จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสถิติสมอง (Statistic Brain Research Institute) ในปี 2560 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกัน กว่า 1,273 คน มีเพียง 9.2% เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองสามารถบรรลุปณิธานปีใหม่ 48% รู้สึกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในขณะที่มากกว่า 42% ยอมรับว่าไม่เคยบรรลุปณิธานในแต่ละปีเลย และมีแนวโน้มจะล้มเลิกเป้าหมายตั้งแต่ 2 เดือนแรก !
โดยเป้าหมายอันดับต้น ๆ ของใครหลายคนก็หนีไม่พ้นการลุกมาออกกำลังกาย รองลงมาคือเป้าหมายทางการเงิน หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ การท่องเที่ยว และการศึกษาตามลำดับ
แต่เพราะเหตุใดปณิธานปีใหม่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ? เทอร์รี่ บลาย (Terri Bly) นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวไว้ว่า หลายครั้งที่เป้าหมายของเราไม่เป็นไปตามที่หวังนั้น มักเกิดจากการ "ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไปและคาดหวังว่าต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระยะเวลาอันสั้น"
เทอร์รี่ กล่าวต่อว่า "ผู้คนมักตั้งปณิธานปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งอาจจะทำได้จริง แต่กว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นต้องใช้เวลานาน และอาจจะต้องผ่านขั้นตอนถึง 30 ขั้นตอน กว่าจะสำเร็จ ซึ่งเมื่อเป้าหมายใหญ่เกินไป และเมื่อพยายามแล้วแต่ไม่เห็นผลลัพธ์อย่างก้าวกระโดด เราจะรู้สึกว่าความสำเร็จนั้นช่างไกลเกินเอื้อม เป็นเหตุผลว่าทำไมใครหลายคนรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จนล้มเลิกไปง่าย ๆ" เธอกล่าว
แน่นอนว่าการตั้งปณิธานปีใหม่ทุก ๆ ปี ย่อมเป็นสัญญาณการเริ่มต้นใหม่ที่ดี เพราะทำให้เราได้หยุดคิด ทบทวน วางแผนอนาคต และช่วยให้มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองต่อไป
แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดการตั้งปณิธานปีใหม่ที่ "ตึง" เกินไป อย่างการบอกตัวเองว่า "ต้อง" ทำอะไรใหม่ ๆ ให้สำเร็จภายในสิ้นปี ภายใต้แรงกดดันทั้งจากตัวเอง และภายนอกที่คาดหวังให้เราต้องประสบความสำเร็จ ห้ามล้มเหลว และยังไม่รวมกับปัญหาชีวิตมากมายที่เจอในแต่ละวัน
การตั้งปณิธานปีใหม่ก็อาจกลายเป็นเรื่องน่ากดดันและสร้างความเครียดให้เราได้ไม่น้อย หรือที่เรียกว่า ความกดดันจากปณิธานปีใหม่ (New year's resolution pressure) คือความรู้สึกกังวลหรือเครียดที่เกิดจากเป้าหมายหรือปณิธานในช่วงต้นปี ส่งผลให้รู้สึกว่าต้องทำตามเป้าหมายนั้นให้ได้โดยเร็วที่สุด มักจะมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูง หรือเกิดเป็นความรู้สึกผิดหวังที่ตนไม่สามารถเป็นคนอย่างที่คาดหวังไว้
นอกจากนี้ ปณิธานปีใหม่อาจกลายเป็นปัญหา หากเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ไม่สมเหตุสมผล หรือเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ร่างกายของตัวเอง เช่น ฉันต้องลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม ภายในหนึ่งเดือน, ฉันต้องขาว สวย เหมือนเน็ตไอดอลใน Tik-Tok ฯลฯ ซึ่งไม่เพียงสร้างความกดดันเกินจำเป็นแล้ว ยังนำไปสู่การคิดลบต่อตัวเอง และการเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลง จากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ
แล้วต้องแก้อย่างไรล่ะ ?
