เราเชื่อว่าใครหลายคนต้องเคยมีของรักของหวงสักชิ้นในวัยเด็ก อาจเป็นผ้าห่มผืนเล็ก หมอนข้างคู่กาย หรือตุ๊กตาเก่า ที่เราเรียกว่า “น้องเน่า”
นักจิตวิเคราะห์กล่าวไว้ว่า เด็กที่ย่างเข้าสู่วัยวันแห่งการเป็นผู้ใหญ่จะรู้จัก “หย่าตุ๊กตา” ไปเอง แต่ทว่าตุ๊กตาเหล่านี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ของเล่นสำหรับบางคน แต่เป็นวัตถุแห่งความทรงจำ หรือ "เพื่อนคนแรกในชีวิต" จึงมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเก็บรักษาน้องเน่าไว้ เป็นสมบัติสุดรักสุดหวงติดตัวไปจนโต
แม้ว่าน้องเน่าจะมีสภาพขาดเปื่อยไปตามกาลเวลา แต่เพราะคุณค่าทางใจที่ของใหม่ทดแทนไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลให้ 'คุณตุ๊ก' ตัดสินใจเปิดร้าน 'Sewing Thing' ร้านรับซ่อม “น้องเน่า” ธุรกิจขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปถึงหัวใจผู้คนได้ในเวลาอันสั้น การันตีจากการเป็นไวรัลบนโลกทวิตเตอร์ และจำนวนน้องเน่ากว่า 100 ตัว ที่รอเข้าคิวรับการรักษา
ที่มา: Instagram Sewing_Thing
คุณตุ๊กเล่าให้เราฟังว่า ก่อนมารับซ่อมแซมตุ๊กตา เดิมเธอมีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่เมื่อองค์กรอยู่ในช่วงปรับลดจำนวนพนักงาน ประกอบกับได้รับโบนัสก้อนใหญ่ ทำให้เธอตัดสินใจหยุดพักจากงานแล้วออกมาใช้เวลาพักผ่อนที่บ้าน
เมื่อมีเวลาว่างเหลือเฝือ เธอเริ่มค้นหาสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะทำเป็นอาชีพได้ ตั้งแต่อบเค้ก อบขนม เย็บหน้ากากผ้า จนสุดท้ายมาลงเอยที่การซ่อมแซมตุ๊กตา ซึ่งเธอกล่าวว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก เรื่องราวของแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ที่ซ่อมตุ๊กตาโดเรมอนเก่า ๆ ให้เหมือนใหม่ จนกลายเป็นกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์
“เพราะบริษัท Resizing และอยากให้เราพักก่อน เอ้ย พักผ่อนค่ะ คุณตุ๊กกล่าวอย่างอารมณ์ดี เราเลยออกมาหาอะไรที่พอจะทำเป็นอาชีพมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่หัดทำเค้ก จนช่วงโควิดคนใช้หน้ากากผ้าเยอะ ก็หันมาเย็บหน้ากากผ้าขาย แต่พอถึงจุดที่คนหันมาทำขายกันเยอะขึ้น ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์กแล้ว”
"วันหนึ่งเราไปเจอโพสต์ จากเพจ Toyota art camp พูดถึงแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ซ่อมตุ๊กตาเก่าจนเหมือนใหม่ จำได้ว่าเป็นตุ๊กตาโดเรมอน สภาพเยินมาก แต่เขาซ่อมจนเกือบเหมือนเดิมได้ เราก็รู้สึกว่า เอ้ย มันมีอะไรแบบนี้อยู่ด้วยนะ เราเลยคอมเมนต์ไปใต้โพสต์นั้นขำ ๆ ว่าอยากลองทำบ้าง ส่งมาให่ซ่อมได้นะ แล้วก็มีใครไม่รู้ติดต่อส่งตุ๊กตามาให้เราซ่อมจริง ๆ เมื่อเราซ่อมให้เสร็จ เขาก็บอกว่าดีใจมาก ซึ่งนั่นคือลูกค้ารายแรกของเรา"
'เสือกน้อย' น้องเน่าตัวแรกของร้าน Sewing_Thing มาด้วยอาการขนพันกัน ไม่ได้อาบน้ำ และจมูกหลุดหาย
'เสือกน้อย' หลังผ่านการทำความสะอาด และซ่อมแซมแล้ว
