บนภูเขากลางชั้นหิมะหนา ชายหาดโล่งริมมหาสมุทร ในป่าสูงท่วมหัวและใบไม้แห้งท่วมเท้า
คุณคิดว่าที่ไหนเหงากว่ากัน?
บางคนอาจจะตอบได้ทันทีเพราะมีทั้งที่โปรดและที่ไม่พึงใจชัดเจน แต่บางคนอาจจะต้องหลับตาพาตัวเองไปยืนในตัวเลือกเสียก่อนถึงพอจะเลือกได้
ส่วนอลิเชและมัตเตียบอกว่าสถานที่เหล่านั้นถึงจะดูรกร้างห่างไกลแค่ไหนก็ยังเหงาสู้ โรงเรียน โรงอาหาร สวนสาธารณะ ที่ทำงาน ที่บ้าน หรือในห้องนอนไม่ได้
“ความโดดเดี่ยวของจำนวนเฉพาะ” เล่าเรื่องวัยรุ่นสองคนกับปัญหาตีบตันที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก
“ชีวิตมัธยมปลายเป็นเสมือนบาดแผลที่ไม่ยอมตกสะเก็ด มัตเตียกับอลิเชรู้สึกว่ามันลึกจนไม่อาจเยียวยา ทั้งคู่ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ในสภาพเฉื่อยชา เขาปฏิเสธโลก ส่วนเธอรู้สึกเหมือนถูกโลกปฏิเสธ แล้วก็พบว่ามันไม่ได้ต่างกันเท่าไรนัก...”
เมื่อไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ใดเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนความเหงาก็ไม่น้อยไปกว่ากัน
มัตเตียผู้หลงใหลในความเป็นลำดับอย่างน่าทึ่งของคณิตศาสตร์เปรียบเทียบความโดดเดี่ยวว่าเหมือนกับ “จำนวนเฉพาะ” เพราะนอกจากตัวมันเองก็มีเพียง 1 เท่านั้นที่หารได้ลงตัว ถึงอย่างนั้นจำนวนเฉพาะก็ยังมีเรื่องพิเศษ นั่นคือในตัวเลขมากมายไม่สิ้นสุดยังมี “จำนวนเฉพาะคู่แฝด” ซ่อนอยู่ 11 กับ 13, 17 กับ 19, 41 กับ 43...
ถึงแม้จะไม่มีใครมาหารได้อย่างลงตัว แต่ก็ยังพอจะมีอยู่อีกเลขหนึ่งที่มีคุณสมบัติเดียวกันอยู่ใกล้ ๆ เพียงหนึ่งจำนวนเต็มคั่น
เพราะความพยายามอย่างสุดตัวของอลิเชเพื่อให้ได้มีพื้นที่ร่วมกับเพื่อนผู้หญิงวัยเดียวกัน แทนที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของแก๊งดัง อลิเชกลับได้รู้จักกับมัตเตีย แต่ก็อาจจะเป็นเพราะความเข้ากับใครไม่ได้นั่นแหละที่ทำให้ทั้งสองคนมองเห็นกันและกัน
นอกจากความรู้สึกโดดเดี่ยวของทั้งสองคนแล้ว อีกอย่างที่ทั้งคู่สะสมไว้มากมายจนไม่รู้ว่าใครมีมากกว่ากันนั่นคือ ความลับ
อันที่จริงก็ไม่ใช่แค่อลิเชียและมัตเตียหรอกที่มีทั้งความลับและความเหงา ตัวละครที่โคจรอยู่ในโลกเดียวกับพวกเขาเองก็มีทั้งความลับและความเหงาอยู่เช่นกัน
บรรยากาศตลอดเรื่องมีสนทนาเพียงบางเบา แต่วิธีที่เปาโล จอร์ดาโนเขียนกลับทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นความโดดเดี่ยวที่แสนอื้ออึง ด้วยเรื่องที่แต่ละคนเก็บเอาไว้เต็มความคิดไปหมด
เราหยุดอ่านแล้วกลับมาเงี่ยหูฟังเสียงรอบตัว เพลงแจ๊สยังคงเล่นคลอไปกับจังหวะชงกาแฟของบาริสต้าอย่างเป็นปกติ ได้ยินเสียงคนพูดคุยกันอยู่ไกล ๆ จับใจความอะไรไม่ได้
ถ้าเปาโล จอร์ดาโนกำลังเฝ้ามองเพื่อเขียนบรรยาย เสียงความคิดในหัวของเราจะเงียบเชียบหรือดังลั่นขนาดไหนนะ
สามารถทดลองอ่านนวนิยายอิตาเลียนเรื่อง “ความโดดเดี่ยวของจำนวนเฉพาะ – La solitudine dei numeri primi” << คลิก โดย Paolo Giordano แปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน