ทุกวันที่ 18 กรกฎาคม ถูกกำหนดให้เป็น “วันเนลสัน แมนเดลา” เพื่อรำลึกถึงรัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้ที่นำพาเสรีภาพและความเท่าเทียมมาสู่แผ่นดินแอฟริกาใต้ หลังจากต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและสีผิวมานาน จนภายหลังเขาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกมากมาย
เนลสัน โรลีลาห์ลา แมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม ปี 2461 ในแถบชนบทของรัฐอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape) ประเทศแอฟริกาใต้ เขากำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ โดยได้หัวหน้าชนเผ่าเทมบู (Thembu) นามว่า 'Jongintaba' เป็นผู้รับแมนเดลาไปเลี้ยงดู
ตั้งแต่วัยเด็กย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม แมนเดลาเติบโตขึ้นท่ามกลางยุคการปกครองแบบแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวโดยรัฐบาลกลุ่มคนผิวขาวที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1948 ซึ่งรูปแบบการปกครองดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ 'Apartheid' (อะพาไทด์) ในระหว่างนั้นมีการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ที่จำกัดความเป็นอยู่และสิทธิเสรีภาพของคนดำ ไม่ว่าจะเป็นจำกัดสิทธิ์เลือกตั้ง การสั่งห้ามให้คนดำอยู่อาศัยในพื้นที่ของคนขาว ไปจนถึงการเข้าถึงการศึกษา และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพด้อยกว่าคนขาว
แมนเดลาเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองครั้งแรก ในปี ค.ศ.1942 จากการเป็นแกนนำคนสำคัญในขบวนการต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว เขาเข้าร่วมพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา หรือ ‘เอเอ็นซี’(African National Congress) และร่วมก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนพรรคเอเอ็นซี (ANC Youth League) ซึ่่งมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านนโยบายเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในขณะนั้น
นอกจากนี้ ในปลายปี ค.ศ. 1952 แมนเดลาใช้ความรู้ด้านกฎหมายจากการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย เปิดสำนักงานกฎหมาย ร่วมกับ 'โอลิเวอร์ แทมโบ' โดยใช้ชื่อว่า 'Mandela and Tambo' เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่กลุ่มคนผิวดำที่ยากไร้ โดยคิดค่าใช้จ่ายในราคาต่ำหรือบางรายก็แทบไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสำนักงานกฏหมาย Mandela and Tambo ถือเป็นสำนักกฏหมายแห่งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ที่บริหารงานโดยกลุ่มคนผิวดำ
แตผ่านไปไม่นาน ผลจากการเข้าร่วมต่อต้านนโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวของรัฐบาล ทำให้ในปี 1964 แมนเดลาและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ อีกหลายชีวิตถูกจับกุม และตัดสินจำคุกเป็นเวลา 27 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาเกือบครึ่งชีวิตของแมนเดลาทีเดียว และด้วยการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนี้ทำให้นานาชาติร่วมกันกดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ให้มอบอิสรภาพแก่แมนเดลา จนในที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1990 โดยมี เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แคลร์ก (Frederik Willem de Klerk) ประธานาธิบดีผิวขาวของแอฟริกาใต้คนสุดท้ายเป็นคนสั่งปล่อยตัว
หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แมนเดลาได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนที่จะสร้างความเสมอภาคระหว่างกลุ่มคนผิวดำ และกลุ่มคนผิวขาวโดยยึดแนวทางสันติวิธีที่เขาได้ปฏิบัติมาโดยตลอด จากนั้นไม่นานเขากลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคเอเอ็นซีอีกครั้ง และกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากลจากวิสัยทัศน์ของเขาเอง จนในปี 1993 แมนเดลาได้รับรางวัลโบเบลสาขาสันติภาพ และรางวัลอื่น ๆ อีก 250 รางวัลในช่วงชีวิตของเขา
ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 1994 พรรคเอเอ็นซีสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งไปได้ ทำให้แมนเดลาในฐานะผู้นำพรรคเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ด้วยวัย 75 ปี และได้เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤษภาคม 1994
ในระหว่าง 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลาได้เปลี่ยนแปลงกฏหมายที่แบ่งแยกสีผิว ไปจนถึงจัดตั้งรัฐบาลที่สมาชิกจากหลายเชื้อชาติ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่แบ่งแยกสีผิว เป็นเหตุผลว่าทำไมคนทั่วโลกถึงยกย่องและจดจำเขาในฐานะรัฐบุรุษ มิหนาซ้ำยังได้ถูกกล่าวขานว่า 'Father of Nation' (บิดาของชาติ)
หลังจากอุทิศตนสร้างประโยชน์แก่ประเทศแทบทั้งชีวิต แมนเดลาก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมาอย่างยาวนาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ในวัย 95 ปี
ที่มา: BBC News The Momentum Britannica