ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
Humble Pi – วิชาคณิต สอนให้คิดว่า...
แชร์
ชอบ
Humble Pi – วิชาคณิต สอนให้คิดว่า...
31 ม.ค. 66 • 18.00 น. | 450 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

π=?

บางคนอาจจะยังพอจำได้ว่าสัญลักษณ์ π นี้อยู่ในสูตรเลขตอนเรียนบทเกี่ยวกับเรขาคณิต ที่เราเคยต้องท่องกันตอนเด็ก ๆ ว่า

“ค่าพาย เท่ากับ ยี่สิบสองส่วนเจ็ด” โดยคิดเป็นเลขทศนิยมได้ประมาณ 3.14159265359

หรือถ้าให้ละเอียดกว่านั้นก็ 3.1415926535 8979323846 2643383279 5028841971 6939937510 5820974944 5923078164 0628620899 8628034825 3421170679... … … …

ที่ใส่จุดให้อีกมากมายเพราะเมื่อเอาเลข 22 มาหารด้วย 7 แล้วผลลัพธ์หลังจุดทศนิยมก็ยืดยาวออกไปแบบหารไม่สุดไม่สิ้น เมื่อค้นวิกิพีเดียดูเขาก็บอกไว้ว่า ถ้าให้คอมพิวเตอร์ที่บ้านช่วยหารให้ก็จะได้คำตอบออกมาที่ทศนิยมประมาณพันล้านหลัก แต่ถ้ายังละเอียดไม่พออีกล่ะก็ ให้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ช่วยคิดละกัน มันใช้เวลาคำนวณไปเกือบปีเพื่อจะได้คำตอบออกมาที่ประมาณ ล้านล้านหลัก (ล้านล้าน ที่มีศูนย์ 12 ตัวนั่นแหละ) และยังคงสามารถหาผลลัพธ์หลักต่อ ๆ ไปได้อีกเรื่อย ๆ เท่าที่เทคโนโลยีจะไปถึง (และเท่าที่ยังมีคนอยากรู้)

 

หนึ่งปีมีกี่วัน?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมหนึ่งวันต้องมี 24 ชั่วโมง? ทำไมหนึ่งชั่วโมงต้องแบ่งเป็น 60 นาที แล้วหนึ่งนาทีคือ 60 วินาที?

แต่ละสัปดาห์มี 7 วันเท่า ๆ กัน แต่พอมาถึงการนับเดือน กลับมีจำนวนวันไม่เท่ากันในแต่ละเดือนเสียงอย่างนั้น

พอมาถึงจำนวน 365 วันในหนึ่งปี ก็ออกอาการขมวดคิ้วไปใหญ่ละ ในเมื่อจริง ๆ แล้วโลกไม่ได้หมุนครบหนึ่งรอบด้วยจำนวนวันเท่านี้เสียหน่อย ไม่งั้นคงไม่ต้องมานั่งทดเพิ่มไปอีกหนึ่งวันทุกสี่ปีหรอก

ทดแล้วก็ยังไม่ตรงอยู่ดีนะ เพราะถ้าจะเอาให้เป๊ะ ๆ หนึ่งปีมี 365.2421875 วัน โอ๊ยยย

รู้แล้วมีประโยชน์อะไรกับชีวิตฉันเนี่ย?!

เราอาจจะเคยคิดแบบนี้อยู่ในใจตอนที่นั่งหาวหวอดอยู่ในห้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ บางคนอาจจะถึงขั้นเคยยกมือถามคุณครูโต้ง ๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ

คุณครูอาจจะบอกว่า การทำรายรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันก็ต้องรู้จักคิดเลข หรือเข้าแอปชอปปิ้งออนไลน์ถ้าคิดเลขเก่งก็จะได้เทียบราคาสินค้าแต่ละร้านได้ราคาถูก หรืออย่างการคำนวณภาษีเพื่อยื่นตอนปลายปีก็จำเป็นนะคะนักเรียน ไม่รู้นักเรียนคนอื่นได้คำตอบหรือได้ไม้เรียว (โอ้วไม่นะ!) แต่เราคนหนึ่งล่ะที่ยังไม่เคยได้คำตอบที่น่าพอใจ จนบังเอิญได้ฟังรายการพอดแคสต์สัมภาษณ์อดีตครูสอนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมท่านหนึ่ง

