ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน ในวันนี้ ALTV ขอพาไปทำความรู้จัก 'ตุ๊กตานำโชค' จากประเทศทั่วโลก จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูพร้อมกันเลย
ตุ๊กตาไม้รูปสตรีสวมใส่ชุดซาราฟาน (Sarafan) สีสดใสนี้ มีชื่อเรียกว่า "มาตรอซก้า" (Matryoshka Doll) หรือในชื่อไทย "ตุ๊กตาแม่ลูกดก" ตุ๊กตางานฝีมือพื้นเมืองประจำชาติรัสเซียที่นอกจากมีหน้าตาสวยงาม ภายในยังซ่อนตุ๊กตาแบบเดียวกันไล่เรียงขนาดเอาไว้ โดยตามความเชื่อโบราณของชาวรัสเซียตุ๊กตามาตรอซก้า ถือเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความสมบูรณ์พูนสุข และยังเป็นตัวแทนของสายสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก ผู้คนจึงมักนิยมมอบให้กันเป็นของที่ระลึกหรือเป็นของขวัญตามเทศกาล
ตุ๊กตามาตรอซก้ามีต้นแบบมาจากตุ๊กตาเทพเจ้าของญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าเป็นเทพเจ้านามว่า 'ฟุกุโรคุจู' (Fukurokuju) 1 ใน 7 เทพเจ้าแห่งโชคลาภของญี่ปุ่น ซึ่งเทพเจ้าองค์นี้มาพร้อมกับตุ๊กตาเทพเจ้าอีก 6 องค์ซ้อนกันอยู่ภายใน โดยตุ๊กตาดังกล่าวนำเข้ามายังรัสเซียโดยบาทหลวง
จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1892 วาร์ซิลี ซเวซดอซกิน (Vasiliy Zvezdochkin) ช่างฝีมือชาวรัสเซียได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในตุ๊กตาไม้แกะสลักของเขาโดยผสมผสานเข้ากับศิลปะดั้งเดิมของรัสเซียและตั้งชื่อให้ว่า 'มาตรอซก้า' แผลงมาจากคำว่า 'มาตรีโยนา' ชื่อหญิงสาวในภาษารัสเซียที่แปลได้ว่า 'หญิงสาวผู้น่าเคารพ'
หลังจากนั้นมาตุ๊กตามาตรอซก้าก็เป็นที่นิยมมากขึ้น แต่เดิมมีศูนย์กลางการผลิตที่เก่าแก่อยู่ที่เมืองเซอร์กิเยฟ พาสาด (Sergiev Posad) ในรัสเซีย จนปัจจุบันสามารถหาซื้อมาครอซก้าได้ตามร้านขายของที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้มีลวดลายแปลกใหม่มากขึ้น เช่น คนดัง ศิลปิน นักร้อง หรือนักการเมือง
"ล้มแล้วลุกได้เสมอ" คือคติที่แฝงไว้ใน 'ตุ๊กตาดารุมะ (Daruma)' เครื่องรางนำโชคประจำชาติญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างอ้วนกลมคล้ายตุ๊กตาล้มลุก ไม่มีตาดำ ไม่มีแขนขา ในความเชื่อโบราณของชาวญี่ปุ่นตุ๊กตาดารุมะ จะช่วยให้คำอธิษฐานเป็นจริง นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
ครอบครัวชาวญี่ปุ่นมักจะซื้อตุ๊กตาดารุมะในช่วงต้นปีเพราะเชื่อว่าเป็นการนำโชคดีมาให้ โดยธรรมเนียมการขอพรทำได้ด้วยการใช้สีดำวาดตาซ้ายให้กับตุ๊กตา พร้อมกับอธิฐานขอพรและเมื่อพรเป็นจริงสมใจหวัง จึงค่อยแต้มตาขวาลงไปแล้วนำไปบูชา
มีการสันนิษฐานว่าตุ๊กตาดารุมะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 ในเมืองทาคาซากิ จังหวัดกุมมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเกิดจากฝีมือของชาวนาในพื้นที่ ที่ต้องมีบูชาเป็นเครื่องรางขอพรให้ผลประกอบการดี โดยมีต้นแบบมาจากภาพวาดพระภิกษุชาวอินเดีย นามว่า ‘พระโพธิธรรมเถระ’ หรือที่ชาวญึ่ปุ่นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ดารุมะไดชิ’ (Daruma Daishi)
ตามตำนานว่ากันว่าพระโพธิธรรมเถระ เป็นผู้บำเพ็ญสมาธิขั้นสูงด้วยการเพ่งมองผนังถ้ำเป็นเวลา 9 ปี โดยไม่หลับตา แต่ครั้งหนึ่งท่านเกิดเผลอหลับตาจึงได้ตัดสินใจตัดหนังตาของตนทิ้ง เพื่อไม่ให้ตนเองหลับตาได้ นอกจากนี้ท่านยังห่มจีวรสีแดงสด ซึ่งเป็นที่มาของลักษณะเฉพาะของดารุมะที่มีลำตัวสีแดง ไม่มีตาดำ
