“โรงเรียนห่างไกล ครูขาด งบน้อย อุปกรณ์การสอนจำกัด เด็กยากจน” คือ ปัญหาที่ยังพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่เชียงราย อยู่อันดับต้นๆ ของภาคเหนือ
จะบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ให้จบได้อย่างไร กองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมธนาคารโอกาส และถนนครูเดิน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ณ โรงเรียนบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีคุณครูจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเครือข่ายกว่า 200 คนเข้าร่วม
ในงานยังมีการจัด เวทีเสวนาเพื่อเคลื่อนขบวนความร่วมมือ “All For Education - Education For All : การกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล” ระดมข้อเสนอจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเชื่อว่า การบริจาคสิ่งของในถนนครูเดินและคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง เป็นแค่การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักการศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. ระบุว่า การศึกษาไทย แม้จะมีการสร้างความเท่าเทียมในเรื่องทรัพยากร แต่กลับไม่เสมอภาคด้านการศึกษา ปัญหานี้พูดกันมานานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาพยายามแก้ด้วยการทำงบประมาณจากส่วนกลางโดยยึดค่าใช้จ่ายรายหัว แต่แนวทางนี้ไม่ได้แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กบนดอย หรือบนเกาะ
“คุณคิดว่า การศึกษาไทยคือระบบโรงเรียนที่มีแต่ความพร้อม แล้วก็จัดสรรเงินลงไปบนความขัดสน บนความเหลื่อมล้ำ เงิน 10 บาทของโรงเรียนขนาดใหญ่ กับ 10 บาทของโรงเรียนขนาดเล็ก ลองคิดดูว่า จะเกิดประสิทธิผลกับเด็กที่แตกต่างกันอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ควรกล่าวโทษโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้รับโอกาส แต่ต้องมองให้ทะลุว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีทั้งเด็กพิการ มีเด็กชาติพันธุ์ มีเด็กยากจน ครอบครัวมีรายได้ 3 – 4 พันบาทต่อเดือน และอีกสารพัดปัญหาที่จะทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา ดังนั้น เรื่องทรัพยากรจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและต้องเสมอภาคไปในเวลาเดียวกัน
“สิ่งนี้เป็นเรื่อง Communication for change ของสังคมไทย ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นเหลื่อมล้ำก็พูดกันอยู่นั่นแหล่ะ เรื่องค่าใช้จ่ายรายหัว พูดกันมาเป็น 10 ปี ไม่เคยได้รับการเปลี่ยนแปลงเลย ครั้งนี้ผมยืนยันว่า คอนเซ็ปท์ (แนวคิด) ชัดที่สุดแล้ว คือ ธนาคารโอกาส ถนนครูเดิน แต่โจทย์คือความเสมอภาคในเรื่องงบประมาณและทรัพยากร เราต้องผลักดันให้สำเร็จให้ได้”
การจัดสรรทรัพยากรให้เสมอภาคเป็นโจทย์ยาก แต่ ศ.ดร.สมพงษ์ มั่นใจว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ เพราะมีหลายฝ่ายช่วยกันทำงาน ทั้งองค์กรเอกชนอย่างมูลนิธิกระจกเงาที่เป็นตัวกลางในการจัดการทรัพยากรที่ได้รับบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพ มีไทยพีบีเอสที่เป็นช่องทางการสื่อสารช่วยเปลี่ยน Mindset ของสังคมว่า การศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของท้องถิ่น เรื่องของครอบครัว รวมทั้ง นักการเมือง ที่ต้องรับภาระและรับเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกัน
“เราจะสู้กับปัญหาเรื่องทรัพยากรอย่างไม่ลดละ และเราจะสู้จนกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณเพื่อการศึกษาที่เท่าเทียมและเสมอภาคให้ได้ เราสู้มา 5-6 ปี กว่าจะได้มติ ครม. เรื่องการศึกษาที่ยืดหยุ่น ช่วยเด็กดรอปเอาท์ ประมาณ 1,020,000 คนให้กลับสู่ระบบโรงเรียนได้ ถ้าเราทำเรื่องเด็กดรอปเอาท์สำเร็จ เราก็จะทำเรื่องนี้สำเร็จ"
การปลดล็อคให้ท้องถิ่นและภาคเอกชนสามารถเข้ามาช่วยจัดการศึกษาได้โดยตรง เป็นอีกประเด็นที่ ศ.ดร.สมพงษ์ ยืนยันว่า ต้องแก้กติกาให้เอื้อ เพราะที่ผ่านมามีเอกชนและท้องถิ่นอยากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่ติดที่ระเบียบกฎหมาย จะทำยังไงให้กระทรวงศึกษาปลดล็อคเรื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ แล้วให้ภาคเอกชนและท้องถิ่นเข้ามาช่วย ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องความถูกต้อง ความโปร่งใส
