หน่วยเรียนรู้ “อาหารดีมีประโยชน์” บทเรียนที่ 1 เด็กๆ อ้วนหรือผอมเกินไป หรือไม่? วันแรกในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ หน่วยอาหารดีมีประโยชน์ ต้องการให้เด็กเห็นภาพความเชื่อมโยง ระหว่าง ปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่สามารถเห็นได้ วัด และบันทึกได้ น้ำหนักตัว และ ส่วนสูง ที่สัมพันธ์กับอาหารการกินในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย หรืออาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม โดยเด็กสามารถเข้ามามีส่วนในการสำรวจน้ำหนัก ความสูง และประเมินการเจริญเติบโตของตัวเองได้ กิจกรรมวันนี้ยังทำให้คุณครู (พ่อแม่ผู้ปกครอง) สามารถติดตามปัญหาสุขภาพเด็กเป็นรายคนหรือรายกลุ่ม ที่นำไปสู่การค้นหาแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารในชีวิตประจำวันได้
จุดเริ่มต้น หน่วยเรียนรู้ อาหารดีมีประโยชน์
“อาหารดีมีประโยชน์” (บางสถานศึกษา เรียกว่า กินดีอยู่ดีมีสุข) เป็น 1 ใน 36 หน่วยการเรียนรู้หลักที่ทุกสถานศึกษา จะต้องจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยในทุกระดับชั้น ที่ผ่านมาหน่วยการเรียนรู้นี้จะกำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ด้วยการจัดประเภทและจำแนกอาหาร เช่น อาหารหลัก 5 หมู่ ประโยชน์ของอาหาร มารยาท และการประกอบอาหารอย่างง่าย
แต่สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม และสุขภาพที่สืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการออกแบบ “หน่วยการเรียนรู้” ใหม่ของเด็กปฐมวัยให้เท่าทันกับสถานการณ์ และสามารถวางรากฐานความรู้ความเข้าใจ ความใฝ่รู้ และทักษะด้านต่างๆ ที่สัมพันธ์กับ “อาหารการกิน”
หน่วยการเรียนรู้นี้ใช้แนวคิดหลัก คือ การใช้ “ปัญหา” (Problem-based approach) และ “ปรากฎการณ์” (phenomenon-based approach) มาเป็นฐานในการออกแบบ และใช้ “สื่อไทยพีบีเอส” รวมถึง สื่ออื่นๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ มาสนับสนุน โดยคาดหวังให้หน่วยการเรียนรู้นี้ มีส่วนต่อการเสริมสร้าง พัฒนาการด้านร่างกาย ด้วยการเล่นและทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย การใช้มือ-ตาประสานสัมพันธ์ พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ ด้วยการกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงท่าทางเคลื่อนไหวประกอบเพลง จังหวะ ดนตรี และมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
สำหรับ การเสริมสร้าง พัฒนาการด้านสังคม ก็คาดหวังให้การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เกิดการรับรู้ ความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน และการจัดการพฤติกรรมด้านการบริโภคในชีวิตประจำวัน ขณะที่ พัฒนาการด้านสติปัญญา จะประกอบด้วยการดู ฟัง อ่าน เขียน พูด และการกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุมีผล ผ่าน การบอกเล่าโดยสรุปถึงสิ่งที่เรียนรู้ การจำแนกแยกแยะความเหมือนต่างของอาหาร การสร้างผลงานศิลปะเพื่อสื่อสารความคิดความรู้สึกของตน