ในช่วงสองปีที่ผ่านมา วงการบันเทิงสัญชาติเกาหลี ได้กลายเป็นกระแสแผ่กว้างระดับโลก ภาพยนตร์ Parasite ของผู้กำกับบงจุนโฮก้าวขึ้นเวทีออสการ์ไปคว้าหลายรางวัลรวมถึงรางวัลใหญ่ของงานอย่าง Best picture ของปี 2020
ข่าวที่ทำให้คนไทยอย่างเราได้ดีใจไปด้วยก็มี กับความสำเร็จของ Lisa จาก Blackpink ที่ผลงานเดี่ยวของเธอทุบสถิติ Guinness World Records ทันทีที่เดบิวต์ ตามมาด้วยซีรีส์ Squid Game ที่เมื่อได้อยู่บนแพลตฟอร์มยักษ์อย่าง NETFLIX แล้วก็กลายเป็น Squid Game Fever ไปทั่วโลก
ทุกวันนี้ จะไถทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมผ่านไปเจอเพลง Lalisa หรือมีม “ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จากที่ K-pop เคยเป็นแฟชั่นใหม่ เพลง หนัง ซีรีส์เกาหลีค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องปกติที่มีพื้นที่ถาวรเป็นส่วนหนึ่งในการเสพความบันเทิงของเราไปแล้ว
ตัดภาพมาในบ่ายวันหนึ่งของสุดสัปดาห์ เรากำลังเข้าคิวรอซื้อป๊อบคอร์นอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์ย่านปริมณฑลแห่งหนึ่ง วันนี้แถวซื้อขนมยาวเป็นพิเศษ เพราะมีแก้วน้ำอัดลมรุ่นลิมิเต็ดมาวางขายเป็นโอกาสพิเศษเนื่องในอีเวนต์พิเศษ เป็นการถ่ายทอดการแสดงสดส่งตรงมาจากสเตเดียม โซล โอลิมปิก
เราชะโงกดูจำนวนลูกค้าที่ต่อแถวอยู่หน้าเราแล้วดูนาฬิกา กลัวว่าจะเข้าโรงไม่ทันเวลารอบฉาย เราหยิบตั๋วที่กดจากตู้มาดูเวลาให้ชัวร์อีกรอบ บนบัตรระบุรายละเอียดไว้ว่า
โรง 1 เวลา 15:15 น. Permission to Dance On Stage Seoul – live viewing
ใช่ค่ะ, วันนี้มาดูบีทีเอส
ชอบวงนี้มานานแล้วเหรอคะ? เพิ่งโดนฟีดในโซเชียลเน็ตเวิร์คอันมีประสิทธิภาพป้ายยามาเมื่อสัปดาห์ก่อนค่ะ แล้วเห็นว่ามีอีเวนต์พอดี ก็เลยสนใจอยากมาดูโชว์ดี ๆ ของวง K-pop ที่ดังระดับโลกอย่างตั้งใจดูสักครั้ง
นอกจากคลิปสั้นในเน็ต กับเพลงโปรโมทที่เป็นธีมในคอนเสิร์ตรอบนี้ เราก็ไม่ได้รู้จักบีทีเอสสักเท่าไหร่
ด้วยความสนใจแต่ไม่ทันตั้งตัว ก็ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากจุดไหน ค้นกูเกิ้ลดูก็เจอข้อมูลมหาศาลเกินจะตั้งรับ จำได้ว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาสักพักแล้วไม่ได้ฤกษ์หยิบมาอ่านเสียที คนเชย ๆ อย่างเราจึงกลับบ้านไปรื้อกองดองหาหนังสือหน้าตาสีสด บนปกมีภาพกราฟิกตัวแทนความป๊อบของเกาหลีใต้อยู่หลายอย่าง ข้าวยำ, ปลาหมึกสด, โทรศัพท์ซัมซุง, โซจู, นัมซานทาวเวอร์ รูปมือทำท่ามินิฮาร์ท ไปจนถึง Psy เจ้าของเพลง Oppa Gangnam Style และท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์
ยูนี ฮอง ทำให้เราได้รู้จักกระทรวงวัฒนธรรมที่คูลที่สุดในโลก ทำให้เราได้รู้จักคำว่า “ฮาน” –คาแรกเตอร์สำคัญที่ผลักดันชนชาติเกาหลีให้พัฒนาตัวเองมาถึงสถานะ “ประเทศโลกที่หนึ่ง” ได้
แม้เมื่อพูดถึงแผนก “ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัฒนธรรมขั้นสูง” แล้วจะจินตนาการไม่ออกว่าหน้าที่การงานของคนแผนกชื่อยาวนี้เขาทำอะไรกัน แต่สิ่งที่ได้ออกมาคือโครงการที่ถูกวางแผนอย่างตั้งใจพร้อมกับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลเพื่อสร้างมูลค่าให้กับ soft power เกาหลี
เป็นการทำงานประสานกันอย่างจริงจังจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญมากมาย ทำให้เราได้รู้ว่าการจะส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงไปสู่ตลาดโลกได้ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับปฏิรูปหลายด้านกว่าจะได้ผลลัพธ์ในอีกหลายสิบปีต่อมา
วันนี้ถึงช่วงเวลาที่วงบีทีเอสผลิบานก้าวขึ้นสู่แนวหน้า มีชื่อเสียง มีแฟนคลับจากทุกมุมโลก มีเพลงดังมากมาย การันตีด้วยรางวัลระดับอินเตอร์และยอดสตรีมมิ่งหลักพันล้าน!
ผู้ชายเจ็ดคนยืนเรียงแถวหน้ากระดานประสานมือกันโค้งขอบคุณคนดู... ถึงจะยังไม่ได้รู้ประวัติพวกเขาอย่างละเอียดว่าพวกเขาต้องผ่านอุปสรรคและความสำเร็จอะไรมาบ้าง เราฟังภาษาเกาหลีที่เขาพูดคุยกับคนดูไม่ออกด้วยซ้ำ
แต่การแสดงด้วยพลังทั้งหมดที่มีในทุกโชว์ ภาษากาย รอยยิ้มกว้าง และแววตาของพวกเขาที่ฉายอยู่บนจอ รวมไปถึงพลังงานของคนดูที่ให้กลับไปสู่คนบนเวที จากโรงหนังตรงนี้ส่งไปถึงเกาหลีอย่างง่ายดาย มันเต็มไปด้วยความขอบคุณอย่างจริงใจของพวกเขาทั้งหมด
ตุ้บ!! ...เสียงอะไร ให้ทาย?
เข้าใจถูกแล้ว, เราตกหลุมบังทันและอาร์มี่เข้าอย่างจัง!
หมายเหตุ: หนังสือ “The Birth of Korean Cool – กำเนิดกระแสเกาหลี” โดย Euny Hong ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2014 จึงบันทึกเรื่องราวเอาไว้ถึงยุคของ Psy เท่านั้น แต่ก็สามารถลากเส้นทางการสร้างกระแสเกาหลีฟีเวอร์ออกมาให้เห็นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ว่าประเทศเกาหลีใต้จริงจังกับการผลักดัน soft power มากแค่ไหน
สามารถอ่านคำโปรยและสั่งซื้อหนังสือ คลิก >> “The Birth of Korean Cool – กำเนิดกระแสเกาหลี” << เขียนโดย Euny Hong แปลโดย วิลาส วศินสังวร สำนักพิมพ์ earnest