เป็นที่รู้กันดีว่าในอดีตบทบาทของ 'เพศหญิง' มักถูกกีดกันในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกันกับในโลกศิลปะ ในวันนี้ ALTV ขอพามาทำความรู้จักเหล่าศิลปินหญิงที่ได้เข้ามาพลิกบทบาท "เพศหญิงในวงการศิลปะ" และสร้างสรรค์ผลงานระดับโลกไว้มากมาย จะมีใครบ้างนั้นไปดูพร้อมกันเลย
หากพูดถึงลัทธิศิลปะแบบบาโรก (Baroque) ชื่อของศิลปินชั้นครูอย่าง คาราวัจโจ, แรมบรันต์, หรือเฟอร์เมอร์ อาจเป็นรายชื่อแรก ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึงแต่ในบรรดาศิลปินที่กล่าวมานี้ ยังมี 'จิตรกรหญิง' นามว่า อาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) ผู้มีฝีไม้ลายมือโดดเด่นที่ได้รับการยอมรับในฐานะ 'ศิลปินที่ประสบความสำเร็จ' ท่ามกลางสังคมที่กีดกันเพศหญิงออกจากโลกศิลปะ
อาร์เตมีเซีย เจนทิเลสกี คือจิตรกรหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะสงวนไว้ให้กับผู้ชายเท่านั้น แต่เพราะอาร์เตมีเซียเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นจิตรกรในราชสำนัก จึงทำให้อาร์เตมีเซียได้ซึมซับและเรียนรู้การทำงานศิลปะมาตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งอายุได้ 10 ขวบ เธอมีโอกาสได้เล่าเรียนการเขียนภาพจากเพื่อนของพ่อ นั่นคือ มิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) หรือ คาราวัจโจ จิตรกรผู้บุกเบิกศิลปะแบบบาโรก
ผีมือการเขียนภาพทัดเทียมบุรุษส่งผลให้ในปี 1616 เธอกลายเป็น 'ศิลปินหญิงคนแรก' ที่ได้เป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น
เอกลักษณ์ของผลงานอาร์เตมีเซีย คือการใช้แสงเงาที่ตัดกันอย่างหนักหน่วงโดยใช้แสงสีขาว (Highlight) สาดส่องไปที่ตัวละคร ทำให้ภาพวาดให้อารมณ์เหมือนฉากละครเวที โดยเทคนิคนี้เรียกว่า 'คีรอสคูโร'
อาร์เตมีเซีย มักเสนอภาพความรุนแรงหรือฉากต่อสู้ระหว่างตัวละครผู้หญิงลุกขึ้นสู้กับเพศชาย นักวิจารณ์งานศิลปะให้ความเห็นว่าเป็นการแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อเหตุการณ์ที่เธอเคยถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก และไม่ได้รับความเป็นธรรม จนเมื่ออายุได้ 16 ปี อาร์เตมีเซียสร้างผลงานชิ้นแรกคือ ซูซานนาและผู้เฒ่า 'Susanna and the Elders' ภาพของหญิงสาวที่พยายามปัดป้องชายสองคน ที่พยายามจะแตะต้องเรือนร่างของเธอ
สิ่งที่น่าสนใจคืออาร์เตมีเซียนำเสนอภาพดังกล่าวในมุมมองที่แตกต่างจากศิลปินทั่วไป เธอกำหนดให้ซูซานนาแสดงสีหน้ากระอักกระอ่วน ซึ่งเราสามารถเห็นความไม่พอใจผ่านทางสีหน้าอย่างชัดเจน แตกต่างจากศิลปินชายที่มักวาดซูซานนาให้มีสีหน้าเขินอาย ซึ่งเป็นความตั้งใจของอาร์เตมีเซีย ที่ต้องการนำเสนอภาพซูซานนาในมุมมองของ 'ผู้ตกเป็นเหยื่อ'
ในช่วงชีวิตของอาร์ตมีเซียเธอสร้างสรรค์ผลงานที่กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ ภาพ จูดิธตัดหัวโฮโลเฟิร์น 'Judith beheading Holofernes' ผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของคาราวัจโจ ที่มักถูก เข้าใจผิดบ่อย ๆ ว่าเป็นผลงานที่วาดโดยศิลปินชาย
สำหรับศิลปินหลาย ๆ คนเฟรมผ้าใบเปรียบเหมือนพื้นที่ปลดปล่อยความโศกเศร้าและความเจ็บปวด เช่นเดียวกับศิลปินหญิงชาวเม็กซิกันสุดแกร่งอย่าง ฟรีด้า คาห์โล (Frida Kahlo) ศิลปินหญิงลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ผู้ถ่ายทอดความเจ็บปวดทางจิตใจออกมาเป็นผลงานศิลปะสีสันจัดจ้าน และด้วยสไตล์งานที่โดดเด่นและหัวใจที่ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค ปัจจุบันชื่อของเธอได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน ไอคอนิก และนักต่อสู้
ฟรีด้าลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1907 ความขมขื่นของฟรีด้าเริ่มต้นขึ้น เมื่ออายุได้ 6 ขวบ เธอป่วยด้วยโรคโปลิโอและมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ส่งผลให้ฟรีด้าไม่สามารถเดินได้ปกติอย่างคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีความสนใจทางด้านการแพทย์และชีววิทยามาตั้งแต่เด็ก