“ผมเป็น stand up mathematician” คือคำที่แมตต์ พาร์กเกอร์ใช้จำกัดความตัวเองเมื่อถูกบอกให้แนะนำตัว “ผมว่าผมเป็นนักคณิตศาสตร์เป็นหลัก รองลงมาก็เป็นนักแสดงตลก”

ที่แมตต์ได้มาเป็นแขกรับเชิญให้กับพอดแคสต์วิทยาศาสตร์ในหัวข้อ “วันแห่ง Pi” เพราะเขาเป็นเจ้าของผลงานหนังสือที่มีชื่อว่า “Humble Pi”

“เราชอบพายเพราะมันมักจะไปปรากฏอยู่ในที่ที่เราไม่คาดคิด คุณอาจจะกำลังแก้โจทย์อะไรสักอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกับพายเลย แล้วจู่ ๆ เจ้าพายมันก็โผล่มา”

แมตต์ตอบคำถามถึงความมีเสน่ห์ของค่าพาย ก่อนที่จะรีวิวหนังสือของตัวเองสั้น ๆ ว่าความตั้งใจในการรวบรวมผลงานเล่มนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกกับทุกคนที่เคยนั่งสงสัยอยู่ในห้องเรียนว่า “เราจะเรียนเลขกันไปทำไม?”

แต่แทนที่จะบอกว่าคณิตศาสตร์มีประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ เขากลับเลือกที่จะเล่าสารพัดเหตุการณ์เมื่อ “คณิตคิดพลาด” แทน

ขณะที่แมตต์หลงใหลในค่าพาย การเขียนโค้ด และการคำนวณ เราที่เป็นผู้อ่านรู้สึกทึ่งในความลุยสุดตัวของเขา ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเขาได้เจอสมการซับซ้อนหรือโค้ดในการเขียนโปรแกรมที่แสนยั่วยวนเท่านั้น เวลาเกิดความสนใจหรือสงสัยเรื่องอะไรขึ้นมา ตั้งแต่ป้ายจราจร รูปวาดพระจันทร์เคียงดาว ชุดทหาร ตารางเข้าฟิตเนส ไปยันหนังสือชีวะเรื่องแมลงวัน เขาก็ดูจะพร้อมรวบรวมเครื่องมือและความรู้ที่มีกระโจนลงไปค้นคว้ามันทุกเรื่อง และแน่นอนว่าสุดท้ายเขาก็ดึงมันกลับเข้าสู่คณิตศาสตร์ได้ทุกทีไป

หลังจากอ่านจนจบแล้วก็พบว่าหลายเหตุการณ์ในหนังสือเล่มนี้ หยิบเอามาเป็นไอเดียเป็นต้นทางของพล็อตหนังได้หลายได้เพียบ แถมสร้างได้หลากหลายแนวมาก ๆ อย่างสืบสวนสอบสวน จารกรรม ฆาตกรรม หนังสงคราม ดราม่า ชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เอเลี่ยน หรือแม้กระทั่งหนังรัก

ในเมื่อเรื่องราวของตัวเลขมันแทรกซึมไปทั่วขนาดนี้ แมตต์จะเลือกเอาสถานการณ์สนุก ๆ ที่จบแบบ happy ending มาเล่าก็ได้แทนที่แมตต์จะเขียนถึงสำเร็จจากความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ที่มีต่อมนุษย์โลก เขากลับเลือกที่จะ “รวบรวมข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์ทั้งหลายที่ผมประทับใจ” มาเขียนเป็นหนังสือแทน

