กสศ. กับความพยายามช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเปราะบาง
“สำหรับคนที่มีรายได้น้อย คนที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม โรงเรียนเป็นมากกว่าการศึกษา โควิด-19 ที่เข้ามา ทำให้เราเห็นโจทย์ที่มากไปกว่าการเรียนรู้ เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของครอบครัว” ในช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับกระทรวงศึกษาธิการ มีส่วนในการช่วยเหลือโดยการให้งบประมาณฉุกเฉิน ในการให้ชุดของข้าวสารอาหารแห้งใน 1 เดือนแรก จนมาถึงการระบาดในปี 2564 ที่มีความรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทยมากขึ้น ทาง กสศ.จึงมีการจัดงบประมาณไปประมาณ 200 กว่าล้าน เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อการศึกษา (อนุบาล3 ไป ป.1, ป.6 ไป ม.1, ม.3 ไป ม.4) เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากการศึกษา
“พระไม่ทิ้งโยม” ที่พึ่งชุมชนในยุคโควิด-19
จากจำนวนตัวเลขของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้พระบางวัดต้องเปลี่ยนบทบาทเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะที่วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ พระสงฆ์ได้นำปัญจัยที่ญาติโยมถวาย มาเป็นทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จากที่ต้องรับบาตร ก็ต้องมาเป็นด่านหน้าช่วยตรวจเชิงรุกให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “พระไม่ทิ้งโยม” นอกจากนี้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน พระจะทำหน้าที่วัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงมอบถังออกซิเจนไว้ให้ใช้ แต่ถ้าหากเจอผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ก็จะให้มาอยู่ในศูนย์พักคอยที่วัดเป็นเวลา 14 วัน แล้วจึงให้กลับบ้านได้ รวมไปถึงการนำอาหารและยา ไปมอบให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำการรักษาแบบ Home isolation ในชุมชนด้วย
ติดตามชมรายการ HAVE A NEWSDAY วันศุกร์ที่ 10 ก.ย. 64 เวลา 12.00 – 12.10 น. ทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมายเลข 4