ปัจจุบัน ประชาชนนิยมสัญจรทางน้ำ หรือใช้การขนส่งทางเรือมากขึ้น เพราะความสะดวกรวดเร็ว การเดินทางโดยเรือต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปเพื่อทำงานประกอบอาชีพ การติดต่อธุรกิจ หรือการพักผ่อนหย่อนใจ อุบัติเหตุจาการจราจรทางน้ำอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากขาดความระมัดระวัง ลักษณะของอุบัติเหตุทางน้ำ อาทิ เรือล่ม เนื่องจากบรรทุกคนหรือสิ่งของมากเกินไป เรือถูกคลื่นหรือพายุถูกทุ่นระเบิด เรือรั่วหรือชำรุด เรือชนเรือด้วยกัน เช่นเรือใหญ่ชนกันแล้วแล่นทับเรือเล็ก เรือชนกันขณะเลี้ยวคุ้งน้ำ และเรือชนสิ่งกีดขวางใต้น้ำ เช่น ชนหินโสโครก ชนตอไม้ ต้นไม้ แพ ท่าเรือ หรือชนสะพาน เป็นต้น
วิธีการขึ้นและลงเรือ ผู้โดยสารควรรอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย ก่อนขึ้นหรือลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ห้ามกระโดดขึ้นหรือลงเรืออย่างเด็ดขาด เพราะอาจก้าวเท้าพลาด หรือลื่นล้มพลัดตกน้ำได้ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วให้ทยอยกันขึ้น อย่าลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เรือรับน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ส่งผลให้เรือพลิกคว่ำได้ หากเรือมีคนจำนวนมากหรือน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กำหนดแล้ว ควรใช้บริการเรือลำอื่นแทน
การโดยสารเรือ เมื่อลงเรือแล้วให้เข้าไปนั่งประจำที่ในตัวเรือ ไม่เปลี่ยนที่นั่งไปมา กระจายการนั่งให้เรือเกิดความสมดุล โดยคำนึงถึงการทรงตัวของเรือเป็นหลัก ไม่ยืนบริเวณท้ายเรือ ไม่นั่งบนกราบเรือหรือหลังคาเรือ และไม่นั่งรวมกลุ่มหรือหยอกล้อเล่นกันบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของเรือ เพื่อป้องกันเรือล่มหรือพลัดตกน้ำ
กรณีโดยสารเรือขนาดเล็ก ไม่ควรขยับตัวหรือเปลี่ยนที่นั่งบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้เรือเสียสมดุลและเสี่ยงต่อการล่มได้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา ถอดออกได้ง่าย หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือชนิดผูกเชือก หากจำเป็นต้องลงเรือ ควรแก้เชือกรองเท้าให้หลวม หรือถอดรองเท้าออกก่อน ที่สำคัญ ควรสวมเสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลาที่โดยสารเรือจนถึงที่หมายค่อยถอดเสื้อชูชีพออก แม้จะว่ายน้ำเป็นก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถลอยตัวรอการช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะโดยสารเรือ เพราะจะทำให้ขาดสติ หากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีโดยสารเรืออย่างปลอดภัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ
ข้อควรปฏิบัติเมื่อประสบอุบัติเหตุเรือล่ม ควรตั้งสติ และทำจิตใจให้สงบ ไม่ตื่นเต้น ตกใจจนเกินไป ถอดเสือผ้า หรือเครื่องนุ่งห่มที่ทำให้ไม่สะดวกในการว่ายน้ำออกให้หมด เก็บสิ่งของ หรือของมีค่าที่สำคัญจริงๆ ไว้ติดตัวไปด้วยเท่านั้น ผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือว่ายน้ำไม่แข็ง ต้องพยายามหาสิ่งของลอยได้ไว้เกาะพยุงตัว เช่น เบาะ หรือพนักรองนั่ง ลูกมะพร้าว ห่วงชูชีพ กระเป๋าเสื้อผ้าที่ทำด้วยหนัง หรือพลาสติก และต้องบอกผู้อื่น ให้ทราบด้วยว่าตนว่ายน้ำไม่เป็น
ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุในการจราจรทางน้ำ อาจเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุตัวบุคคล มักเกิดจากผู้ขับเรือ และผู้โดยสาร ขาดความรู้ความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญในการขับเรือ และสาเหตุจากสภาพแวดล้อม อาทิ สภาพเรือชำรุดทรุดโทรม เรือรั่ว เรือที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่มีการตรวจสอบสภาพของเรือ หรือเครื่องจักรกลที่ใช้งานไม่ได้ ย่อมมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เสมอ สภาพดินฟ้าอากาศเกิดภัยธรรมชาติ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สภาพของแม่น้ำลำคลอง ทะเล ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง รวมถึงการบรรทุกคนโดยสาร หรือสิ่งของที่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามกฎเกณฑ์ ย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
ส่วนวิธีช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุทางเรือที่ถูกต้องและปลอดภัย ด้วย 4 หลักปฏิบัติคือ ตะโกน โยน ยื่น ลาก ผู้ช่วยเหลือต้องตะโกนขอความช่วยเหลือและตะโกนบอกให้คนตกน้ำมีสติ จากนั้นโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ หรือยื่นอุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัวให้จับ เช่น ท่อ PVC เข็มขัด ท่อนไม้ ก่อนจะลาก หรือดึงเชือกผูกอุปกรณ์กับคนตกน้ำเข้าฝั่ง
วิธีการที่เอาชีวิตรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้องคือ การลอยตัวอยู่นิ่งๆ เป็นแบบนอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำหายใจได้ก็จะไม่จมน้ำ โดยการลอยตัว มี 3 แบบ ได้แก่ ท่าแรกคือการลอยตัวแบบคว่ำ เรียกว่าท่าปลาดาวหรือท่าแมงกะพรุน กางมือออก 2 ข้าง ตามด้วยเอนหลัง หลังจากนั้นปล่อยขาข้างลอยน้ำ เอาขาข้างที่ถนัดยืนพื้นไว้ก่อน แล้วปล่อยข้างที่ไม่ถนัดลอยน้ำขึ้นมา ค่อยๆ ปล่อยขาขึ้นให้ลอยทั้ง 2 ขา กางขาออกทำท่าคล้ายปลาดาว เลี้ยงตัวให้ลอยอยู่บนน้ำได้โดยการควบคุมลมหายใจ
ท่าต่อมาคือ การลอยคอหรือลอยตัวแบบลูกหมาตกน้ำ ท่านี้จะช่วยให้มองเห็นทิศทางและสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว ท่านี้ลำตัวอยู่ในแนวตั้งตรงหรือเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ศีรษะตั้ง ปากและจมูกพ้นระดับน้ำเพื่อหายใจ มือทั้งสองสลับกันพุ้ยน้ำลงข้างล่าง ฝ่าเท้าและขาถีบน้ำสลับกันแบบขี่จักรยานหรืออาจใช้วิธีเตะเท้าสลับกัน แต่เปลี่ยนทิศทางผลักดันให้น้ำลงไปด้านล่างเพื่อดันให้ร่างกายลอยขึ้นมา ท่านี้เปลืองแรงเหนื่อยง่าย แต่ทำได้ง่ายในคนที่ว่ายน้ำไม่แข็ง เพราะมีความกลัวเป็นแรงกระตุ้นให้ตีน้ำได้ไว
การลอยตัวแบบนอนหงาย หรือท่าแม่ชีลอยน้ำ คล้ายการนอนหงายอยู่บนที่นอน ลำตัวต้องเหยียดตรง เงยหน้า แขนแนบอยู่ข้างลำตัว ขาเหยียดตรง การที่เราลอยตัวแบบนอนหงายได้นั้นเป็นไปตามกฎของอาร์คิมิดิสและการแผ่กระจายน้ำหนัก แต่ถ้าทำได้แล้วจะใช้แรงน้อยที่สุดและทำให้ไม่เหนื่อย ทรงตัวรอการช่วยเหลือได้นาน