มากกว่าหนึ่งครั้งที่เขาบ่นถึงเรื่องความโปร่งใสในการจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและการสืบสวนจากกรณีที่มนุษย์เลินเล่อ หรือคำนวณพลาด ทั้งที่รายละเอียดเหล่านั้นนั่นแหละที่จะเป็นเหมือนแผนที่ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปเลือกเส้นทางได้ดีขึ้น

การย่อยเรื่องราวบ้ง ๆ ในวงการตัวเลขออกมาให้อ่านง่ายของแมตต์จึงเป็นทั้งการเชื้อชวนคนเบื่อคาบคณิตให้หันมาสนุกกับมัน และเป็นวิธีการทิ้งร่องรอยความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์และโครงการมากมายเอาไว้ให้คนรุ่นถัดไปให้ได้เรียนรู้อีกด้วย

คนแบ่งปันเส้นทางความสำเร็จมีเยอะแล้ว มีคนมาแชร์ก้าวที่พลาดให้เราฟังบ้างก็ดีจะได้เลี่ยงการทำผิดแบบเดิม และจะได้ไม่ต้องมามัวสอนตัวเองอยู่ฝ่ายเดียวว่า อย่าโตไปทำอะไรบ้ง ๆ แบบลุงเขา

 

อ่านคำโปรยและตัวอย่างเนื้อหาของหนังสือ คลิก>>“Humble Pi: A Comedy of Math Errors – คณิตคิดพลาด: รวมเรื่องวายป่วงในวันที่คณิตศาสตร์รู้พลั้ง” ของ Matt Parker แปลโดย สกุลรัตน์ บวรสันติสุทธิ์

รายการพอดแคสต์ Short Wave โดย npr ตอน “Humble Pi: When Math Goes Awry” << คลิก Matt Parker พูดถึงหนังสือ Humble Pi ของเขา ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 เนื่องในวัน Pi Day

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ค่าพาย, 
#คณิตศาสตร์, 
#วิชาเลข, 
#HumblePi, 
#คณิตคิดพลาด, 
#แนะนำหนังสือ, 
#วันแห่งPi, 
#แมตต์พาร์กเกอร์, 
#mattparker, 
#นักคณิตศาสตร์, 
#พัดชา, 
#พัดชาAF, 
#พัดชาเอนกอายุวัฒน์, 
#ThaiPBS, 
#ALTV, 
#บทความALTV 
ผู้เขียนบทความ
avatar
พัดชา เอนกอายุวัฒน์
พัดชา
อาชีพดั้งเดิมเป็นนักร้อง มีถิ่นกำเนิดจากเวทีนักล่าฝัน เพลิดเพลินกับการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไม่จำกัดว่าเน้นดราม่า หรือหนักข้อมูล มีความเชื่อส่วนตัวว่า มีสาระซ่อนอยู่ทุกที่ และมีเรื่องราวที่ชวนหาคำตอบอยู่เสมอ
ALTV CI
ขยับแว่น
ขยับแว่น
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
พัดชา เอนกอายุวัฒน์
พัดชา
อาชีพดั้งเดิมเป็นนักร้อง มีถิ่นกำเนิดจากเวทีนักล่าฝัน เพลิดเพลินกับการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไม่จำกัดว่าเน้นดราม่า หรือหนักข้อมูล มีความเชื่อส่วนตัวว่า มีสาระซ่อนอยู่ทุกที่ และมีเรื่องราวที่ชวนหาคำตอบอยู่เสมอ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ค่าพาย, 
#คณิตศาสตร์, 
#วิชาเลข, 
#HumblePi, 
#คณิตคิดพลาด, 
#แนะนำหนังสือ, 
#วันแห่งPi, 
#แมตต์พาร์กเกอร์, 
#mattparker, 
#นักคณิตศาสตร์, 
#พัดชา, 
#พัดชาAF, 
#พัดชาเอนกอายุวัฒน์, 
#ThaiPBS, 
#ALTV, 
#บทความALTV 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา