ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ ก็ล้วนมีพล็อตเรื่องแปลกใหม่และน่าติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือพล็อตที่ตัวละครต้องเอาชนะอาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงให้ความสนุกเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยเกร็ดความรู้และข้อจำกัดที่ผู้ป่วยต้องพบเจอ ALTV จึงขอพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับโรคและภาวะอาการที่น่าสนใจจากซีรีส์และภาพยนตร์เรื่องดังไปพร้อมกัน
'ณ ขณะเหงา' หรือ The Broken Us ละครแนวดราม่าอบอุ่นหัวใจจาก Thai PBS ที่นำเสนอเรื่องราวของ 'ซัน' ชายหนุ่ม อายุ 31 ปี ที่ภายนอกดูเป็นคนปกติทั่วไปแต่ลึก ๆ กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดและแตกสลายที่ส่วนหนึ่งมาจากภาวะ 'แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม' หรือ ความผิดปกติทางระบบประสาท ที่ทำให้ซันไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและคิดหาวิธีจบชีวิตหลายครั้ง จนกระทั่งได้มาพบกับ 'ใยไหม' สาวนักวางแผนการเงินที่ภายนอกดูเป็นคนเข้มแข็ง มองโลกในแง่ดี แต่อีกด้านเธอเป็นอีกคนที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากปมเรื่องครอบครัวและเพื่อนสนิทในอดีต
แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger’s Syndrome) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากความบกพร่องทางระบบประสาท จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับออทิสซึม แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม มักจะมีระดับสติปัญญาปกติเหมือนคนทั่วไป แต่จะมีปัญหาด้านทักษะทางสังคมและการสื่อสาร เช่น พูดคุยรู้เรื่องแต่ไม่เข้าใจมุกตลก ไม่เข้าใจภาษากาย หรืออ่านสีหน้าอารมณ์ของคนคู่สนทนาไม่ออก ตลอดจนมีพฤติกรรมหมกมุ่นกับความคิดหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยหลายคนมักเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวคับข้องใจ จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะที่บกพร่องด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การฝึกพัฒนาทักษะทางสังคม ทักษะด้านภาษา หรือทักษะด้านการสื่อสารและการแสดงออก เป็นต้น โดยสำหรับละคร เรื่อง ณ ขณะเหงา สามารถรับชมได้แล้ว ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.15-21.10 น. ทาง Thai PBS ช่องหมายเลข 3 หรือชมย้อนหลังได้ทาง www.VIPA.me <คลิก
'อูยองอู ทนายสาวอัจฉริยะ' หรือ Extraordinary Attorney Woo นำเสนอเรื่องราวของ 'อูยองอู' ทนายสาวอายุ 27 ปี ผู้มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม ที่มีระดับไอคิวสูงเข้าขั้นอัจฉริยะพ่วงด้วยดีกรีเกียรตินิยมนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยกฏหมายแห่งชาติโซล แต่เพราะด้วยบุคลิกภาพพิเศษเธอนี่เอง ทำให้เส้นทางชีวิตของยองอูไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องถูกปฏิเสธเข้ารับทำงานจากหลายบริษัท
จนท้ายที่สุดยองอูได้รับโอกาสเข้าทำงานที่สำนักทนายความฮันบาดา และโดดเด่นขึ้นท่ามกลางเพื่อนร่วมงาน จากความสามารถและพรสวรรค์ทางด้านกฏหมายของเธอ ซึ่งไม่เพียงแค่ความสนุกตื่นเต้นที่จะได้รับจากซีรีส์เรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังพาเราไปทำความเข้าใจสิ่งที่กลุ่มผู้ป่วยออทิสติกต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตหรืออคติทางสังคมที่คนธรรมดาไม่อาจเข้าใจ
ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic spectrum Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากความบกพร่องทางพัฒนาการ ทำให้ผู้ที่มีอาการมักมีปัญหาด้านการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ เช่น ไม่สบตาเวลาพูด นิ่งเงียบ ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้เป็นภาษา ชอบพูดคำเดียวซ้ำ ๆ ตลอดจนไม่สามารถรับรู้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น และด้วยพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่ตรงตามแบบแผนของสังคมนี้เอง ทำให้หลายครั้งเด็กออทิสติกถูกมองว่ามีสติปัญญาต่ำ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด
ออทิสซึมมีลักษณะแตกต่างและเฉพาะตัว ในบางคนมีระดับสติปัญญาสูง มีความจำเป็นเลิศ และมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน เพียงแต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้เหมาะสมเท่านั้น โดยปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มอาการออทิสซึมได้ 3 ระดับ ดังนี้
สำหรับอูยองอูถือได้ว่าเข้าข่ายอาการออทิสติกในระดับที่ 1 หรือ High Functioning Autism ซึ่งเราจะเห็นอาการร่วมที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ เช่น การไวต่อเสียง การมีท่าทางเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือการหมกหมุ่นในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบอย่างปลาวาฬนั่นเอง