ในปัจจุบันดารุมะเป็นเครื่องรางที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีการผลิตดารุมะสีอื่น ๆ ที่มีความหมายแตกต่างกันไปให้เลือกบูชา เช่น สีเขียว หมายถึง การมีสุขภาพดี สีเหลือง หมายถึง ชื่อเสียง สีทอง หมายถึง ความมั่งคั่ง สีขาว หมายถึง การเรียน
"ตุ๊กตาโคเคชิ (Kokeshi)" คือ ตุ๊กตาไม้ทำมือประจำชาติญี่ปุ่น เป็นทั้งของเล่นโบราณและเครื่องรางสำหรับขอพร
ตุ๊กตาไม้โคเคชิมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อ 150 ปีก่อน โดยปกติทำขึ้นจากไม้ด้วยเทคนิคการกลึงแบบญี่ปุ่น มีลักษณะหัวกลม ไม่มีแขนขา แต่งเติมลวดลายให้เป็นเด็กผู้หญิง โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าการมอบตุ๊กตาโคเคชิให้กันเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพที่มีต่อกัน นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องรางขับไล่สิ่งชั่วร้าย และป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้ ส่วนในหมู่ชาวไร่ชาวนาเชื่อว่าตุ๊กตาโคเคชิจะบันดาลใหผลผลิตเจริญงอกงามสมบูรณ์
“ม้าไม้ดาลา (Dala Horse)” หรือ ‘The Dalecarlian Horse’ ม้าไม้แกะสลักเคลือบสีแดงสดนี้ในความเชื่อของคนสวีเดนถือเป็นเครื่องรางนำโชค อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและสติปัญญา
ม้าไม้ดาลามีต้นกำเนิดในบริเวณดอลาร์นา (Dalarna) ภูมิภาคหนึ่งของประเทศสวีเดน โดยคำว่า 'Dala' เป็นคำที่แผลงมาจาก คำว่า 'Dalarna' นั่นเอง ม้าไม้ดาลามีวิวัฒนาการมาจากม้าของเล่นที่ถูกแกะสลักขึ้นอย่างง่าย ๆ ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1800 ได้มีการนำมาแต่งเติมสีสันสดใสและลวดลายดอกไม้ในนสไตล์ศิลปะดั้งเดิมของสวีเดน หรือ ที่เรียกว่าลวดลายแบบ 'Kurbits' ม้าไม้ดาลาเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน เครื่องราง หรือแม้กระทั่งของเล่นเด็ก ในความเชื่อคนสวีเดนเชื่อว่าหากนำม้าไม้ดาลาให้เด็กเล่นจะส่งผลให้เด็กมีสติปัญญาดี
ปัจจุบันม้าไม้ดาลานับว่าเป็นของที่ระลึกยอดฮิตของนักท่องเที่ยว และมีหลายสีสันโดยแต่ละสีจะมีความหมายแตกต่างกันเช่น สีแดง หมายถึง พลัง สีดำ หมายถึง สีส้ม หมายถึง ความสุข
ในความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองของกัวเตมาลา 'The Worry doll' หรือ 'ตุ๊กตาไร้กังวล' เป็นเครื่องรางที่ช่วยปัดเป่าความทุกข์ของเด็ก ๆ โดยมาจากความเชื่อที่ว่าหากเด็กคนไหนเล่าปัญหาหรือเรื่องทุกข์ใจให้ตุ๊กตาฟัง แล้วนำไปเก็บไว้ใต้หมอน ตุ๊กตาจะช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ จึงเป็นธรรมเนียมของผู้ใหญ่ในกัวเตมาลาที่มักมอบตุ๊กตาไร้ไว้ให้เด็ก ๆ พกติดตัว
ตุ๊กตาไร้กังวลเป็นตุ๊กตาทำมือมักมีขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว ทอขึ้นจากลวด ขนสัตว์ และด้ายหลากสีสัน โดยส่วนมากมักเป็นรูปร่างผู้หญิงแต่งกายแบบชนเผ่ามายัน สันนิษฐานว่าตุ๊กตาไร้กังวลมีต้นแบบมาจากเทพเจ้า "Chriakan-Ixmucane" ในตำนานชนเผ่าพื้นเมืองชาวมายัน ผู้มีพลังวิเศษในการขจัดทุกข์บำรุงสุขให้กับมวลมนุษย์ หากใครก็ตามบอกเล่าปัญหาให้เธอฟังก็จะพบกับหนทางแก้ปัญหาได้ในที่สุด
แต่นอกเหนือจากตำนานลี้ลับ เมื่อพิจารณาในแง่มุมจิตวิทยาแล้วตุ๊กตาไร้กังวลทำน้าที่เหมือนสื่อกลางที่ช่วให้เด็ก ๆ กล้าพูดคุยอย่างเปิดเผยโดยปราศจากการตัดสิน ช่วยให้คลายความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี
ที่มา: Mental Floss Macalester College