
พ่อแม่มักห้ามลูกวัยเตาะแตะมากกว่าทุกๆวัย อาจเพราะเด็กวัยนี้ยังไร้เดียงสามาก แต่รู้มั้ยว่า การห้ามลูกบ่อยๆ นอกจากลูกจะต่อต้านเอาแต่ใจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สายใยสมองถูกตัดขาดบ่อยๆด้วย เด็กเพิ่งลืมตาดูโลกได้ปีกว่าๆ สมองเขาไม่ได้เตรียมมาเพื่อถูกห้ามนะคะ จริงๆแล้วเซลประสาทมากมายของเด็กถูกสร้างมาให้ “เรียนรู้” เพื่อที่จะเก่งขึ้นค่ะ
วัยนี้ เด็กต้องการพัฒนาหลายอย่าง ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร คือ การฟังและการพูด ทักษะการใช้มือแก้ปัญหาต่างๆทั้งการเล่น การช่วยเหลือตนเอง และงานบ้านเล็กๆน้อยๆ ต้องการพัฒนาร่างกายให้เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ไม่หกล้มง่าย ไม่ขี้กลัว รู้จักใช้ร่างกายอย่างอิสระตามวัย เพื่อความมั่นใจ
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรใช้เวลา “สร้างลูก” มากกว่า ขัดลูก... ใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับเขานะคะ ให้ลูกเห็นและ “เลียนแบบ” สิ่งที่พ่อแม่ทำหรือสอน.. ฝึกทำทีละเล็กละน้อย ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ขอแค่โอกาสลงมือทำตาม...พยายามอธิบายช้าๆชัดๆ เน้นภาษากายมากๆ ลูกจะได้ฝึกตีความสิ่งที่พ่อแม่พูด เกิดเป็นความเข้าใจภาษา และยังได้เลียนแบบคำพูดตามที่ได้ยิน ทีละคำ สองคำ เป็นวลี จนเป็นประโยคในที่สุด
แต่ถ้าพ่อแม่ไปผิดทาง ไม่ค่อยใช้เวลากับลูก แยกลูกออกไปเล่นของเล่นเองบ่อยๆ และคอยขัดใจเมื่อเห็นลูกซุกซนเท่านั้น ลูกจะไม่ได้พัฒนาตามที่ควรจะเป็น มองพ่อแม่ใจร้าย จะต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง เอาแต่ใจบ่อยๆค่ะ
พ่อแม่จึงควรหยุดคิดเรื่องขัดใจลูกไปก่อน ให้สมองเราหมกหม่นกับการคิด “สร้างลูก” ทำให้เป็นและพูดให้เก่งดีกว่า และเมื่อชีวิตลูกยุ่งอยู่กับการเรียนรู้ เขาจะเหลือเวลาทำสิ่งต้องห้ามน้อยลงมาก
………………………
โดยสอนตั้งแต่การเปิดกล่อง หยิบใส่ หยิบเก็บให้หมด ปิดฝา ถ้าของล้น ก็สอนให้เดินไปหากล่องอื่นเพิ่มฯ
ถ้าถือแล้วทำหล่น ก็สอนให้เก็บขึ้นมา สอนให้เอาผ้ามาเช็ดที่เปื้อนและเอาไปเก็บ
สอนให้เปิดถังขยะเอง และหย่นใส่เอง หากทำหล่นก็สอนให้เช็ด
สอนทำตั้งแต่เปิดขวดอาหารปลา ตักอาหารเอง เทให้ปลา (หกไม่เป็นไร)
สอนเปิดก๊อกน้ำ สอนถือสายยาง ลากสายยางไปยังต้นไม้ทุกๆต้น ถ้าน้ำแรงไปก็สอนให้เดินไปปิดก๊อกเอง
พ่อแม่ต้องอธิบายประกอบการสอน เช่น “เปิดก๊อกตรงนี้นะลูก” “อันนี้เรียกว่าก๊อก” และควรตั้งคำถามเพื่อชวนลูกตอบ ฝึกพูดให้เก่ง ไม่ใช่พูดอยู่คนเดียวนะคะ เช่น “ลูกเปิดอะไรอยู่จ้ะ” ถ้าลูกไม่ตอบก็สอนให้ตอบ “ก๊อก” เว้นจังหวะให้ลูกพูดตาม
เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้พูดเก่ง อยู่ตรงนี้แหละ...
เด็กใช้ตามองภาพในนิทานเป็นหลัก ไม่สามารถตีความหมายคำในหนังสือนิทาน ถ้าพ่อแม่อ่านตามตัวหนังสือในนิทานอย่างเดียว ลูกจะไม่เข้าใจเรื่องราวในภาพนั้น หมอขอแนะนำให้พ่อแม่อธิบายภาพแต่ละหน้าให้ลูกฟังด้วย เมื่อใดก็ตามที่คำอธิบายเข้าหูลูกในจังหวะที่ตาลูกมองภาพนั้นอยู่ ลูกจะเข้าใจเรื่องราวนั้น ทำให้สนุกขึ้น จดจ่อกับนิทานดีขึ้น และยังทำให้สมอง “เชื่อมโยง” เรื่องราวในแต่ละหน้า จนสามารถเข้าใจเรื่องทั้งเล่มได้ในที่สุด
เราควรมีนิทานหลากหลายรูปแบบ เพราะการเปิดนิทานคือการเปิดโลก ลูกจะได้ทั้งความรู้, จินตนาการและรูปแบบคำต่างๆ ที่นอกเหนือจากคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน...
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าเด็กๆมีงานเยอะ แขนขาที่ไม่คล่องแคล่ว ทำให้แต่ละงานต้องใช้เวลามาก ที่เราเห็นว่าลูกดื้อ อาจเพราะเราปล่อยให้ลูกมีอยู่งานเดียวคือเล่นของเล่นก็ได้... ซึ่งถือว่าผิดหลักธรรมชาติมาก...วันนี้ ชวนลูกมาทำงานต่างๆนะคะ ลูกจะไม่ค่อยเหลือเวลาไปทำสิ่งที่ทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่ต้องขัดใจลูกแล้ว
หมอเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เจ้าของเพจหมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก