ถ้าคุณต้องปั้นงานเซรามิกขึ้นมาสักชิ้น ด้วยบุคลิกและประสบการณ์ชีวิตของคุณแล้ว คุณจะปั้นชิ้นงานออกมาในรูปแบบไหน เนี้ยบทุกกระเบียดนิ้วชนิดหาที่ติไม่เจอ หรือจะเป็นงานดินผิวขรุขระ บิด ๆ เบี้ยว ๆ ในแบบวาบิซาบิ ที่ซ่อนไว้ด้วยความทรงจำของชีวิต กลับมานั่งมองทีไร ก็ชวนให้ตั้งคำถามกับตัวเองต่อความหมายในการมีชีวิตอยู่
โม วรมา อำไพรัตน์ เจ้าของแบรนด์เซรามิก mamoandthings เล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำงานปั้นเซรามิกแบบเต็มตัว เธอเคยทำงานที่บริษัทเอเจนซี่มาก่อน
สมัยนั้น เธอมีโอกาสได้วาดภาพประกอบให้กับแบรนด์สินค้าเจ้าใหญ่หลาย ๆ แบรนด์ ด้วยเอกลักษณ์ในงานภาพประกอบของเธอที่มักจะมากับคาแรกเตอร์การ์ตูน เข้าถึงง่าย เป็นมิตร เลยทำให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มลูกค้า เกิดการจ้างงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่ง งานก็เริ่มล้มมือ โมจึงมองหารูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิตที่จะทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างเวลาส่วนตัวกับเวลางาน
โมตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาทำอาชีพนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์แบบเต็มตัว ส่วนประตูบานน้อย ๆ ที่เปิดแง้มพาเธอไปสู่การทำงานเซรามิกเริ่มขึ้นเมื่อสี่ปีก่อน จากนิทรรศการศิลปะที่ชื่อ Miss Candyheart ที่เธอทำร่วมกับเพื่อนนักกวี
“มันเป็นนิทรรศการที่ทำร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อคุณ วิน นิมมานวรวุฒิ ค่ะ เราต้องทำภาพประกอบให้กับงานนี้โดยใช้แรงบันดาลใจจากบทกวีที่เขาเลือกมาอ่านในงาน เราใช้วิธีวาดภาพใส่เฟรม ติดตั้งในรูปแบบของInstallation โดยมีการผสมงานปั้นนูนต่ำที่เป็นรูปทรงคาแรกเตอร์เข้าไป เลยพบว่า เออนะ งานปั้นมันทำให้ภาพประกอบของเรามีความน่าสนใจขึ้น”
สิ่งที่ยากที่สุดของทุกเรื่องในชีวิตคือการเริ่มต้น แต่พอได้เริ่มแล้ว ความอยากในการทดลองก็จะประดังเข้ามา โมไม่เคยปั้นงานเซรามิกมาก่อนเลย เธอหาวิธีศึกษาด้วยตัวเองจากการไปเรียนปั้นดินที่สถาบันเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบวกกับการเข้าเวิร์กช็อปในเรื่องของสีธรรมชาติ
‘ไม่เคย’ ไม่ได้แปลว่า ทำไม่ได้
“ฟีดแบ็กจากงานเอ็กซิบิชันในตอนนั้น ผลตอบรับดีมากเลยค่ะ แต่ความย้อนแย้งคือเรากลับมีความรู้สึก lost ผุดขึ้นมา พอตั้งสติทำความเข้าใจตัวเอง ก็พบว่า อ้อ ไอ้ความ lost นี้มันเกิดมาจากพอเราทำงานถึงจุดที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยทำมาแล้ว มันก็จะเกิดความสงสัยในตัวเองว่างานชิ้นต่อ ๆ ไปเราจะ success ได้เท่านี้ไหมนะ หรือนี่คือสุดทางแล้ว เราเริ่มสับสนว่าเราจะทำอะไรต่อ เกิดอาการ Depress วาดรูปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็วาดมาตั้งแต่เด็ก เริ่มไม่ชอบงานตัวเองแบบที่เคยชอบ เราเลยพยายามเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองด้วยการไป Explore เรื่องอื่น ๆ ไปเรียนทำสีธรรมชาติจากดิน จากหิน จากใบไม้ ไปร่วม Conference กับกลุ่มผู้ที่สนใจศาสตร์ของสีธรรมชาติ เป็นสังคมเล็ก ๆ ของการแชร์ข้อมูลกัน”
และนี่ละค่ะคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โมค้นพบทางของตัวเองแล้ว
มันคือเส้นทางธรรมชาติที่ก่อเกิดจากความสับสนในจิตใจโดยปล่อยให้ความคิดฟุ้งในอากาศเป็นตัวนำทาง และต้องหาหนทางเพื่อพาตัวเองที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์กลับคืนมาให้ได้
“เราพบว่าการได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติทำให้เราสงบขึ้น แรงบันดาลใจที่อยากจะทำงานศิลปะมันกลับมาอีกครั้ง เราอยากปั้นจานสีใบแรกของตัวเอง นั่งหาข้อมูล จนได้ไปเรียนปั้นที่ atpotterhouse ซึ่งสอนโดย อ.กรกช สุขทรัพย์วศิน”
การไปเรียนปั้นดินที่สตูดิโอสอนศิลปะเด็กนำมาซึ่งจานสีใบแรกของโม กับความลงตัวในรูปทรงของจานใส่สีที่บิด ๆ เบี้ยว ๆ ต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์งานในรูปแบบของของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้าน โมว่า แรงบันดาลใจของการปั้นงานลักษณะนี้ เธอได้มาจากการนั่งมองงานศิลปะเด็กที่ ‘ความสวย’ ไม่มีนิยามตายตัว แต่ความหมายของงานปั้นที่น่าสนใจคืองานที่เห็นแล้วได้ความรู้สึกต่างหาก
อยากให้คุณได้ ‘รู้สึก’ และรู้จักกับงานสบายตาของโมที่อินสตาแกรม mamoandthings โดยเฉพาะงานแจกันรองเท้าบู๊ท โอ๊ย เห็นแล้วรักเลย