สายใยบุญจุลกฐิน ชาวไทยวน
การทอผ้าจากฝ้ายไทยวนเพื่อทำบุญจุลกฐินนั้น จัดขึ้นทุก ๆ ปีที่ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี ซึ่งทุก ๆ ปีที่ผ่านมา จะมีช่างทอมาช่วยกันทอผ้าโดยใช้กี่ 9 กี่ แต่ปีนี้กลับต้องใช้เพียงแค่กี่เดียวเพราะกี่ที่เหลือยังคงจมอยู่ในน้ำอยู่ โดยการทอผ้าในการทำบุญจุลกฐินนั้น ช่างทอและคนในชุมชนเสาไห้ จ.สระบุรี จะร่วมกันเก็บดอกฝ้ายมาเพื่อทำผ้ากฐินไปถวายที่วัดท่าช้างใต้ และมีคุณยายทองใบ เอี่ยมประไพ หนึ่งในช่างทอผ้าอาวุโสของชุมชน ได้นำกรรมวิธีทอฝ้ายในอดีตที่ต้องปั่นฝ้ายเองแล้วนำไปย้อมสีธรรมชาติ จากนั้นก็นำมาทอจนกว่าจะเป็นผ้าผืนยาวไม่น้อยกว่า 20 เมตร ไปตัดเย็บไตรจีวรภายในวันเดียว ตามธรรมเนียมจุลกฐิน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเพราะมีช่างทอไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจในการทอผ้าเพื่อถวายในการทำบุญจุลกฐินนั้นเอง
“ไอ้เคิ้ด” เพื่อนยากของคนบ้านหมอเฒ่า
บ้านหมอเฒ่า ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ที่นี่จะนิยมเลี้ยงควาย เพื่อเป็นพาหนะในการขนของต่าง ๆ และจะมีสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการทุ่นแรงที่เรียกว่า “ไอ้เคิ้ด” เป็นพาหนะสำหรับขนของคล้ายเลื่อน ใช้เทียบควายเพื่อบรรทุกของ ชาวบ้านที่นี่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ไอ้เคิ้ดจะเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกมากเมื่อชาวบ้านต้องนำควายไปขนของหรือขนไม้ขึ้น-ลงจากบนเขา ไอ้เคิ้ดนั้นทำจากไม้ ซึ่งไม้ที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำก็คือไม้กระถินเพราะมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ผูกหูด้วยเชือกและมัดด้วยสลิง มีความยาว 2 เมตร กว้าง 1 เมตร ส่วนประกอบของไอ้เคิ้ดจะประกอบไปด้วย คัน เป็นส่วนไม้ที่ยาวที่สุด หู ไว้ผูกกับแอกควาย ขา อกหน้าและอกหลัง ใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะได้ไอ้เคิ้ดมา 1 คัน
ติดตามชมรายการ HAVE A NEWSDAY วันพุธที่ 1 ธ.ค. 64 เวลา 12.00 – 12.10 น. ทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมายเลข 4