พื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมในอดีต และชั้นใต้ดินรวมถึงที่จอดรถใต้ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ใต้ดิน มีความอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำที่ระบายไม่ทันจะไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วจนผู้คนอาจหลบหนีเอาตัวรอดไม่ทัน ยกตัวอย่างกรณีเหตุน้ำไหลบ่าตามบันไดลงชั้นใต้ดิน น้ำที่ลึกแค่ 50 เซนติเมตรแต่มีแรงดันน้ำมาก 100 กิโลกรัม จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินขึ้นบันไดสวนทางกับน้ำที่ไหลลงมา แม้ว่าระดับน้ำท่วมจะไม่สูงมากก็ตาม หลายเมืองในญี่ปุ่น จึงเลือกใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อปิดการจราจรในอุโมงค์และทางลอดเมื่อเกิดฝนตกหนัก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในอุโมงค์
เขตซูงินามิในกรุงโตเกียว มีการสร้างระบบระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ลึกลงไป 50 เมตร ป้องกันน้ำเข้าเมือง เป็นระบบระบายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มก่อสร้างปี 1993 และสร้างเสร็จปี 2006 รวมเวลาถึง 13 ปี ใช้งบประมาณ สองแสนสองหมื่นล้านเยน ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโทเนคาวะ แม่น้ำคุรามัสสุและแม่น้ำนากาคาวะ และมีความยาวจากแท้งค์ที่ 1-5 รวม 6.3 กิโลเมตร ที่นี่เปิดให้ประชาชนมาเที่ยวชมได้ เป็นกลุ่มมีนิทรรศการให้ความรู้ก่อนเข้าไปชมของจริงเพื่อเข้าใจภาพรวมโครงการ
ที่ตั้งของอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำคันดะ แม่น้ำสายหลักของกรุงโตเกียวและเคยไหลบ่าหลายครั้งในอดีต เมื่อแม่น้ำไหลแรงเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ อุโมงค์เก็บน้ำแห่งนี้จะทำหน้าที่กักเก็บน้ำและป้องกันความเสียหายบริเวณด้านบน โดยออกแบบมาให้กักเก็บน้ำได้เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร จำนวน 1,800 สระ นอกจากนี้ กรุงโตเกียวยังมีแผนติดตั้งอุปกรณ์ปิดกั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมในอุโมงค์รถไฟใต้ดิน โดยจะดำเนินการให้ได้ภายในปี 2040 และคาดว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างนี้ประมาณ30,000 ล้านเยน ขณะนี้การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วในบางพื้นที่
โดยสาเหตุที่ต้องมีการสร้างระบบระบายน้ำแบบยักษ์อยู่ใต้ถนน เนื่องจากแต่ละที่มีลักษณะเป็นแอ่งกักเก็บน้ำ เพื่อรักษาเมืองโตเกียว จึงต้องมีแผนเสริมคันกั้นน้ำให้แข็งแรงตลอดเวลา เช่นเดียวกับบ้านแต่ละหลังต้องมีการกักเก็บน้ำด้วยเช่นกัน ภาพจำลองที่เห็นอธิบายการทำงานระบบระบายน้ำใต้ดิน ทำหน้าที่รองรับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองโตเกียว เมื่อน้ำเต็มทั้ง 5 แท้งค์จะถูกสูบไปที่สถานีรวบรวมน้ำ และค่อยๆ ระบายน้ำลงแม่น้ำเอโดะงาวะต่อไป
ระบบระบายน้ำใต้ดินแห่งนี้ มีทางระบายน้ำขนาดใหญ่ลึกลงไปอีก 25 เมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ มากถึง 130,000 ลูกบาศก์เมตร หากรวมกับการระบายน้ำที่อุโมงค์จะสามารถรองรับน้ำได้ถึง 670,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจุดพักน้ำขนาดใหญ่มีเสาทั้งหมด 59 ต้น น้ำหนักต้นละ 500 ตัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ใต้ดิน น้ำพร้อมจะดันตัวขึ้น เสาขนาดใหญ่จึงต้องทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แรงดันน้ำ ไม่ให้น้ำทะลักขึ้นผิวดิน พื้นที่เก็บน้ำที่ 1 มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 30 เมตร ลึก 70 เมตร
หมายเหตุ : ถอดความจากรายการดูให้รู้ ตอน การบริหารจัดการน้ำแบบญี่ปุ่น