เราคงได้ยินกันบ่อย ๆ กับปณิธานต้อนรับปีใหม่อย่าง New years, New me หรือ 'ปีใหม่ ตัวฉันคนใหม่ สำหรับบางคนอาจเป็นคำที่สร้างกำลังใจให้ลุกขึ้นมาเริ่มทำสิ่งใหม่ แต่สำหรับบางคนอาจกลายเป็นแรงกดดันที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็ว
แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของนวนิยายขายดีอย่าง 'มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน' (The Midnight Library) ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปีใหม่นี้สักเท่าไหร่
เฮก ได้โพสต์ลงบน Instagram ส่วนตัวว่า "คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องถูกแทนที่ใหม่ทุกปี เหมือนไอโฟนรุ่นใหม่ อย่าทิ้งขว้างตัวเองเหมือนกับขยะพลาสติกชิ้นหนึ่ง รักตัวเองแบบเดิม ปรับปรุง พัฒนา ทำให้ดีขึ้น แต่จงมุ่งหน้าเข้าหาตัวเอง และอ่อนโยนกับจิตใจของคุณ"
เฮก ยังกล่าวไว้อีกว่า "ยังคงมีพื้นที่ให้เราปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ในความเป็นจริง บทเรียนที่สำคัญที่สุดก็มาจากความผิดพลาดที่เราเคยเผชิญในอดีต ดังนั้น การละทิ้งสิ่งเหล่านั้น และแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอยู่จริง อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้" เฮกกล่าว
แสดงให้เห็นว่า การตั้งปณิธานปีใหม่ล้วนเป็นความชอบส่วนบุคคล แต่สิ่งสำคัญคือเป้าหมายควรเป็นแค่แรงบันดาลใจ ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือตำหนิตัวเองหรือสร้างความกดดันเพิ่มให้ตัวเอง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าหากไม่ตั้งปณิธานปีใหม่ มีอะไรที่เราทำได้บ้าง ? ด้าน แคธี่ มาดาวัน (Cathy Madavan) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Why Less Means More : Making space for what matters most ให้คำแนะนำไว้กับสำนักข่าว BBC UK ว่า "แทนที่จะแสวงหาทำสิ่งใหม่ การลดหรือละทิ้งนิสัยหรือพฤติกรรมเก่า ๆ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน"
แคธี่ยัง กล่าวต่อว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ หากทำเป็นประจำจะเป็นการกระตุ้นให้อยากทำสิ่งอื่น ๆ ที่ดีขึ้นได้ เราสามารถเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้ทันที เช่น แทนการตั้งเป้าหมายว่าวันนี้จะเริ่มออกกำลังกาย อาจเริ่มจากการลดการทานอาหารขยะ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย หรือเรียนรู้ที่จะปฏิเสธหรือลดปริมาณงานลง เพื่อไม่ให้กระทบสุขภาพ
และอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการใช้ วลีสั้น ๆ ที่ใช้กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม (Nudg Word) แทนการตั้งปณิธานตรง ๆ
ข้อมูลจากวารสารทางการพยาบาล American Nurse Journal แนะนำว่า อาจใช้ "คำกระตุ้น" คือคำหรือวลีสั้น ๆ ที่ใช้กระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรมที่ต้องการ แทนการตั้งปณิธานตรง ๆ เช่น แทนที่จะตั้งปณิธานว่า "ฉันจะออกกำลังกายทุกวัน" อาจใช้คำกระตุ้นว่า "แอคทีฟทุกวัน" หรือ "ขยับตัว" หรือ แทนที่จะตั้งปณิธานว่า "ปีนี้ฉันจะกินอาหารสุขภาพ" อาจใช้คำกระตุ้นในตอนที่ต้องเลือกซื้ออาหารทุกครั้งว่า "กินผักเยอะ ๆ" หรือ "เลือกเมนูดี ๆ"
อย่างไรก็ตาม การตั้งปณิธานปีใหม่เป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล บางคนอาจชอบตั้งเป้าหมายใหญ่เพื่อเป็นแรงผลักดันตัวเอง แต่บางคนอาจอาจสบายใจกว่าหากเริ่มปรับเปลี่ยนทีละนิด ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการหาจุดสมดุล ที่ไม่ทำให้เรารู้สึกกดดันหรือเครียดจนเกินไป
ที่มา: