
เราได้ยินข่าวนักร้อง ดารา หลายคนฆ่าตัวตาย ทำให้เราเริ่มรู้ว่า โรคซึมเศร้าอันตรายและใกล้ตัวกว่าที่คิด คลินิกวัยรุ่นของหมอ เราพบวัยรุ่นซึมเศร้าเยอะขึ้นมาก ความชุกจากรายงานพบว่ามีสูงถึง 10-20% หลายคนได้รับความช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ แต่หลายคนก็ยังถูกขังไว้ด้วยความเชื่อ
...“คิดไปเอง”
...“เพราะอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง”
...“ชีวิตก็ไม่เห็นมีอะไรจะเศร้าไปทำไมนัก”
...“คงแค่เรียกร้องความสนใจ”
...“ไปบวชเดี๋ยวก็ดีขึ้น”
...“จะไปพบจิตแพทย์ทำไม ไม่ได้เป็นบ้านะ”
...“กินยาทำไม เดี๋ยวสมองก็ไปหมด”
ทั้งปัญหาจากบ้านที่ไม่มีความสุข ทุกข์จากการแบบรับความคาดหวัง ปัญหาเศรษฐกิจ โรงเรียน เพื่อน คนรัก การโดนล้อ แกล้ง รังแก การเสพสื่อ เล่นโซเชียล ที่ทำให้เกิดความเครียดจากการเปรียบเทียบ เราแตกต่าง... ดีไม่เท่า... สวยไม่พอ... ไม่เก่งเหมือนใคร ในวัยที่กำลังสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ที่สำคัญซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากสารสื่อประสาทในสมองที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากยีนส์ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน หรือไม่มีสาเหตุแน่ชัด... จาก “อะไรก็ไม่รู้” ที่หลาย ๆ อย่างบังเอิญมามีผลต่อกัน
หมอชอบบอกคนไข้ที่ไม่อยากรักษาเพราะโตมากับชุดความเชื่อ ว่าเปรียบได้เหมือนคนเรามีน้ำในเข่า (สารสื่อประสาท) ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมามีเยอะ บางคนเกิดมามีน้อย คนที่มีน้อยวันไหนที่ต้องเดินขึ้นเขาแห่งอุปสรรค ก็อาจจะเกิดอาการเจ็บเข่าเดินไม่ไหว หรือบางคนแค่เดินวันธรรมดา ๆ ก็ไปต่อไปไม่ได้ เพราะน้ำในเข่าไม่สมดุลเอามาก ๆ
การพบแพทย์เพื่อหาวิธี “สร้างสมดุล” ของน้ำในเข่า (สารสื่อประสาท) ทั้งการกินยา ทำจิตบำบัด การฝึกวิธีคิด การออกกำลัง การฝึกสติ ฯลฯ เป็นวิธีที่ทำให้คนที่มีโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ การทำความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าของคนรอบข้าง มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือ อย่ามองคนเหล่านี้ด้วยการตั้งคำถาม
...“ทำไมไม่ออกไปไหนล่ะจะได้ดีขึ้น”
...“ไม่ได้เศร้าอะไรหรอกเห็นเล่นเกมได้ทั้งวัน”
...“จะคิดมากทำไม เรื่องแค่นี้เอง”
การตั้งคำถามที่ไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจ
โรคซึมเศร้าคือ “เรื่องจริง”
โรคซึมเศร้า “เป็นอันตรายถึงชีวิต”
แต่โรคซึมเศร้าเป็นโรค “รักษาได้”
และหลาย ๆ พฤติกรรมที่เรามองเห็น อาจเป็นสิ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้าพยายามเป็น... แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ตัวเค้าเลย
ไม่มีใครอยากป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เหมือนที่ใครก็ไม่ได้อยากเป็นมะเร็ง แต่มันเกิดกับใครก็ได้ ไม่ว่าเค้าจะมีชีวิตที่ดีอยู่แค่ไหน
การช่วยเหลือคือการรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสิน ทำให้เค้ารู้ว่ายังมีคนที่ห่วงใย และรีบพาพบแพทย์เพื่อช่วยการทำงานของสมอง จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่ถ้าสุดท้ายใครจะรู้สึกว่าไม่ไหว... เราก็อาจทำได้แค่เคารพการตัดสินใจ...โดยไม่ต้องไปพิพากษาตัดสินใคร เพราะเรา... ก็ไม่อาจเข้าใจชีวิตใครได้อย่างแท้จริง
บทความโดย
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของแฟนเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน