“เซิ่งคุงทิง” หรือ แกงเผือกปลาย่างมะเขือส้ม อาหารพื้นเมืองของ "ชาวกะเหรี่ยงโผล่ว (Pwo)" หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของไทย เป็นอาหารประเภทแกงรสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด มีวัตถุดิบสำคัญคือ “เผือก” ที่ให้รสหวานธรรมชาติ และ “มะเขือส้ม” หรือ “ดะบ่องซะ” ที่ให้รสหวานอมเปรี้ยว เป็นตัวช่วยประสานรสให้น้ำแกงมีรสชาติกลมกล่อม
เซิ่งคุงทิง เป็นเมนูที่ทำกินกันทั่วไปในครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว มักกินคู่กับ “ข้าวห่อ” หรือข้าวหุงสุกที่ห่อด้วยใบตองที่ภายในห่อข้าวจะประกอบด้วยข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายชนิดผสมกัน เช่น ข้าวลาย ข้าวเหลือง
นอกจากนี้ เซิ่งคุงทิง ยังเป็นเมนูสำคัญของพิธีกรรม “กินข้าวใหม่” ประเพณีที่สืบต่อกันมาของชนเผ่ากะเหรี่ยงจัดขึ้นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม โดยแต่ละบ้านจะนำข้าวใหม่หรือพืชผักที่ได้จากการเก็บเกี่ยวแรกมาประกอบอาหารเพื่อแลกเปลี่ยนกัน เสมือนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนในเผ่า และเป็นวิธีการแสดงความขอบคุณต่อบรรพบุรุษและธรรมชาติ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
กะเหรี่ยงโผล่วหรือกะเหรี่ยงโปว คือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันตกของจีน และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ อุทัยธานี ตาก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันกะเหรี่ยงโผล่วเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในไทย ที่มีประชากรเยอะเป็นอันดับสอง รองลงมาจากกลุ่มกะเหรี่ยงกาเกอะญอ
เรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการทำเมนู “เซิ่งคุงทิง” ได้ที่รายการ กินอยู่คือ ตอน กินแบบชาวกะเหรี่ยงโผล่ว คลิก
เชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นหูกับ “ผักกาดจอ” เมนูยอดนิยมในภาคเหนือของไทย และอาหารพื้นเมืองสไตล์ "ชาวไทใหญ่" ที่นำ “ผักกาดจ้อน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผักกวางตุ้ง” คัดเลือกมาเฉพาะส่วนดอกนำมาต้มเข้ากับเนื้อสัตว์ ชูรสด้วย มะเขือเทศ มะขามเปียก เกลือ จนได้น้ำซุปที่มีรสหวานอมเปรี้ยวและเค็มเล็กน้อย อาจมีการใส่ “ถั่วเน่า” ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม
อาหารของชาวไทใหญ่ โดดเด่นตรงที่การใช้วัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่น และมีวิธีการทำเรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยผักกาดจอเป็นอาหารที่ทำได้ง่าย สามารถทำกินได้ทุกฤดูกาล และจะนิยมมากในช่วงฤดูหาวเพราะช่วยให้อิ่มและอุ่นท้อง มักทำเป็นหม้อใหญ่ไว้แบ่งทานหลายมื้อ นอกจากนี้ยังทำขึ้นสำหรับงานจัดเลี้ยง และงานมงคลต่าง ๆ อีกด้วย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ไทใหญ่หรือไต กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ในทวีปเอเชีย ในไทยอาศัยกระจายอยู่บริเวณภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
เรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการทำเมนู “ผักกาดจอ” และวัฒนธรรมการกินของชาวไทใหญ่ ได้ที่รายการ กินอยู่คือ ตอน สูตรลับออนไลน์: ผักกาดจอ และเนื้อลุง คลิก