ความประณีต ความใส่ใจในทุกรายละเอียดจนน้องเน่ากลับมามีสภาพดีพร้อมคืนสู่อ้อมกอดเจ้าของ อาจทำให้ผู้คนเข้าใจว่า จุดเริ่มต้นของ Sewing_Thing อาจมาจากแพชชั่นในการเย็บปักถักร้อย หรือความชื่นชอบในตุ๊กตา แต่คุณตุ๊กเผยว่าตนไม่ได้ชอบการเย็บปักถักร้อยขนาดนั้น และไม่ได้เป็นคนเล่นตุ๊กตาอีกด้วย
"ตอนเด็ก ๆ ชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน ฟังเพลง ไม่ได้ชอบเล่นตุ๊กตาหรือมีน้องเน่าเป็นของตัวเองมาก่อน แม่เราเป็นช่างเย็บผ้า เลยถูกใช้ให้ช่วยเลาะผ้าทุกวัน ซึ่งเราไม่ได้ชอบ ไม่ได้มีใครสอนด้วย ส่วนมากเป็นการเรียนรู้เองมาเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะว่าต้องทำทุกวันมันเลยซึมซับไปเอง"
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบ แต่คุณตุ๊กรู้ว่าตนมีพรสวรรค์ทางด้านการเย็บปักถักร้อยมาตั้งแต่เด็ก เมื่อย้อนกลับไปยังสมัยเรียนชั้นมัธยมฯ เธอคือคนที่เพื่อน ๆ มักขอความช่วยเหลือ เมื่อได้รับการบ้านในหัวข้อการเย็บผ้าขั้นพื้นฐาน
“เหมือนสกิลที่มันเป็นไปเอง คล้ายกับคนที่วาดรูปสวยตั้งแต่เด็ก ร้องเพลงเพราะตั้งแต่เด็ก ส่วนตัวเราก็รู้ว่าตัวเองมีสกิลเย็บปักถักร้อยตั้งแต่เด็ก สมัยมัธยมมีวิชาการงานที่ทุกคนต้องฝึกเย็บผ้า ก็รู้สึกว่าทำได้ดี และเพื่อน ๆ ก็จะมาขอให้เราช่วย” คุณตุ๊กกล่าว
ที่มา: Instagram Sewing_Thing
"เราเป็นคนไม่ชอบเห็นอะไรที่สกปรก ชอบขัดถูอะไรที่สกปรกให้มันสะอาดขึ้น อีกอย่างตุ๊กตาแต่ละตัวมันน่ารักดี เวลาเห็นเขาดีขึ้นมันก็รู้สึกดีไปด้วย ขั้นตอนที่ชอบสุดคือเวลาอาบน้ำให้เขา เหมือนได้อาบน้ำให้ลูกหลาน ส่วนตัวชอบกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่แล้วด้วย เราจะไม่ชอบรีดผ้าแต่ชอบซักผ้า ไม่ชอบทำกับข้าวแต่ชอบล้างจาน เวลาอยู่กับน้ำจะรู้สึกสนุก"
กว่าจะเป็นน้องเน่าที่สุขภาพดีได้อย่างที่เราเห็นนั้น มีความยากอยู่ในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะกับ 'เคสสาหัส' ที่คุณตุ๊กใช้นิยามน้องเน่าที่เสียหาย ชำรุดจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม เธอให้ความสำคัญตั้งแต่ เนื้อผ้า สีผ้า เม็ดกระดุม ดีเทลรูปร่างหน้าตา ที่ต้องทำให้ใกล้เคียงสภาพเดิม ไปจนถึงกลิ่นเฉพาะตัวของน้องเน่าที่จะทำให้จางหายไปไม่ได้ ซึ่งในทุกกระบวนการเธอทำด้วยตัวคนเดียว
"ตัวที่สภาพหนักสุดคือน้องหมู ที่เป็นไวรัลในทวิตเตอร์ ตอนน้องมาถึงจริง ๆ ก็อึ้งนะ ทุกคนที่เห็นก็อึ้ง ทีแรกก็คิดว่าจะคืนดีไหม แต่พอเขาเล่ามาว่าเป็นตุ๊กตาที่คุณแม่เคยให้ และคุณย่าจะดูแลให้เขามาเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้คุณย่าเขาไม่อยู่แล้ว ไม่มีคนคอยซ่อมให้ เขาขอมาแค่ว่าอย่างน้อยทำให้เป็นทรงขึ้นมา พอจับได้ก็พอ เราเลยหาภาพที่เป็นตุ๊กตาหมูในอินเทอร์เน็ตมาดูประกอบ แล้วค่อย ๆ ชุนบนผ้าไป จนออกมาเป็นอย่างที่เห็น"
คุณตุ๊กเล่าต่อว่า "บางคนก็รีเควสมาว่าอย่าให้กลิ่นหาย ตัวล่าสุดคือตุ๊กตาของน้องหมา ซึ่งเขาติดกลิ่นมาก เจ้าของเคยซื้อตัวใหม่ให้แล้วแต่น้องไม่ยอมเล่น จะติดแค่ตัวนี้ เราก็ต้องถามเขาก่อนว่าอยากให้น้องอาบน้ำไหม"