เธอเริ่มวาดรูปครั้งแรกเมื่ออายุได้ 18 ปี หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งสำคัญที่ทำให้เธอต้องใส่เหล็กพยุงร่างไว้ตลอดเวลา และต้องใช้ชีวิตวัยรุ่นเกือบทั้งชีวิตอยู่บนเตียงโรงพยาบาล
แต่ถึงแม้ว่าชีวิตจะเต็มไปด้วยขวากหนามแต่ก็ไม่ทำให้ฟรีด้าหมดกำลังใจ ในขณะพักฟื้นเธอร้องขอให้พ่อทำโครงยึดผ้าใบสำหรับการนอนวาดรูป และติดตั้งกระจกไว้ข้างเตียง เพื่อให้สามารถวาดภาพเหมือนของตัวเองได้
'Self Portrait in a Red Velvet Dress' ถือเป็นผลงานชิ้นแรกเมื่ออายุ 19 ปี และหลังจากนั้นในช่วงชีวิตของฟรีด้า เธอวาดภาพพอร์ตเทรตของตัวเองทั้งหมด 55 ภาพ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเธอเอง
เอกลักษณ์ของผลงานฟรีด้านอกจากภาพเหมือนแล้ว (Self-portrait) คือการใช้สีสันที่ฉูดฉาด และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเกิด เพศ ความเจ็บปวด และความตาย ซึ่งส่วนหนึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในชีวิตของตัวเอง
The Two Fridas คือหนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดของฟรีด้า โดยมีเรื่องราวมาจากการหย่าร้างกับสามีของเธอ ด้วยเหตุผลที่ว่าสามีของเธอมีชู้ และหลังจากการเลิกราได้ไม่นานฟรีด้าก็ได้ประกาศตัวว่าเป็น 'ไบเซ็กชวล' เธอมความหลงใหลในเรื่องการแต่งกาย เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดที่สวนทางกับบรรทัดฐานความงามของผู้หญิงมัยนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ชื่อของฟรีด้าถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่ม
เมื่อพูดถึงศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ชื่อของ แมร์รี สตีเวนสัน เคแซต ( Mary Stevenson Cassatt ) อาจไม่ใช่ชื่อแรก ๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง แต่ในโลกศิลปะเธอนับว่าเป็นจิตรกรผู้เชี่ยวชาญในด้านสีน้ำมันและภาพพิมพ์ ทั้งยังเป็นศิลปินหญิงที่ 'ยืนหนึ่ง' ในลัทธิศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ส่วนใหญ่เป็นศิลปินผู้ชาย
เคแซต เป็นจิตรกรหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ถือกำเนิดที่สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชนชั้นกลาง ที่ไม่ได้สนับสนุนเธอในด้านศิลปะ แต่เพราะความหลงใหลและพรสวรรค์ในการเขียนภาพ เคแซตจึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปฝึกฝนฝีมือถึงที่ประเทศฝรั่งเศส
แม้ว่าจะโดนกีดกันจากครอบครัว แต่ด้วยฝีมือการวาดที่น่าประทับใจทำให้ใน ปี 1877 เธอได้รับคำเชิญจาก 'เอ็ดการ์ เดอกาส์' เข้าร่วมกลุ่มศิลปินอิสระซึ่งรู้จักกันในชื่อ 'อิมเพรสชั่นนิสต์' และได้จัดแสดงผลงานร่วมกับศิลปินชาวฝรั่งเศษในนิทรรศการซึ่งนับว่าเป็นชาวอเมริกันเพียงหนึ่งเดียวที่ทำได้
เอกลักษณ์ของงานเคแซตมักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้หญิงและ 'ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก' ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่นำเสนอบทบาทของแม่ผ่านงานศิลปะซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในยุคสมัยก่อน นอกจากนี้เคแซตมักเลือกถ่ายทอดภาพอิริยาบถระหว่างแม่ลูกจากครอบครัวชนชั้นล่างที่อาศัยอยู่ตามชนบทมากกว่าครอบครัวชนชั้นสูง
อาจกล่าวได้ว่าเหล่าศิลปินหญิงที่ยกมานี้เปรียบเสมือนวีรสตรีในโลกศิลปะ มากกว่าเป็นดอกไม้ประดับ สามารถเรียนรู้สิ่งที่ที่น่าสนใจของ 'วีรสตรีไทย' ได้ที่รายการ สังคมสนุกคิด
เพลิดเพลินไปกับหลากหลายเรื่องราวในหมวดสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์กับครูท็อป อานนท์ แซ่เต็ง
ในรายการ สังคม สนุกคิด ออกอากาศ ทุกวันศุกร์ เวลา 18.40-19.00 น. ทาง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก
หรือรับชมอีกครั้งช่องทางออนไลน์ www.altv.tv/SanookKid