“เราจะปลดล็อคระเบียบอย่างไร เอกชนถ้าเขามั่นใจว่าคุณชี้เป้าแม่น คุณจัดการเงินที่บริจาคโปร่งใส แล้วมันเกิดเห็นการเปลี่ยนแปลงกับตัวเด็ก เขาเต็มที่กับเราเลย สภาหอการค้าเป็นตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มกลับมามองจังหวัดตัวเอง”
ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาครูและสถานศึกษา กสศ. เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ปีการศึกษา 2566 ในมิติด้านความยากจน (ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาท) พบว่ามีเด็กยากจน 1,222,998 คน (14.51%) จากนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย 8,430733 คน หรือเทียบได้ว่า เด็ก 10 คน จะเป็นเด็กยากจนคนครึ่ง
จังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษ (ครัวเรือนมีรายได้รวมเฉลี่ย ไม่ถึง 3,000 บาท/เดือน) มากที่สุดในประเทศ คือ อุบลราชธานี 76,947 คน น้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 133 คน เชียงรายติดอันดับที่ 20 มี 25,314 คน (จาก 160,204คน) แต่ถ้าเทียบเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ อยู่อันดับ 3 รองจากจังหวัดเชียงใหม่และตาก
“ถ้ามองจากมิติการเข้าถึงการศึกษา พบว่า อำเภอแม่สรวย ที่มีเด็กยากจนมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย 12,297 คน กลับมีโรงเรียนที่สอนถึง ม.6 แค่ 2 แห่ง ลองคิดถึงสภาพการเดินทางที่ห่างไกลสำหรับเด็กที่ต้องไปเรียนชั้น ม.ปลาย เด็กเหล่านี้จะมีโอกาสมากแค่ไหน ขณะที่โรงเรียน ม.ปลาย ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงราย”
ส่วนอาชีวะศึกษา ที่เป็นทางออกหนึ่งของการยุติความยากจนโดยเร็ว พบว่า มีแค่ 8 แห่ง ขณะที่ระดับอุดมศึกษา ก็มีแค่ 8 แห่ง จำนวน 6 แห่ง กระจุกตัวอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงราย
มิติด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในโรงเรียน เช่น การเรียนออนไลน์ พบว่า มีโรงเรียนมากถึง 8 แห่งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวนครูต่อห้องเรียน พบว่า หลายพื้นที่มีปัญหาครูไม่พอต่อห้องเรียน ขณะที่เด็กนอกระบบการศึกษา มากถึง 24,081 คน
ด้าน ยุทธพงษ์ สุยะ ครูโรงเรียนบ้านปางมะหัน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร่วมสะท้อนสภาพปัญหาในพื้นที่ ระบุว่า ตอนขึ้นมาสอนครั้งแรก ปี 2561 พบที่นี่มีปัญหาอุปกรณ์ขาดแคลน เช่น โนตบุ๊ค ต้องนำของตัวเองมาใช้งาน บางครั้งก็เจอไฟดับนานถึง 4 วัน ขณะที่รถยนต์ก็ต้องใช้ของตัวเองมาใช้งานที่โรงเรียน ส่วนเด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ยากจน
“การขึ้นมาทำงานบนที่สูง ครูทุกคนมีภาระ มีต้นทุนที่สูงเช่นเดียวกัน ดูแลจิปาถะ และดูแลเด็กด้วย สุดท้ายเงินเดือนไม่เหลือ ก็ต้องพึ่งพาเงินกู้”
ครูยุทธพงษ์ เล่าว่า อาคารเรียนพังก็ต้องซ่อมแซมเอง เพราะหลายครั้งรองบประมาณไม่ไหว เช่น ฝ้าห้องเรียนพัง ก็ต้องซ่อมเองก่อน เพราะถ้าปล่อยไว้รองบประมาณมาถึงค่อยซ่อม ก็อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก และยังมีปัญหาครูไม่พอช่วงที่ครูย้ายไปที่อื่น และกระทรวงหาครูคนใหม่มาแทนไม่ทัน ทำให้เหลือครูน้อยลงอยู่เป็นปี จึงอยากให้มีสวัสดิการที่เหมาะสมกับครูบนพื้นที่สูง ที่อาจแตกต่างจากครูในพื้นที่ราบทั่วไป เพราะครูบนพื้นที่สูงมีภาระที่ต้องรับผิดชอบที่ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าครูทั่วไป
“ถ้าในอนาคตมีแรงจูงใจให้ครูบนพื้นที่สูง ให้เขารู้สึกว่ามาอยู่แล้ว เขาไม่ขาด เขามีความสุข คิดว่าเขาน่าจะอยู่กับเด็กไปอีกนาน”
ขณะที่ เชิดชาย ลาชี นายกองค์บริหารส่วนตำบลเทิดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สะท้อนว่า ข้อระเบียบทางการเงินเป็นข้อจำกัดทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ๆ ขาดแคลนได้ แม้จะอยากช่วย แต่ก็ติดที่ระเบียบ จึงอยากให้ ส.ส. ช่วยผลักดันให้มีการปลดล็อคเรื่องนี้
