แม้ว่าจะจบลงไปแล้วกับงาน “ย่ำค่ำลำนำศิลป์ บุษบาลุยไฟ” งานเปิดตัวละคร 'บุษบาลุยไฟ' ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) แต่นอกจากกิจกรรมพูดคุยเบื้องหลังการถ่ายทำของผู้กำกับและนักแสดงนำแล้ว ยังมีสิ่งพิเศษและเกร็ดความรู้ที่ซ่อนอยู่ภายในงานจนอยากจะหยิบยกมาเล่าให้ฟังกัน จะมีอะไรบ้างไปรับชมกันเลย
ดังที่กล่าวไปข้างต้น ‘งานย่ำค่ำลำนำศิลป์ บุษบาลุยไฟ’ จัดขึ้นที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ ‘วัดโพธิ์ ท่าเตียน’ ปูชนียสถานสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำละครเรื่อง ‘บุษบาลุยไฟ’ ซึ่งนอกจากแฟนละครจะได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมภายในงานแล้ว ยังได้เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศเก่า และความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมโบราณของวัดพระเชตุพนฯ ที่ผสมผสานกลิ่นอายวัฒนธรรม ไทย จีน ฝรั่ง ไว้อย่างลงตัว
โดยแต่เดิม วัดโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ให้สมบูรณ์ และปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ได้มีการนำตำราด้านวิชาการแขนงต่าง ๆ มาจารึกไว้ตามผนังพระอุโบสถ และบริเวณภายในวัด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ จนได้ชื่อว่าเป็น 'มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย'
นอกจากบรรยากาศเก่าแก่ของวัดโพธิ์ที่เหมือนพาให้เราได้ย้อนอดีต อีกหนึ่งความพิเศษภายในงานคือ ‘แฟชั่นย้อนยุค’’ ที่เหล่านักแสดงและแฟนละครพร้อมใจกันสวมใส่ชุดไทยกันมาอย่างคึกคัก โดยส่วนใหญ่สวมใส่ชุดไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับละคร
ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง ลำจวน สตรีผู้มาก่อนกาล (รับบทโดย เฌอปราง อารีย์กุล) มาในลุคเสื้อแขนยาวทรงกระบอกสีพื้น นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบเฉียง และ ฮุน (รับบทโดย โทนี่ รากแก่น) มาในชุดเสื้อคอจีนไว้ ไว้ผมหางเปียยาวตามแบบชาวจีนในสยาม
นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่น่าจับตามองอย่าง คุณพุ่ม หรือ บุษบาท่าเรือจ้าง (รับบทโดย ภัทรสุดา อนุมานราชธน) ที่มาในชุดไทยแบบหญิงสูงศักดิ์ คือ เสื้อแขนกระบอก นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบเฉียงทับด้วยสายสังวาล สวมใส่เครื่องประดับทอง และตัวละครที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รับบทโดย จักรกฤต โยมพยอม) ที่มาในชุดเสื้อแขนกระบอกคอตั้ง นุ่งโจงกระเบนทับด้วยผ้าคาดเอว ไว้ทรงผมมหาดไทย
ไม่เพียงเป็นการสร้างสีสันภายในงานเท่านั้น แต่การสวมใส่ชุดไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในอดีต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เรียกได้ว่านอกจากจะได้อินไปกับละครแล้วยังเข้าถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
ก่อนช่วงเปิดตัวละครย่ำค่ำลำนำศิลป์บุษบาลุยไฟจะเริ่มขึ้น อีกหนึ่งความพิเศษภายในงานคือกิจกรรมเดินทัวร์วัดพระเชตุพนฯ โดยมี พระมหาอุดม ปณญาโภ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เป็นผู้นำทัวร์โดยเส้นทางเริ่มตั้งแต่พระอุโบสถ ไปจนถึงพระวิหารพระพุทธไสยาส จุดสำคัญของวัดที่ใคร ๆ ก็ต้องมาเยือน ซึ่งทางพระมหาอุดม ปณญาโภ กล่าวถึงความพิเศษของวัดพระเชตุพนฯ ไว้ว่าเป็นวัดที่มีความวิจิตรงดงาม ผสมผสานกันระหว่างศิลปะดั้งเดิมแบบไทย จีน ฝรั่ง ไว้แบบ 3 in 1
