ช่วงหลังสามยามคือเวลาที่เราชอบที่สุด มันดึกเกินที่คนทั่วไปจะยังตื่นอยู่ แต่ก็ยังไม่เช้าพอที่นกกาหมาแมวจะเริ่มต้นวันใหม่ รู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องแบ่งใคร เป็นช่วงเวลาที่เราได้มาครอบครองไว้คนเดียว
ป่านนี้แล้ว ตัวเราคนที่มีวินัย ถ้าไม่ได้เปิดแอป clubhouse คุยเล่นอยู่กับคนไทยในไทม์โซนโลกตะวันตก ก็คงนอนเล่นเกมมือถือพร้อมกันกับการตะลุยดูซีรีส์ยาว ๆ ไปทั้งซีซั่นแบบติดหนึบ
เพราะใช้ชีวิตฟรีแลนซ์เต็มสูบมาตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้เราเคยชินกับการนอนและตื่นไม่ตรงกับกิจวัตรของคนส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว แทนที่จะกลางคืนจะทำให้เราง่วง ความเงียบสงัดกลางดึกแบบนี้กลับทำให้ตาสว่างปิ๊ง ๆ
ไม่ใช่เพราะดราม่าในเน็ตกำลังเดือดได้ที่ ไม่ใช่เพราะซีรีส์สยองขวัญที่ดูค้างอยู่กำลังจะถึงจุดไคลแม็กซ์
เข็มวินาทีที่เดินด้วยความเร็วหกสิบก้าวต่อหนึ่งรอบหน้าปัดเท่ากันทุกวัน ในชั่วโมงนี้เหมือนมันจะตั้งใจเดินย่ำเท้าให้ดังขึ้นกว่าเดิม ...ติ๊ก ต่อก ติ๊ก ต่อก อย่างกับระเบิดเวลา ถ้าเป็นไปได้นาฬิกาบนผนังห้องเราตอนนี้น่าจะโรยตัวลงมาจากกำแพง เดินไล่หลังมาสะกิดบอกเรายิกๆ แล้วว่า “เดี๋ยวจะเช้าแล้วนะโว้ย!”
ตัวเราในโลกจริงเงยหน้ามองนาฬิกากรอบสีแดง มันยังแขวนอยู่ที่เดิมไม่ได้ย้ายไปไหน กระพริบตาถี่ ๆ สองสามครั้งพยายามไม่สนใจว่านี่มันกี่โมงกี่ยาม เรียกตัวเองให้กลับมาโฟกัสกับแล็ปท็อปที่เปิดโปรแกรมเวิร์ดค้างไว้ ตอนนี้ยังไม่มีตัวหนังสือใด ๆ นอกจากเคอร์เซอร์ที่กระพริบคร่อมจังหวะอยู่บนหน้าจอโล่งโจ้ง
เราเหลือบตามองไปที่ม่านหน้าต่าง ข้างนอกยังมืดสนิท... คิดปลอบใจตัวเองบอกว่า ไม่เป็นไร ๆ ถ้าฟ้ายังไม่สางก็ถือว่ายังไม่เข้าวันใหม่ ยิ่งช่วงนี้เข้าปลายปีแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นช้ากว่าเดิมอีก สูดลมหายใจเข้าปอดแรง ๆ ทำหน้าเข็มแข็งขึ้นมาหนึ่งฮึบ! ต้นฉบับหนึ่งบทกับเวลาที่ยังมี เราทำได้! นี่ถ้าเริ่มเขียนตั้งแต่ต้นสัปดาห์นะ ป่านนี้ส่งอีเมล์ปิดจ๊อบ ไปนอนไถฟีดทวิตเตอร์สบายใจเฉิบแล้ว! (คอตก... เอาหัวโขกคีย์บอร์ดทำโทษตัวเอง ปัก ๆ)
งานประจำที่เราทำอยู่ปัจจุบัน คือการจัดรายการวิทยุยามค่ำ เราเริ่มต้นวันตอนบ่าย ๆ ทำโน่นทำนี่อยู่บ้านจนเย็นค่อยขับรถออกไปทำงานสวนทางกับคนอื่นที่กำลังกลับบ้านอย่างไม่ต้องรีบเร่ง ถึงแม้จะจบวันช้ากว่าคนอื่น แต่ก็ย่ามใจนั่นแหละ คิดว่าได้ทำงานถูกจริตกับตัวเองที่ไม่ชอบตื่นเช้านี่มันเยี่ยมไปเลย!
แต่ในความเป็นจริง งานที่ไม่ประจำแต่ทำเงินเราก็อยากรับ พอรวมกับธุระปะปังอื่น ๆ ที่ยังต้องอยู่ในช่วงเวลากลางวันเหมือนคนทั่วไป ผลลัพธ์ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ผู้ล้มเหลวในการจัดสรรเวลานอนไปในที่สุด
สมัยสาว ๆ เนี่ยถ้าอดนอนจนเหนื่อยยังไงก็หลับ แถมนอนได้นอนดีนอนยาวกันข้ามวันไม่มีปัญหา จะยอมลุกจากเตียงก็เพราะหิวข้าวเท่านั้นแหละ
แต่ถ้าคุณสะสมกิจวัตรเบี้ยว ๆ แบบนั้นมาเกินสิบปี บวกกับสังขารที่กร่อนไปตามเลขสามที่นำหน้าอายุ ยังไงก็ไปถึงจุดพังจนได้ จากที่เคยเป็นคนนอนง่ายตื่นไหว เรากลายเป็นมนุษย์ตาค้าง นอนไม่พอ วันที่มีเวลานอนพอก็ดันตื่นหลังจากหลับไปได้ไม่กี่ชั่วโมง เพราะไม่เคยได้ฝึกร่างกายให้รู้จักการนอนที่ดีตามเวลาท้องถิ่น จะฝืนกายหยาบต่อไปก็ไม่ค่อยไหว จนต้องหันมาพึ่งพาสารพัดตัวช่วยให้เราหลับลงได้ตามใบสั่งแพทย์
ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในทีมนอนไม่หลับเราน่าจะเห็นตรงกันว่า คนที่ทิ้งตัวลงจมหมอนแล้วหลับผล็อยได้ทุกที่อย่างโนบิตะนี่ช่างน่าอิจฉา
ติ๊ก ต่อก ติ๊ก ต่อก... จิ๊บ ๆ จั๊บ ๆ เอกอี๊เอ้กเอ้ก กรู้ว... นกตื่นแล้ว
“นกตื่นเช้าคือนกที่ได้กินหนอนตัวอ้วน” ไม่แน่ใจว่าแปลจากประโยคดั้งเดิมมาเป็นภาษาไทยแบบเป๊ะ ๆ เขียนอย่างไร แต่รู้ว่านี่คือแคปชันส่งเสริมกำลังใจให้เหล่ามนุษย์โปรดักทีฟ รีบเข้านอนแต่หัวค่ำนะพวกเรา จะได้ตื่นแต่เช้า ใช้เวลาคุ้มค่า ผลิตงานคุณภาพ เย่!
จะว่าไป... พยายามนึกประโยคต้นฉบับภาษาอังกฤษก็นึกไม่ออกแฮะ พักหลังๆ ความจำไม่ค่อยดี สมาธิก็ไม่ค่อยยาว คิดงานอะไรก็ไม่ค่อยลื่น ใจลอยเรื่อยเลยน้าเรา ว้า... แย่จัง ครุคริ (ทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่าง)
เฮ่ย! เช้าแล้ว!! เฮ่ย! เลยเดดไลน์ส่งงานมากี่ชั่วโมงแล้วเนี่ย? เขียนอะไรยืดยาวเป็นไดอารี่ตัวเองเลยเนี่ย?! สรุปตอนแรกจะเขียนบทความเรื่องอะไรวะเฮ่ย?! ก็โน้ตเอาไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกแล้วไงว่าจะพูดถึง “headspace” อะเฮ่ย!
พอ! หยุดขายขำได้แล้ว เฮ้ย!
ขออภัยและขอบคุณทุกท่านที่ยังตามอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ โดยไม่กดปิดบทความไปก่อนนะคะ เพียงอยากจะเล่าสู่กันฟังว่าการเป็นสมาชิก insomnia club นั้นไม่สนุกอย่างมุขที่พยายามแถเล่นมาเมื่อย่อหน้าที่แล้ว แต่เป็นความสะลึมสะลืออันแสนทรมาน จะนอนก็ไม่หลับ จะทำงานก็ไม่เสร็จ
เราคิดว่าความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการพักผ่อนให้เพียงพอนั้นอยู่ห่างเพียงแค่การค้นหาในกูเกิลเพียงครั้งเดียว คงไม่ต้องเกริ่นนำซ้ำให้ยืดยาว
เช่นเดียวกับสารคดีชุด headspace ที่เป็นส่วนเพิ่มเติมจากแอปพลิเคชันช่วยผ่อนคลายในชื่อเดียวกันนี้ ที่สื่อสารเรื่องความสำคัญของการหลับอย่างเข้าใจง่ายผ่านแอนิเมชันโทนสบายตา แต่ละตอนมีเนื้อหาไม่เกิน 10 นาที ไฮไลต์จริง ๆ อยู่ที่ครึ่งหลังของทุกตอน ที่เป็นแบบฝึกหัดนุ่มฟูจัดแจงให้คุณเข้าสู่การหลับใหลอย่างอ่อนโยน
เราคงไม่อาจการรันตีกับคุณได้ว่าคุณจะหลุดพ้นจากอาการนอนไม่หลับอย่างชะงัดหลังจากชมสารคดีนี้จนจบครบทุกตอน เราในฐานะคนหลับยากคนหนึ่ง บอกได้เพียงผู้ผลิตงานชุดนี้บรรลุเป้าหมายสำคัญที่ไม่ใช่จะสารคดีอื่น ๆ จะทำได้ดีเท่า นั่นคือ
headspace – สารคดีที่คาดหวังให้คุณหลับไป ก่อนจะดูจบตอน
ไปทดลองให้ headspace กล่อมคุณ
หรือชม trailer
นอกจากสารคดี headspace ชุด Guide to Sleep แล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสมาธิอย่างง่ายในชุด Guide to Meditation และสารคดีในรูปแบบ interactive ชื่อ headspace – Unwind Your Mind อีกด้วย
สามารถรับชมสารคดีทั้งหมดได้ทาง NETFLIX ค่ะ