“ทุกวันนี้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แทบจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต จะเห็นได้ว่าทุกคนก้มมองจอตลอดเวลา ซึ่งการจ้องจอสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ต่อเนื่องมีความเสี่ยงเป็นโรคสมาร์ทโฟนซินโดรม ทั้งอาการสมาธิสั้น ปวดตา ตาแห้ง ตาแดงช้ำ ปวดหัว วิงเวียน ปวดข้อมือและนิ้วมือ มีความเครียดสะสม เพราะได้รับข้อมูลมากเกินจำเป็น นิ้วล็อคซึมเศร้าวิตกกังวล ปวดกระดูก คอ บ่า อ่อนเพลีย ระบบการเรียนรู้แย่ลงจากการพักผ่อนน้อย ที่สำคัญโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงทุกวัย”
บุศราพร จงเจริญถาวรกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคสมาร์ทโฟนซินโดรม มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือ ย่อมผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อในการเลี้ยงลูก โดยไม่ทันคิดว่าในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ผลเสียจากการที่เด็กติดมือถือ แท็บเล็ต คือ สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว นอนหลับยากขึ้น คุณภาพการนอนลดล การเรียนรู้ลดลง ความคิดสร้างสรรค์น้อยลง ตื่นสาย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
“โลกของเด็กๆ ในแต่ละวันรอบตัวมีสิ่งน่าสนใจให้เรียนรู้มากกว่าโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมการใช้งานจำกัดเวลาไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน และควรให้เริ่มใช้เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 ปี หรือหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ”
การเจ็บป่วยทางร่างกาย มีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างจำนวนมากที่พบว่า เด็กที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องมักมีการเจ็บป่วยทางร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้สายตาจับจ้องไปที่หน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลาทำให้มีอาการแสบหรือปวดตาจนลืมตาไม่ขึ้น ตาแห้งทำให้น้ำตาไหลและกระพริบตาบ่อย สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน ในระยะยาวอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงเสียโอกาสในการเข้าเรียนเพื่อประกอบอาชีพในฝันที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับความผิดปกติในการใช้สายตา เช่น นักเรียนการบิน หรือนักเรียนเตรียมทหาร
นอกจากนี้ เมื่อเด็กๆ ต้องนั่งอยู่กับที่เพื่อจดจ่อไปที่หน้าจอเป็นเวลานานทำให้ตกอยู่ในภาวะความเครียดได้ โดยอาจมีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนเพลียเป็นประจำ รู้สึกเกร็งหรือเมื่อยล้า มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณคอและแผ่นหลัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการผิดปกติที่กระดูกสันหลังจากการนั่งผิดท่าทางและไม่มีการผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบท เนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกโดยเฉพาะในเด็กเล็กยังเติบโตไม่เต็มที่และไม่แข็งแรงเพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายโดยรวมของเด็ก
การเจ็บป่วยทางอารมณ์ โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันเป็นศูนย์รวมเทคโนลียีที่เน้นความรวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อบันเทิงสามารถทำได้ภายในไม่กี่วินาที ทำให้เด็กคุ้นเคยและคาดหวังให้คนรอบตัวตอบสนองความต้องการของตัวเองให้รวดเร็วเหมือนเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ แต่ในโลกความเป็นจริงเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความซับซ้อนในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว และการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้นมักต้องใช้ความอดทน ความพยายามและการรอคอยมากกว่าการจิ้มปลายนิ้วลงบนหน้าจอ เด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือจึงมักมีปัญหาทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น ขาดความอดทน ไม่รู้จักรอคอย ส่งผลต่อการมีพฤติกรรมก้าวราว เครียดและวิตกกังวล หรือซึมเศร้า เนื่องจากหลายสิ่งในชีวิตจริงไม่ได้รับการตอบสนองรวดเร็วดังที่ใจต้องการ
นอกจากนี้ เด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือยังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการของโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) เนื่องจากสมองถูกสีสันสดใส ภาพและแสงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในจอภาพเร้าให้เกิดความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา จนสมองเกิดความเคยชินต่อสิ่งเร้าและมีปัญหาเมื่อต้องดำเนินกิจกรรมในชีวิตตามปกติ เช่น เข้าชั้นเรียน อ่านหนังสือ หรือทำงานบ้าน เด็กจะไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน ไม่สนใจใส่ใจรายละเอียดของสิ่งรอบตัว หรือไม่สามารถนั่งอยู่เฉยได้ ซึ่งเมื่อมีลักษณะอาการดังกล่าวหากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลเสียอย่างมากต่อพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว
การเจ็บป่วยทางสังคม โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนนั้นเป็นเพียงโลกเสมือนสำหรับเด็กได้ค้นหาและลองผิดลองถูกด้วยตนเอง โดยพื้นฐานแล้ววัยเด็กที่กำลังเติบโตจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว เพื่อเรียนรู้ถึงการตอบสนองต่ออารมณ์ สีหน้า แววตา ท่าทาง การแสดงออกและความคาดหวังจากบุคคลอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบทบาท ตัวตนและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม
การติดโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนสำคัญในการแยกตัวเด็กออกจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง เนื่องจากเมื่อมีโทรศัพท์มือถือเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าและชื่นชอบมากกว่า เด็กจึงไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นซึ่งยิ่งทำให้การเข้าสังคมเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งไม่สนใจการเรียน ไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆรอบตัว บางรายอาจมีโลกส่วนตัวสูงหรือคบหาเฉพาะเพื่อนในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมเลียนแบบที่ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
“โทรศัพท์มือถือมีข้อดีมากมาย ใช้ติดต่อสื่อสารทางไกลได้สะดวกรวดเร็ว นอกจากการสื่อสารในแต่ละวันยังเป็นอุปกรณ์เครื่องมือทำงานแทนคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย แต่หากไม่ควบคุมการใช้งาน โทรศัพท์มือถือก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวด้วยเช่นกัน”
บุศราพร กล่าวว่า ความเชื่อว่าการจ้องจอโทรศัพท์มือถือ มีอันตรายต่อดวงตาในแง่ความร้อนและรังสีจากโทรศัพท์มือถือขณะกำลังใช้งานหน้าจอ อาจกล่าวได้ว่ามีอันตรายน้อยมาก เนื่องจากขณะใช้งาน เราถือโทรศัพท์ไว้ที่ระยะการมองชัด โดยอยู่ห่างจากศีรษะและดวงตาประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งห่างมากพอที่พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นและพลังงานจากรังสีในย่านความ ถี่ไมโครเวฟที่มีกำลังส่งต่ำอยู่แล้ว จะส่งกระทบต่อตาค่อนข้างน้อย จากข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือมีผลทำให้เกิดโรคทางตาที่มีผลต่อการสูญเสียการมองเห็น
นอกจากนี้ อาการต่าง ๆ ที่พบได้แก่ การปวดล้า ตาพร่า ปรับระยะภาพไม่ชัด แสบตา ตาแห้ง อาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลจากการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับการใช้สายตาทั่วไป ไม่เฉพาะกับการมองจอโทรศัพท์มือถือเท่านั้น อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ใช้ การเพ่งมอง ระดับการมองเห็นของแต่ละคน ความผิดปกติของค่าสายตาที่มีอยู่เดิม ความสว่างของหน้าจอ ขนาดของหน้าจอ ระยะเวลาหรือความถี่ในการใช้งานผ่านหน้าจอโทรศัพท์