“บางครั้งเราก็อยากจะช่วยเต็มที่ เพราะเด็กจะได้ไม่มีปัญหา อย่างช่วงที่ผ่านมา พายุเข้า ศูนย์การเรียนรู้ได้รับความเสียหาย ครูก็มาหาให้ช่วย แต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร”
เทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตอนนี้กำลังยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีหลักคิดสำคัญคือ กฎหมายแม่บททางการศึกษาฉบับนี้ จะต้องตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศ
วันนี้ มองเห็นปัญหามี 2 ระดับ คือในระดับชาติ และระดับพื้นที่ๆ มีปัญหาเฉพาะของตนเอง เช่น งบประมาณในบางเรื่องที่ต้องมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะความเป็นพื้นที่พิเศษ ดังนั้น กฎหมายแม่บทที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องมีการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้ด้วย ทั้งเรื่องงบประมาณ ครู ไปจนถึงอุปกรณ์การสอน
“จะนำประเด็นเหล่านี้ไปพูดในสภา เพื่อให้ทางสมาชิกได้รับทราบว่า ยังมีปัญหาเชิงพื้นที่ลักษณะนี้อยู่ และหลายเรื่องเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพราะถือเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล”
ส่วนปัญหาเด็กหลุดนอกระบบของจังหวัดเชียงรายที่มีมากถึง 24,081 คน นอกจากจะต้องหาต้นเหตุให้เจอแล้ว ก็จะต้องทำให้งบประมาณได้เข้าไปถึงห้องเรียนอย่างทั่วถึงเพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยจะนำประเด็นนี้ไปหารือกับ สพฐ. ในคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ถึงต้นเหตุ
ด้าน จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มองเรื่องความมั่นคงที่แตกต่างจากเดิม โดยมองเพิ่มไปถึงความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่ชายแดน ที่ต้องควบคู่ไปกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ในเรื่องการศึกษา พบว่า แม้แต่ละพื้นที่ชายแดนมีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดปัญหาก็มาจากระบบโครงสร้างการศึกษาของประเทศ
“ต้องพูดตรงๆ ว่า มันทำให้มีผลต่อผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในระดับผู้บริหาร ไปจนถึงระดับปฏิบัติ ครู ดังนั้น จึงต้องแก้ที่ระบบโครงสร้าง แต่แน่นอนว่าต้องใช้เวลา”
ในเรื่องการศึกษาชายแดน เป็นประเด็นที่กำลังคุยกันในกรรมาธิการ เพราะมีความซับซ้อนกว่าในพื้นที่ทั่วไป ทั้งการเป็นพื้นที่ห่างไกล ครูต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น การทำงานก็คงต้องร่วมกับ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เกิดการแก้ไขได้อย่างแท้จริง
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ระบุว่า ได้ให้ทั้งภาคเอกชนและท้องถิ่นร่วมออกแบบเนื้อหาด้วย รวมถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะยืนยันว่า ไม่มีใครเข้าใจพื้นที่เท่ากับคนในพื้นที่เอง ดังนั้น ต้องให้ท้องถิ่นสามารถจัดการในพื้นที่ตนเองได้ เนื้อหานี้จะอยู่ในร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่า จะได้เข้าพิจารณาในสภาฯ ช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
“ในเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่จะเข้าไปส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล นายกเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ก็จะดันเรื่องนี้ในร่างฉบับของพรรคเพื่อไทยด้วย”
นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีเนื้อหาในเรื่องการศึกษาอยู่ด้วย โดยจะใช้แกนหลักด้านการศึกษาของส่วนกลาง และเพิ่มเติมการส่งเสริมปกป้องอัตลักษณ์และภาษาของคนในท้องถิ่นครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการทำงานของท้องถิ่นไม่ให้เข้าช่วยเหลือโรงเรียนหรือชุมชนได้เต็มที่ ก็เป็นอีกประเด็นที่ ส.ส.เชียงรายทั้ง 7 คน จะต้องมีการหารือ และอภิปราย หรืออาจใช้กลไกของคณะกรรมาธิการฯ มาช่วยผลักดันอีกทาง แต่ที่ทำได้ทันที คือ การเชิญภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดมาคุยถึงแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากร เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ของเชียงราย
เครดิตภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)