“น้ำพริกถั่วดิน” หรือ “น้ำพริกถั่วลิสง” อาหารท้องถิ่นของ "ชาวลัวะ" ที่มีวัตถุดิบสำคัญคือ “ถั่วลิสง” โดยเป็นการนำถั่วลิสงมาตำคู่กับพริก กระเทียม ผักล้อม ชูรสเค็มด่วยเกลือ กินคู่กับผักหลากชนิดที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น มะเขือ ขนุนอ่อน และหอมแย้
อาหารของชาวลัวะโดยทั่วไป มีวิธีการทำเรียบง่าย ส่วนใหญ่เน้นใช้ผักเป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหาร ไม่เน้นเนื้อสัตว์ อาหารส่วนมากมีรสเค็มเผ็ดจัดจ้าน และไม่นิยมรสหวาน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ชาวลัวะหรือะเวือะ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของลาว ในไทยกระจายตัวอยู่ในภาคเหนือของไทย เช่น จังหวัดน่าน เชียงใหม่ และเชียงราย
เรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการทำเมนู “น้ำพริกถั่วดิน” และวัฒนธรรมการกินของชาวลัวะ ได้ที่รายการ กินอยู่คือ ตอน อาหารพื้นบ้านชาวลัวะ คลิก
“ซว้าไก่” หรือ “ซั่วไก่” เมนูยอดฮิตทางภาคอีสาน และเป็นอาหารท้องถิ่นของ "ชนเผ่าภูไท" แต่ซว้าไก่ของชาวภูไทนั้นมีความพิเศษตรงที่จะใช้ไก่ดำภูพาน แทนไก่เนื้อทั่วไป และอีกหนึ่งวัตุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “ผักแพว” ที่ให้กลิ่นหอมและ รสชาติเผ็ดร้อน ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยขับลม ดีต่อสุขภาพ
ชาวภูไทมีความเชื่อว่าไก่เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความเสียสละ ซว้าไก่จึงเป็นเมนูที่จะทำกินกันเวลาไปมาหาสู่หรือมีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน เป็นเมนูที่จะทำกินเวลามีแขกมาบ้าน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ภูไท กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของลาว ในไทยากลุ่มผู้ไท กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดสกลนคร จังหวัดยโสธร
เรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการทำเมนู “ซว้าไก่” และวัฒนธรรมการกินของชาวภูไท ได้ที่รายการ กินอยู่คือ ตอน วัฒนธรรมอาหารชาวภูไท คลิก
“ฮัน แคน ซอย” หรืออีกชื่อหนึ่ง “ยำพริกสด” เมนูนี้เป็นเมนูท้องถิ่นของ "ชาวปะโอ" โดยคำว่า “ฮัน” หมายถึง “กับ” และคำว่า “แคน” หมายถึง “พริก” เกิดจากการนำผักสดที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ผักชีฝรั่ง ผักแพว ต้นหอม ใบขิงสด หอมแดง มะเขือเทศ ตะไคร้ พริก มาซอยให้ละเอียดและคลุกเคล้าเข้ากับ “ถั่วเน่าแผ่น” วัตถุดิบพื้นบ้านทางภาคเหนือทำให้ฮัน แคน ซอย มีรสชาติเผ็ดออกเค็มเล็กน้อยมีกลิ่นหอมสดชื่นของผัก
โดยทั่วไปแล้วอาหารของชาวปะโอมักเน้นใช้ผักตามฤดูกาล รวมถึงมีการใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหาร ฮัน แคน ซอย ก็เป็นหนึ่งในอาหารตามฤดูกาลของชาวปะโอนิยมทำกินในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่พืชผักเจริญงอกงามสามารถเก็บมาทำอาหารได้เยอะนั่นเอง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ปะโอ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ต่องสู่” คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา รวมถึงบริเวณภาคเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา
เรียนรู้วิธีการง่าย ๆ ในการทำเมนู “ฮัน แคน ซอย” และวัฒนธรรมการกินของชาวปะโอ ได้ที่รายการ กินอยู่คือ ตอน อาหารชาติพันธุ์ปะโอ คลิก