
ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น อดทน รอคอยเด็กๆ ได้เช่นกัน
ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เขาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ช่วยเหลือในสิ่งที่เขาทำได้แล้ว
ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเอง (ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว ใส่ร้องเท้า และอื่นๆ) และมอบหมายงานส่วนรวม (งานบ้าน) ตามวัยของเด็กให้เขารับผิดชอบด้วย
ผู้ใหญ่ต้องรักคนพี่ให้มากพอ เพื่อที่เขาจะอิ่มรักจากเรา แล้วอยากส่งต่อรักให้คนน้อง ให้ความยุติธรรมกับทั้งสองคน แล้วเรื่องสอนพี่น้องให้รักกันเราบังคับกันไม่ได้ แต่ความยุติธรรมและความสนใจที่เราให้เด็กๆ มากพอ จะสอนเขาให้รู้ว่า พ่อแม่รักเขาทั้งสองคนมากพอๆ กัน
ผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้ให้ก่อน รักและกอดเด็กอย่างอ่อนโยน อ่านนิทานกับเขา และชวนเขาไปให้ด้วยกัน
ผู้ใหญ่ไม่ต้องรอเด็กพูดสวัสดีก่อนก็ได้ เราพูดสวัสดีก่อน เด็กจะเรียนรู้ที่จะสวัสดีกลับ เช่นเดียวกันกับคำขอบคุณ เราพูดก่อนได้ ไม่เสียหาย อย่างน้อยเด็กได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่ของเขาสวัสดี และขอบคุณอย่างไร เขาจะค่อยๆ ซึมซับแล้วทำตามเป็นธรรมชาติ ส่วนคำขอโทษควรเกิดขึ้นจากใจ เด็กไม่พร้อม ไม่ควรบังคับ คำขอโทษพูดได้ยาก เพราะบางคนคิดว่าการขอโทษก่อน จะทำให้เขากลายเป็นคนที่ผิด ทั้งๆ ที่การขอโทษก่อน อาจจะหมายความว่า เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากกว่าการหาว่าใครผิด หากผู้ใหญ่ทำผิดต่อเด็กเราควรขอโทษเขา เมื่อเด็กผิด เขาไม่พร้อมขอโทษ พาไปสงบ รอเขาหน่อย คุยกับเขาว่า การขอโทษจะช่วยให้เขาและอีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น มาทำไปพร้อมกับไหม
ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้ฟัง อ่านกับเขา และต่างคนต่างอ่าน แต่อ่านไปด้วยกัน
ผู้ใหญ่ต้องทำบ้านให้อบอุ่น ช่วยสอนและทำการบ้านไปพร้อมเขาในวิชาที่ไม่ถนัด เมื่อถึงเวลาให้เขาเลือกเรียนในสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น
ผู้ใหญ่ต้องชื่นชมเขาเมื่อเขาทำพฤติกรรมที่เหมาะสม รักและให้ความสนใจเขาโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข
หยุดให้ความสนใจพฤติกรรม เด็กจะหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะเขาได้รับความสนใจมากกว่าในเมื่อเขาทำพฤติกรรมที่ดี (เด็กบางคนเรียกร้องความสนใจด้วยการทำตัวไม่ดี เพราะเขาไม่ได้รับมันอย่างเพียงพอเมื่อเขาทำตัวดี)
ผู้ใหญ่ต้องชวนเขาทำกิจกรรมอื่นๆ ชวนเขาเล่นนอกบ้าน ออกกำลังกาย อ่านนิทาน ไม่ใช่นั่งนอนเล่นมือถือเช่นกัน
เมื่อมีสิ่งที่สนุกกว่า จับต้องได้มากกว่า มีพ่อแม่ที่เขารักอยู่ด้วย เขาจะเลือกสิ่งนั้นแทนที่หน้าจอไปโดยปริยาย
ผู้ใหญ่ต้องพูดคำไหนคำนั้น ไม่ลงโทษเด็กรุนแรง เพราะความจริงน่ากลัวกว่าปิดบังไว้ต่อไป ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นพอจะช่วยให้เด็กพูดความจริงง่ายขึ้น
ผู้ใหญ่ก็ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ขึ้นเสียง และใช้เหตุผลกับเขา เด็กไม่พร้อมฟังเรารอเขาสงบ พาไปสงบด้วยกัน เราอยู่ข้างๆ ไม่ทั้งเขา สงบพร้อมฟัง คุยกันด้วยเหตุผล สอนเขา และจบด้วยการกอดกัน
ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ตามใจ และมีกติกาที่ชัดเจนตั้งแต่แรก
รักเขาแต่ไม่ตามใจ
สอนเขาแต่ไม่ใช่สั่งเขา
ผู้ใหญ่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการสอนสั่งเด็กเช่นกัน เด็กเรียนรู้ได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่น่ากลัว อย่าใช้ความกลัวสอนเด็ก เพราะสักวันเขาจะใช้วิธีการเดียวกันกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่าตนเองเช่นกัน
ความอยากและไม่อยากให้เด็กเป็นแบบไหนในข้างต้น เป็นแค่หนึ่งในความคาดหวังที่ผู้ใหญ่เรามีให้กับเด็ก ๆ ของเรา จะเห็นว่าความคาดหวังที่เรามีมันมีมากมายมหาศาล นี่ยังไม่นับความคาดหวังใหญ่ ๆ อีกมากมายที่ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเด็กเติบโตมากขึ้น ผู้ใหญ่เราใส่ความคาดหวังไปบนตัวเด็ก
แต่บางครั้งเราลืมที่จะช่วยเขาแบกด้วย เพราะความคาดหวังที่จะเป็นจริง ไม่มีทางเกิดจากการคิดและพูด(บ่น)จากผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดจากการเดินไปด้วยกัน ทำไปด้วยกัน พร้อมกับเด็กด้วย
เมื่อต้นน้ำดีปลายน้ำย่อมมีโอกาสเป็นปลายน้ำที่ดี
เด็กๆ จึงเป็นภาพสะท้อนของผู้ใหญ่(ใกล้ตัว)เขา
บทความโดย
เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของแฟนเพจตามใจนักจิตวิทยา