
คำตอบ: โดยปกติแล้ว เด็กที่มักจะพูดโอ้อวดตัวเองและข่มคนอื่น มักจะมีสาเหตุมาจากต้นตอสองประการ
(1) เด็กต้องการความสนใจและการยอมรับ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักพบในเด็กที่ผู้เลี้ยงดูหลักอาจจะไม่มีเวลาคุณภาพให้ หรือ มักจะมีพี่น้องและตนเองรู้สึกด้อยกว่าพี่หรือน้องของตน
(2) เขาไม่มั่นใจว่าตนเองนั้นดีพอและกลัวว่าผู้อื่นไม่รับรู้ถึงคุณค่าของตน จึงพยายามพูดว่าตนเองนั้นดีหรือเก่งเพียงใด เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักจะมีทักษะที่อาจจะต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกับเขา
(3) เด็กเติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าความพยายาม (ผลแพ้ชนะสำคัญกว่าการได้เรียนรู้หรือความสนุกระหว่างทาง) ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักจะถูกกดดันและคาดหวังสูงจากครอบครัว ดังนั้นเด็กจะหวั่นการประเมิน และมักจะข่มผู้อื่น เมื่อเขาทำได้ดีกว่า
ดังนั้น เด็กที่ไปพูดข่มคนอื่น หรือ มักจะโอ้อวดเกี่ยวกับตนเอง เป็นเด็กที่น่าเห็นใจ เขาไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่า “ข้างใจของเขานั้นเปราะบาง”
สำหรับลูกคุณแม่ที่มีเพื่อนมาพูดโอ้อวดหรือในเชิงข่ม เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ได้ แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกของเราได้ ดังนี้
“อ่านหนังสือนิทาน เล่นกับลูก ทำงานบ้านด้วยกัน สัมผัสกันทั้งกายใจ และเคียงข้างยามเผชิญปัญหา” เพื่อเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” และ ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขาเป็น “ลูกที่มีอยู่จริง” สำหรับเราด้วย ขั้นนี้หากเราเติมเต็มให้ลูกได้ “ฐานทางใจของลูกจะแข็งแรงมั่นคง”
คุณค่าขั้นแรกในชีวิตของมนุษย์เรา (0-3 ปีแรก) เริ่มต้นจากการที่เขาเป็นที่ต้องการและเป็นที่รักของพ่อแม่หรือใครสักคน เขาร้องไห้มีคนปลอบประโลม หิวมีนมให้กิน หนาวก็มีคนอุ้มกอด ไม่สบายมีคนดูแล
ดังนั้น อย่ากลัวที่จะต้องอุ้มให้มาก กอดให้เยอะ และเล่นให้เต็มที่ เพราะไม่มีคำว่ามากไปสำหรับวัยนี้
ในวัยที่ลูกเริ่มตั้งไข่ คลาน ไปจนถึงหัดเดิน พ่อแม่ไม่ควรปกป้องลูกจนเกินไป เพราะจะทำให้ความวิตกกังวลของเราส่งผลต่อความกล้าของลูกในการลองสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตของเขา เช่น
การให้ลูกเดินเองเมื่อเดินได้ โดยไม่อุ้มเขา
การให้ลูกวิ่งเล่นให้เต็มที่ ล้มบ้างก็ไม่เป็นไร
การให้ลูกปีนป่ายต้นไม้ เครื่องเล่นบ้าง เพราะยิ่งเขาได้ทดสอบร่างกายมากเท่าไหร่ ลูกยิ่งรับรู้ถึงความสามารถทางกายมากขึ้นเท่านั้น
ได้แก่ กินข้าว (เริ่มได้ตั้งแต่ 8 เดือน หยิบจับกินเอง) อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า เก็บของเล่น ตื่นนอน เข้านอน เข้าห้องน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ซึ่งเด็กวัย 6 ปีควรทำได้ทั้งหมดด้วยตนเอง
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีตามวัย จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งนำไปสู่ “การรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ”
เมื่อ "ดูแลร่างกายได้" เท่ากับ "ควบคุมร่างกายของฉันได้”
ต่อมา “ควบคุมร่างกายได้” เท่ากับ “ควบคุมการกระทำและความคิดได้”
เด็กจะมีความมั่นใจในตนเองเมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองได้
เมื่อเขาดูแลร่างกายและพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว เราควรสอนให้เขาดูแลพื้นที่ส่วนรวมด้วย
“งานบ้าน” เป็นงานแรกในชีวิตที่เด็กจะได้เรียนรู้การทำอะไรเพื่อผู้อื่น โดยผู้อื่นในที่นี้ คือ ครอบครัวที่เขารัก
คุณค่าจากการทำงานบ้าน นอกจากทำให้ร่างกายและจิตใจของเขาแข็งแรงแล้ว เด็กยังได้รับการยืนยันคุณค่าจากผู้อื่น เมื่อทำงานบ้านเสร็จ เช่น เมื่อเด็กถูพื้น ทุกคนในบ้านได้ใช้ห้องที่สะอาดอย่างมีความสุข เด็กได้รับความสุขจากการได้เห็นผู้อื่นมีความสุข
คุณค่าที่ผู้อื่นยืนยันให้กับตัวเขา จะก่อเกิดเป็นคุณค่าจากภายใน ในอนาคตเขาจะไม่จำเป็นต้องมีใครมายืนยันคุณค่าในตัวเขาอีก เพราะเขารับรู้แล้วว่า “ตัวเขามีคุณค่าอย่างแท้จริง”
เมื่อเราสอนลูกตั้งแต่พื้นฐานการช่วยเหลือตัวเอง และวินัยต่าง ๆ อย่างหมดจนตั้งแต่วัย 0-7 ปี หลังจากนี้คือ “ตัวตนของลูก” ที่พัฒนาจากตัวเขาหลอมรวมกับสิ่งที่เราสอน ช่วงนี้ในฐานะพ่อแม่ เราควรยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น และสนับสนุนเขาตามความสามารถของเรา
ดังนั้น ก่อนวัย 6 ปี พ่อแม่ควรปูพื้นฐานเรื่อง
(1) ความสัมพันธ์กับลูกให้แน่นแฟ้น
(2) วินัยและความรับผิดชอบให้ชัดเจน
(3) กฎ 3 ข้อที่ไม่ควรละเมิด ได้แก่ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ
เมื่อพ้นวัยดังกล่าวแล้ว เราควรเคียงข้างสนับสนุนลูก และประคับประคองเขาไปเรื่อย ๆ
พ่อแม่สามารถยืนยันตามความเป็นจริง หรือ เคียงข้างลูกเพื่อหาคำตอบไปกับเขา
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ เด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย และรับผิดชอบต่อหน้าที่ (งานบ้าน) ตั้งแต่เล็ก จะสามารถพัฒนาการสร้างตัวตน ค้นหาความสุข และค้นพบคุณค่าในตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น
สรุปคำถามที่คุณแม่ถามว่า “เด็กผู้หญิงจะรู้สึกด้อยกว่าไหมคะ ถ้าเพื่อนมาพูดโอ้อวดตัวเองเพื่อข่มเด็กหญิง”
คำตอบ คือ “เด็กหญิงอาจจะรู้สึกไม่ดีที่เด็กชายพูดกับเธอเช่นนั้น แต่คำพูดของเด็กชายจะไม่สามารถทำให้เธอเคลือบแคลงในตัวเธอเองได้ เพราะถ้าหากเด็กหญิงมั่นใจในความสามารถของตนเอง จากการรับรู้ว่าเธอมีความสามารถอยู่จริงผ่านการลงมือทำ (ขั้นที่ 1-5) ตลอดเวลาที่ผ่านมา”
แต่ถ้าเด็กหญิงไม่มั่นใจและเชื่อตามคำของเด็กชาย เราสามารถกลับไปทบทวนของลูกได้เสมอว่า “ลูกเป็นเช่นที่เด็กชายว่าจริง ๆ ไหม” ถ้าใช่ เราสามารถช่วยให้ลูกฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้ทำได้ หรือ หาสิ่งที่ลูกถนัดเป็นส่วนที่สร้างความมั่นใจให้กับเขาได้ อย่าลืมว่า “เด็กทุกคนแตกต่างกัน ลูกเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แต่ขอแค่เขามีความสุขและสามารถดูแลตนเองได้ โดยที่สิ่งที่เขาทำต้องไม่เดือดร้อนใคร"
แข็งแกร่ง แต่ไม่ใช่แข็งกร้าว
อ่อนโยน แต่ไม่ใช่อ่อนแอ
กล้าหาญ แต่ไม่ต้องโอ้อวด
มั่นใจ แต่ต้องไม่ดูถูกใคร
คุณค่าไม่ได้วัดจากการที่เรามีมากหรือน้อยกว่าใคร แต่เกิดจากการรับรู้ว่า “เรามีอะไร” และยิ่งสิ่งนั้นถ้าเราสามารถเผื่อแผ่ได้ จะเป็นสร้างคุณค่าที่ไม่มีวันหมดสิ้น
บทความโดย
เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของแฟนเพจตามใจนักจิตวิทยา