ตอนนี้มีน้องเน่าอยู่ในมือประมาณ 10 ตัว ที่จะส่งมาอีกเกือบ 10 ตัว แต่ละตัวสาหัสมาก ตุ๊กตาหลายตัวมีอายุ 20 ปีขึ้นทั้งนั้น เราตกใจเหมือนกันที่มีน้องเน่าสภาพสาหัสเยอะขนาดนี้ แต่ก็ดีใจที่มีคนไว้ใจให้เราซ่อมแซมของที่เขารักเยอะขนาดนี้
ร้าน Sewing_Thing เปิดให้บริการเข้าปีที่ 2 แล้ว ก่อนเป็นกระแสไวรัลในทวิตเตอร์ จะมีน้องเน่าเข้ามาให้ทางร้านซ่อมแซม อาทิตย์ละ 3-4 ตัว จนถึงตอนนี้มีน้องเน่ากว่า 100 ตัวที่จองคิวเข้ารับการรักษากับทางร้าน โดยสำหรับน้องเน่าเคสสาหัสจะใช้เวลาซ่อมแซมราว ๆ 1 อาทิตย์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท คิดราคาตามสภาพความเสียหาย หรือจำนวนจุดที่ต้องแก้ นอกจากนี้แล้วใยผ้าเก่าที่ได้จากการซ่อมแซมน้องเน่า ทางร้านจะจัดส่งให้กับบริษัท N15 Technology เพื่อส่งไปแปรรูปเป็นขยะเชื้อเพลิงต่อไป
ที่มา: Sewing_thing
นอกเหนือจากรายได้ที่เป็นค่าตอบแทนจากการทำงานแล้ว มิตรภาพดี ๆ จากเหล่าเจ้าของน้องเน่า คือสิ่งที่คุณตุ๊กได้รับกลับมาเป็นของแถม ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นคุณค่าและแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้เดินหน้าทำสิ่งนี้ต่อไป
"พวกเขาเป็นลูกค้าที่ไม่เหมือนลูกค้า ส่วนมากจะน่ารัก คุยสนุก ลูกค้าบางคนก็กลายเป็นเพื่อนไปเลย เราว่าบางที เขาก็คงอยากมีใครสักคนที่คุยเรื่องไร้สาระ หรือเล่าเรื่องความหลังของตุ๊กตาให้ใครสักคนฟังได้โดยไม่ถูกตัดสินว่าผิดแปลก"
"ลูกค้าที่มาให้ซ่อมตุ๊กตามีตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ซึ่งเรามองข้ามเรื่องความเป็นตุ๊กตาไปเลย เรามองในแง่ของความรู้สึกมากกว่า เพราะแต่ละตัวมีสตอรี่ เราคิดว่าพวกเขาไม่ได้ติดตุ๊กตาหรอก เขาคงติดในเรื่องราวของตุ๊กตาเหล่านั้นมากกว่า
คุณตุ๊กกล่าวต่อว่า "การที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วยังติดตุ๊กตา เราว่ามันไม่ได้ผิดปกติอะไร ตรงกันข้ามเราจะคิดว่าทำไมถึงเป็นคนน่ารักแบบนี้ เราเห็นมุมอ่อนโยนของเขา ยิ่งทำให้เรายิ่งอยากทำให้ออกมาให้ดีที่สุดเพื่อพวกเขา
ที่มา: Instagram Sewing_Thing
จาก Pain Point ที่อยากช่วยเติมเต็มความรู้สึกให้ผู้คน สู่เป้าหมายที่ต้องการสร้างความตระหนักในการลดการทิ้งโดยไม่จำเป็น และเห็นคุณค่าต่อสิ่งของมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจแล้ว นานวันข้าวของชิ้นนั้นจะเป็นเครื่องเตือนความทรงจำในอดีดที่ไม่อาจวัดค่าได้ เป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณตุ๊กต้องการฝากไว้
"การมาทำตรงนี้ เราสัมผัสได้ว่าทุกคนมีความทรงจำดี ๆ ต่อตุ๊กตา อะไรที่เคยเป็นของรักของหวงมาก่อน ก็อยากให้ดูแลรักษาและเห็นคุณค่ามาก ๆ บางทีมันอาจดูเชย ดูเก่า ไม่น่ารักเหมือนเดิมแล้ว ใครหลายคนเลยเลือกที่จะทิ้งไป แต่พอหันกลับมามองมันเป็นสิ่งที่เราอยู่กับมันตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งเรารู้สึกดีใจมากที่ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ยังเห็นคุณค่าตุ๊กตาวัยเด็กอยู่" คุณตุ๊กกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก: Sewing_Thing