TOC TOC (2017) ภาพยนตร์แนวคอมเมดี้สัญชาติสเปน บอกเล่าเรื่องราวสุดเพี้ยนของ 6 ผู้ป่วยโรคโอซีดี หรืออีกชื่อหนึ่ง ‘โรคย้ำคิดย้ำทำ’ ที่ต้องโคจรมาเจอกันในคลินิกของจิตแพทย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อเข้ารับการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยเส้นเรื่องทั้งหมดจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยทั้ง 6 คนนี้ ใช้เวลาที่ต้องรอคอยจิตแพทย์ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับอาการโอซีดีที่ตนต้องพบเจอ และถึงแม้ว่า Toc Toc จะขึ้นชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ตลก แต่แก่นแท้ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเหล่าผู้ป่วยที่ต้องการหายจากโรคที่สร้างความทุกข์ทรมาณให้ตนเอง
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ โอซีดี (Obsessive Compulsive Disorder) คือโรคทางจิตเวชในกลุ่มอาการวิกตกกังวล (Anxiety disorder) ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมย้ำคิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ (Obsessive) จนนำไปสู่อาการย้ำทำ (Compulsion) เพื่อลดความไม่สบายใจหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากความคิดเหล่านี้
หลายครั้งผู้คนมักเข้าใจผิดว่าโอซีดีคือคนเจ้าระเบียบ รักความสะอาด ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการโอซีดีเท่านั้น ในบางคนอาจหมกมุ่นอยู่กับความคิดอันตรายและผิดบาป เช่น คิดอยากด่าทอพระพุทธรูป คิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น หรือหมกหมุ่นอยู่กับ 'ความกลัว' เช่น กลัวสารพิษ กลัวสารคัดหลั่ง หรือกลัวความตาย แม้ว่าเจ้าตัวจะทราบดีว่าเป็นความคิดที่ไร้สาระ แต่ก็จะหยุดคิดไม่ได้จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายทอดจากพันธุกรรม การทำงานผิดปกติของสมองและสารสื่อประสาท หรือปัจจัยทางความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลให้ผู้ป่วยนึกถึงผลกระทบในแง่ร้ายซ้ำ ๆ โดยในปัจจุบันการรักษาอาการโอซีดีจึงต้องรักษาและวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจมีการยากล่อมประสาทเพื่อบรรเทาอาการ ควบคู่ไปกับการปรับความคิดและพฤติกรรม
My holo love หรือ วุ่นรักโฮโลแกรม ซีรีส์แนวโรแมนติกดราม่าสัญชาติเกาหลีใต้เรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวของ 'ฮัน โซยอน' ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทแว่นตาแห่งหนึ่งที่ป่วยด้วยอาการประหลาด คือไม่สามารถจดจำใบหน้าของใครได้ หรือที่เรียกว่า โรคหลงลืมใบหน้า (Prosopagnosia) จนกระทั่งวันหนึ่งโชคชะตาให้เธอมาพบกับ 'นันโด' นักสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ และ 'โฮโล' หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่หน้าตาเหมือนกัน ที่ได้อาสาเข้ามาช่วยเหลือโซยอนในการจดจำใบหน้าผู้คน และนำไปสูเรื่องราวรักสามเศร้าระหว่าง มนุษย์ และ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์
"โพรโซแพ็กโนเซีย" (Prosopagnosia) หรือ “โรคหลงลืมใบหน้า” เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องทางสมองและการประมวลผล ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำภาพใบหน้าที่มองเห็นได้ ซึ่งอาจรวมถึงใบหน้าของคนในครอบครัว และใบหน้าของตัวเอง ตลอดจนไม่สามารถระบุ เพศ อารมณ์ สีหน้า ของใครได้
ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรง ยังคงปรับตัวใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยการจดจำลักษณะเฉพาะอื่น ๆ เช่น ทรงผม เสื้อผ้า ท่าทาง การแต่งตัว แต่สำหรับผู้มีอาการรุนแรงจะส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแยกตัวออกจากสังคมและภาวะซึมเศร้าตามมา
ปัจุบันโรคหลงลืมใบหน้ายังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะเจาะจง เน้นการฝึกทักษะการแก้ปัญหาที่สามารถช่วยระบุตัวตนของคนอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาการจดจำใบหน้า เช่น การฝึกสังเกตความสูง รูปร่าง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ควบคู่ไปกับการบำบัดและเฝ้าสังเกตการณ์ภาวะซึมเศร้าที่อาจมีร่วมด้วย
Stockholm (2018) คือภาพยนตร์แนวตลก-ดราม่าอาชญากรรม ที่สร้างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อ้างอิงจากเหตุการณ์บุกปล้นธนาคารพร้อมจับตัวประกันในปี 1973 ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีหนึ่งในตัวประกันสาวได้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและผูกพันกับคนร้าย จึงลงเอยด้วยการพยายามปกป้องคนร้าย ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้โดยนิตยสาร เดอะนิวยอร์กเกอร์ ว่าเป็นต้นกำเนิดของ 'สตอกโฮล์ม ซินโดรม' หรือ ภาวะที่ตัวประกันเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนร้าย
กลุ่มอาการสต็อกโฮล์ม (Stockholm syndrome) คือภาวะที่เหยื่อหรือตัวประกัน เกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นคนร้ายหรือผู้กระทำผิดหลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง อาจนำไปสู่การปกป้อง ให้ความช่วยเหลือและไม่เอาผิดคนร้ายในภายหลัง ในทางการแพทย์ถือเป็นกลไกการเผชิญปัญหาที่เหยื่อใช้เอาตัวรอดจากการถูกทารุณกรรมหรือทำให้บาดเจ็บเป็นเวลาหลายวัน
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับภาพยนตร์และซีรีส์ที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะดูอะไรดีในช่วงวันหยุด ได้ไอเดียกันไปไม่มากก็น้อยนะคะ