กลิ่นอายแบบไทย-จีนสัมผัสได้ตั้งแต่จุดแรก คือบริเวณ 'พระระเบียง' เป็นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหลายยุคสมัย ใกล้กันในส่วนของระเบียงชั้นนอกเป็นที่ตั้งของ 'เจดีย์ทรงจีน' และ 'ตุ๊กตาศิลาจีน' และบริเวณเดียวกันนี้มีจะมี 'แผ่นจารึก' วิชาความรู้หลายแขนงทั้ง วรรณคดี เวชศาสตร์ ศิลปะและประเพณี การเมืองการปกครอง ที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดไว้ตามส่วนของเสาและผนังรอบพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวิชาความรู้
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของ ‘พระพุทธเทวปฏิมากร’ พระพุทธรูปสำคัญของไทยที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยรอบมีการใช้ลวดลายจิตรกรรม 'ดอกพุดตานใบเทศ' ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากงานช่างจีน
ส่งท้ายอีกหนึ่งจุดสำคัญของวัดพระเชตุพนฯ นั่นคือ 'พระวิหารพระพุทธไสยาส' โดยหน้าซุ้มประตูมีตุ๊กตาฝรั่ง ‘มาร์โค โปโล (Marco Polo)' นักเดินทางชาวตะวันตกตั้งอยู่ ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้นำมาประดับไว้ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 3 ของไทย
'การโต้สักวา' เป็นการละเล่นหนึ่งของคนไทยที่นิยมในช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นิยมเล่นกันบนเรือในฤดูน้ำหลาก โดยต่างฝ่ายจะด้นกลอนสดโต้ตอบกันโดยใช้ปฏิภาณไหวพริบ ซึ่งการโต้สักวากลอนสดนับเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของละครบุษบาลุยไฟที่พลาดไม่ได้
ภายในงานได้มีการเตรียมชุดการแสดงสุดพิเศษอย่าง 'สักวา บุษบาลุยไฟ' ที่ให้เหล่านักแสดงนำพร้อมด้วยศิลปินจากศิลปากรมาประชันกลอนกันสด ๆ ถึงบนเวที โดยมีผู้ประพันธ์บทสักวาเป็น “พ่ออี๊ด สุประวัติ ปัทมสูต” ผู้กำกับละครบุษบาลุยไฟ ที่ได้กลับมากำกับละครครั้งแรกในรอบ 10 ปี
นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับความไพเราะของบทกลอนแล้ว ยังทำให้ผู้ชมเข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่หาชมได้ยากอีกด้วย
หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างกับคำว่า 'ละครนอก' ละครรำที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แบบฉบับดั้งเดิมกำหนดให้มีผู้แสดงเป็นชายล้วน จนในภายหลังได้เปลี่ยนให้มีผู้หญิงแสดงร่วมด้วย ละครนอกมีความเกี่ยวข้องกับ 'ลำจวน' ตัวละครนำในเรื่องที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนายโรงละครนอกเหมือนนายสุ่นผู้เป็นพ่อ เพื่อเอาใจแฟนละครจึงได้มีการยกการแสดงละครนอก ตอน พรานบุญจับนางมโนราห์ มาให้รับชมการสด ๆ ถึงบนเวที ผู้แสดงนำโดย เอ็กซ์ พรเลิศ ร่วมกับศิลปินศิลปากร
เรียกได้ว่าเป็นงานเปิดตัวละครที่คุณภาพคับแก้ว เพราะนอกจากจะได้รับชมเบื้องหลังการถ่ายทำจากนักแสดงและผู้กำกับแล้ว ยังได้รับสาระความรู้กลับไปอีกด้วย และสำหรับพลาดไม่ได้เข้าร่วมงานเปิดตัวละคร “ย่ำค่ำ ลำนำศิลป์ บุษบาลุยไฟ” ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะสามารถรับชมถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ทาง Facebook Thai PBS และแอปพลิเคชัน VIPA และเตรียมพบกับความสนุกได้ในละคร “บุษบาลุยไฟ” ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่มตอนแรก 23 มิถุนายนนี ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และย้อนหลังแอปพลิเคชัน VIPA
อ่านเรื่องย่อเพิ่มเติมได้ทาง www.thaipbs.or.th/BudsabaLuiFire