
หากปราศจากซึ่งเวลาคุณภาพ สายสัมพันธ์ย่อมไม่มี และพ่อแม่ย่อมไม่มีอยู่จริง จะสอน จะพูด จะสัญญาอะไร เด็กอาจจะไม่อยากฟังหรือไม่ฟัง เพราะคนพูดยังไม่มีอยู่จริงเลย (ไม่มีอยู่จริงในที่นี้ คือ มาๆ หายๆ ไม่ได้อยู่ในเวลาที่เขาต้องการ ในช่วงวัย 0-6 ปี) นอกจากนี้ สายสัมพันธ์ ส่งผลต่อพัฒนาการขั้นแรกในชีวิตของเด็กทุกคน หากปราศจากซึ่งบันไดขั้นแรกหรือมีบันไดขั้นแรกที่คลอนแคลน ผลที่จะตามมากับบันไดขั้นอื่นๆ ย่อมไม่มั่นคงอย่างแน่นอน
ข้อที่ 1 จึงเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่มักเกิดจากพ่อแม่ไม่มีเวลาคุณภาพให้เขา
1. “เวลาคุณภาพ” จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู
2. “วินัย” จากการที่บ้านมีตารางเวลาชัดเจน ให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย และทำงานบ้าน เพื่อให้เด็กเรียงลำดับความสำคัญ และอดทนรอคอยได้
3. “การเล่น” จากการเล่นอิสระตามวัย เล่นกับธรรมชาติ เล่นดิน เล่นทราย เล่นกับพ่อแม่
4. “การอ่าน” จากการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง หรือ เมื่อโตขึ้นก็สามารถเลือกอ่านหนังสือตามวัยของเขา
5. “ความผิดหวัง” ให้เขาแพ้บาง ผิดหวังบ้างก็ได้ ไม่ต้องทำให้เขาสมปรารถนาไปเสียทุกอย่าง สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เขา
6. “พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่มีความสุข” หากอยากให้ลูกมีความสุข สุขภาพจิตดี ผู้เลี้ยงดูเขาควรเช่นนั้นก่อน ดังนั้นหาเวลาดูแลกายใจของเราด้วย
“ถ้าลูกเราเป็นเด็กปกติดี ขอให้เชื่อมั่นว่า "เมื่อเขาพร้อม และถึงวัยที่เขาจะทำได้ เขาจะนำสิ่งที่เราสอนมาใช้งาน และแสดงให้เราเห็น”
คุณแม่ท่านหนึ่งบอกว่า สอนเรื่องกติกาลูกไปตั้งนาน วันดีคืนดีตอนเขาเข้าโรงเรียน เขานึกจะทำได้ ก็ทำได้เสียอย่างนั้น
แต่ถ้าไม่สอนอะไรให้ลูกเลยวันนี้ ยังไงก็ไม่มีดอกผลแน่นอน
ทั้งนี้ ถ้าหากเราสงสัยว่า ลูกมีบางอย่างที่เขาไม่สามารถเรียนรู้ได้ตามวัยเหมือนเด็กทั่วไป ปรึกษาแพทย์พัฒนาการหรือนักจิตวิทยาเด็กได้เสมอ
ถ้าลูกเสียงดัง ให้เราเสียงเบา
ถ้าลูกอาละวาด ให้เราพาเขาสงบ
ถ้าลูกร้องไห้ ให้เรากอดเขา
ถ้าลูกทำร้าย ให้เรากอดเขาให้แน่น บอกสั้นๆ “ไม่ทำ”
ถ้าลูกไม่พร้อม ให้เรารอเขา
ถ้าลูกพร้อม แต่ถ้าเรายังไม่พร้อม ให้เรารอตัวเองพร้อมก่อน
ถ้าลูกพร้อม เราพร้อม ให้สอนเขาได้
ถ้าลูกทำผิด ให้เราสอนเขา ไม่ใช่ลงโทษเขา
ถ้าลูกบอกไม่รัก ให้เวลากับเขามากขึ้น เล่น อ่านนิทาน ทำงานบ้าน นอนกอดกัน บอกรักทุกวัน
(พอเป็นแนวคิดโดยสังเขปให้คุณพ่อคุณแม่นะคะ)
อย่ากดดันหรือใจร้ายกับตัวเองจนเกินไป ผ่อนคลายบ้าง ไร้สาระบ้างเป็นบางวัน ลูกๆ ไม่เสื่อมศรัทธากับเราหรอก
ทำเต็มที่แล้ว ปล่อยวางบ้างก็ได้
อย่าเก็บคำพูดคนอื่นมาทำร้ายตัวเราเอง
ฟังเสียงเรา ฟังเสียงลูก ฟังเสียงคนที่เรารัก พอแล้ว
อย่าลืมว่า พ่อแม่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ในวันที่เราไม่ไหว ไม่เป็นไรที่จะขอความช่วยเหลือ
และลูกส่วนใหญ่ต้อง “พ่อแม่ที่มีความสุข ไม่ใช่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ”
เช่นเดียวกัน พ่อแม่ก็ไม่ควรคาดหวังให้ลูกต้องสมบูรณ์แบบ เพราะขอแค่เขาเติบโตเป็นตัวเขาเองที่มีความสุขก็เพียงพอแล้ว
บทความโดย
เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของแฟนเพจตามใจนักจิตวิทยา