ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
8 เรื่องลับหลังเลนส์ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี”
แชร์
ฟัง
ชอบ
8 เรื่องลับหลังเลนส์ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี”
20 ก.พ. 65 • 18.00 น. | 1,771 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

จบกันไปแล้วสำหรับละคร เรื่อง "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี" ละครที่สร้างความประทับใจให้ผู้คนอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นไวรัลทั้งในทวิตเตอร์ และ Tiktok แม้ละครจะลาจอไปแล้ว แต่ความประทับใจยังมีอีกเพียบ ALTV จึงขอนำเรื่องราวเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นละคร และความพิเศษที่คุณอาจยังไม่รู้จากปากทีมผู้กำกับมาฝากเหล่าแฟน ๆ ที่ยังมูฟออนไม่ได้ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย! 

 

"โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง" สู่ "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี"

เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงว่าการลงพื้นที่ถ่ายทำ “โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง” สารคดีตามรอยชาวโยเดียหรือโยดะยาในเมียนมา จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ "แนต-ชาติชาย เกษนัส" หยิบยกมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ที่ทั้งสนุก น่าตื่นเต้น จนกลายเป็นกระแสไวรัลทั้งในทวิตเตอร์ และTiktok  

แต่มากกว่าความสนุก คือเนื้อหาสาระเบื้องหลังบทละครที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นอกจากจะต่อยอดมาจากงานสารคดีที่ข้อมูลหนักแน่นน่าเชื่อถือแล้ว ละครเรื่องนี้ยังเน้นให้เราเห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมา ผ่านมุมมองคนธรรมดาอย่างนางรำในโรงละคร ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อความเชื่อเดิม ๆ ที่บอกเล่าเมียนมาในฐานะ "ศัตรู" แบบที่ละครพีเรียดเรื่องไหนก็ไม่เคยทำมาก่อน!

เพราะฉะนั้นความพิเศษของละครเรื่องนี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่ให้ความสนุก แต่คือการถ่ายทอดสาระความรู้ทางประวัติศาสตร์ แง่มุมต่าง ๆ ให้กลายเป็นเรื่องสนุกได้ในแบบที่ใครหลายคนคิดไม่ถึง

ต้องเป็นเดาง์เท่านั้น 

ความประทับใจแรกที่ได้เห็นลีลาการร่ายรำของ เดาง์ (รับบทเป็นเมียวดี มินจี อูสะ) นักแสดงหนุ่มลูกครึ่ง มอญ-เมียนมา ทำให้คุณผู้กำกับหมายมั่นว่าคนที่มารับบทเป็นหม่องสะ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนนี้!

ย้อนกลับไปช่วงการถ่ายทำ มาร-ดา (Only Mom) ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติเมียนมา หนึ่งในผลงานของคุณผู้กำกับและเป็นการร่วมงานครั้งแรกกับเดาง์ ผู้กำกับของเราเล่าว่า ในภาพยนตร์เรื่องนี้เดาง์ต้องแสดงเป็น “นัต” (ผีหรือเทวดาในความเชื่อเมียนมา) ซึ่งต้องมีซีนแสดงรำ ผู้กำกับจึงขอให้เดาง์ออกมารำโชว์เรียกน้ำย่อยก่อนถ่ายทำจริง แม้จะเป็นเวลา ตี 5 แล้ว แต่ด้วยสปิริตนักแสดง เดาง์ก็ร่ายรำให้ผู้กำกับได้เห็นเป็นขวัญตา ฝีมือการร่ายรำของเดาง์ได้สร้างความประทับใจให้กับทุกคน

เมื่อถึงเวลาได้มากำกับละคร เรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี เดาง์จึงเป็นคนเดียวที่ผู้กำกับเลือก แม้ว่าในทีแรกเดาง์ไม่ได้ตกลงรับบทในทันที เพราะหม่องสะ ถือเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาวเมียนมา ที่แม้แต่ชาวเมียนมาแท้ ๆ ก็ไม่มีใครเคยแสดงมาก่อน จึงเป็นธรรมดาที่เดาง์ต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ในที่สุดเขาก็ตอบตกลง และไม่ทำให้เราผิดหวังจากฝีมือการแสดงในแต่ละซีนว่าเหมาะสมกับละครเรื่องนี้ขนาดไหน

เล่นจริง เขินจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน

เราเชื่อว่าแฟนละครหลายคนที่ติดตามรับชมละครเรื่องนี้ ต้องแอบเขินให้กับหนุ่ม ๆ ในเรื่องกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ปกรณ์ (รับบทโดย ก๊อต-จิรายุ) #ทีมปกรณ์ หรือ หม่องสะ (รับบทโดย เดาง์) #ทีมสะสะ ที่ผลัดกันปาโมเมนต์หวาน ๆ ชวนให้แฟนละครใจสั่นอยู่เรื่อย และยังมี ชเว ต่าว มิน (รับบทโดย แก๊ป-ธนเวทย์) #ทีมพระมหาอุปราช ที่มาในลุคหล่อเข้มกระชากใจ ซึ่งคุณผู้กำกับแอบแฉว่านางเอกของเราเขินมาก่อนผู้ชมทางบ้านอีกจ้า 

ในละครเรื่องนี้ได้รับเกียรติจากนักแสดงรุ่นใหญ่หลายคน ซึ่งล้วนแต่ผ่านงานแสดงมาอย่างโชกโชน เป็นธรรมดาของนางเอกน้องใหม่อย่าง ตังตัง-นัฐรุจี ที่ออกอาการเขินหนักมาก! โดยเฉพาะซีนกุ๊กกิ๊กที่ต้องประกบคู่กับสองนักแสดงหนุ่มรุ่นพี่ที่เขาเก่งเรื่องสีหน้าแววตา เรียกว่าใครไม่เขินต้องใจแข็งมาก

ด้วยความเล่นจริง เขินจริงของนางเอกสาวนี่เอง จึงทำให้บรรยากาศออกมาเรียล เป็นธรรมชาติจนผู้ชมทางบ้านต่างฟินจิกหมอนไปตาม ๆ กัน หรือแม้กระทั่งผู้กำกับเอง ก็ยังออกตัวเลยว่ามีเขินเหมือนกันนะแต่ไม่แสดงออก 

ได้กลิ่นความปัง! ตั้งแต่ยังไม่ออนแอร์

กว่าจะเป็นละครดี ๆ สักเรื่องให้เราได้ดูกัน ผู้กำกับบอกว่าทีมงานทุกคนต้องทุ่มกันสุดตัวสุดใจกว่าจะได้ออนแอร์ นอกจากสารพัดปัญหากองละครแล้ว ยังเจอกับพิษโควิดเล่นงานทำให้ต้องใช้เวลาถ่ายทำไปถึง 3 ปี กว่าจะได้มาแต่ละซีนไม่ใช่เรื่องง่าย หนึ่่งในซีนที่ยากกว่าจะได้มา คือ "ฉากรำบุษบาเสี่ยงเทียน" ไฮไลท์ที่กลายเป็นไวรัลใน Tiktok ที่ต้องถ่ายทำกันถึง 3 รอบ และใช้ตัวละครสมทบมากกว่า 200 ชีวิตภายในวันเดียว

การถ่ายวันแรกจำเป็นต้องเลิกกอง เพราะมีหนึ่งในทีมงานติดโควิด โดยการถ่ายครั้งที่สองเว้นไปถึง 3 เดือน ถึงเริ่มถ่ายทำใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีเหตุให้เลื่อนออกไปอีก เนื่องจากความเหนื่อยล้าของนักแสดงที่ต้องแสดงมาทั้งวัน แม้จะมีสปิริตนักแสดงขนาดไหน แต่สีหน้าแววตาก็บ่งบอกว่าทุกคนเหนื่อยล้าเกินไป ด้วยความอยากให้ฉากนี้ออกมาดีจริง ผู้กำกับจึงต้องเลื่อนไปถ่ายใหม่เป็นครั้งที่สาม ถึงได้ฉากรำบุษบาเสี่ยงเทียน ที่ทั้งสีหน้าแววตาของนักแสดงมาครบ จนได้รับการพูดถึงในโลกออนไลน์ว่าสวยงามจับใจ

ทลายกำแพงภาษา เปิดประสบการณ์การรับชม 

สำหรับแฟนละครจะรู้กันดีว่า ละครเรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้ 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาไทยใหญ่ และภาษาเมียนมา ซึ่งคุณจะได้เห็นตัวละครชาวเมียนมาพูดโต้ตอบกับชาวโยเดียที่ใช้ภาษาไทยผสมผสานกันไปมา เนื่องจากทีแรกผู้กำกับต้องการให้เดาง์โต้ตอบเป็นภาษาไทย โดยให้ท่องภาษาคาราโอเกะ แต่วิธีนี้ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่นัก เพราะติดปัญหาตรงที่การสื่ออารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ไม่เต็มที่

กลับกันเมื่อเดาง์ใช้ภาษาบ้านเกิด การแสดงออกทางสีหน้าแววตาของเจ้าตัวก็ลื่นไหลได้อารมณ์มากเสียจนผู้กำกับตัดสินใจให้เดาง์พูดภาษาเมียนมาต่อไป ซึ่งจุดนี้แหละที่ทำให้ทีมงานต่างกังวลว่ากำแพงด้านภาษา อาจส่งผลให้คนดูทางบ้านรู้สึกติดขัดว่า เอ๊ะ! ทำไมตัวละครนี้ถึงพูดภาษาเมียนมา โต้ตอบกับคนไทยล่ะ? แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะทีมงานแทบไม่เจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเลย  

ทีมผู้กำกับคาดว่านี่อาจเป็นผลพวงจากศักยภาพของคนดูที่พัฒนาขึ้น จากการดูภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างประเทศ ด้วยความหลากหลายนี้เอง ช่วยให้คนดูมีความเข้าใจและเปิดกว้างด้านวัฒนธรรมภาษามากขึ้น จนสามารถก้าวข้ามมิติด้านภาษาไปโดยไม่กังขา นั่นเอง

ยิ่งกว่าภาพสวย คือการสื่อสารอารมณ์ที่ยอดเยี่ยม! 

นอกจากนักแสดง และผู้กำกับฝีมือดีแล้ว ละครเรื่องนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้กำกับภาพมือรางวัล เปีย-ธีระวัฒน์ ที่มีผลงานดังตั้งแต่ "ชั่วฟ้าดินสลาย" หรือ "บุญชู จะอยู่ในใจเสมอ" เพียงแค่ผลงานที่เรายกมา เพื่อน ๆ ก็น่าจะสัมผัสได้ว่าฝีมือการถ่ายทำของเขาคนนี้ต้องไม่ธรรมดา และแน่นอนว่างานภาพในละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ก็ไม่ทำให้ใครหลายคนต้องผิดหวัง

มากกว่าความสวยของแสง สี และมุมกล้องที่ค่อนไปทางซีเนมาติก (Cenematic) คือการถ่ายทอดอารมณ์และความหมายผ่านภาพ ที่คุณเปียให้ความสำคัญมากไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างบางฉากที่ผู้ชมอาจรู้สึกว่ามืดไป แท้จริงแล้ว คือความตั้งใจของผู้กำกับภาพเพื่อให้เราโฟกัสไปยังแววตาของนักแสดง ที่จะประกายออกมาชัดเจนที่สุดเมื่อแสงน้อย

ความเจ๋งยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คุณเปียยังแอบใส่เทคนิคการถ่ายทำแบบซีนยาว (Long take) หรือการถ่ายแบบต่อเนื่อง เป็นเทคนิคที่เรามักเห็นได้จากภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอเสียส่วนใหญ่ โดยการถ่ายทำซีนยาวจะไม่มีการสั่งคัต หากผิดพลาดเพียงจุดเดียว นั่นหมายถึงการเริ่มถ่ายใหม่ทั้งหมด

การถ่ายแบบเทคยาวจึงขาดไปไม่ได้เลย คือฝีมือของช่างภาพ และความสามารถของนักแสดงที่สติต้องมั่น บทแม่น คิวเป๊ะ ขนาดที่ว่าก๊อตพระเอกของเรายังบอกว่า ต้องเตรียมพร้อมตื่นตัวตลอดเวลา ถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของนักแสดงในเรื่องนี้ ที่ต้องรับส่งกับคิวกล้องที่จะเคลื่อนอย่างไม่หยุด แหม ธรรมดาที่ไหนล่ะผู้กำกับภาพของเรา!

กราฟิกสมจริงจนต้องท้าให้เอาปากกามาวง

ความพิเศษในละครเรื่องนี้อีกอย่าง คือ คอมพิวเตอร์กราฟิกสมจริงไม่จกตา ดูแล้วรับรองว่าไม่เสียอรรถรสแน่นอน! นอกจากงานภาพสมจริงแล้ว สิ่งที่มาพร้อมกันคือ ความถูกต้องของสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ก่อร่างจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แบบที่ไม่ได้มโนขึ้นมาเอง โดยได้ รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาช่วยดูแลในส่วนนี้

หนึ่งในเหตุที่ต้องมีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในเรื่อง เกิดจากปัญหาที่ไม่สามารถไปถ่ายทำถึงพระอุโบสถวัดมหาเตงดอจี ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นซีนสำคัญที่จะพาเราไปพบกับร่องรอยชาวโยเดีย จากจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสกุลช่างอยุธยา เนื่องจากเป็นซีนสำคัญทางทีมละครจึงแก้ปัญหาด้วยการสแกนพระอุโบสถออกมาในรูปแบบสามมิติ แล้วมาต่อยอดโดยอาศัยงานวิชาการควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจารย์บอกกับเราว่าเป็นงานที่หนักและใช้เรี่ยวแรงคนไปเยอะมาก เขาเพียงคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วอุโบสถมหาเตงดอจีก็ได้มาโลดแล่นให้เราเห็นบนจอละคร จากความพยายามของทีมงานทุกคน 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  • วัดมหาเตงดอจี (Maha Thein Taw Gyi) เป็นวัดโบราณเล็ก ๆ ในประเทศเมียนมา ตั้งอยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing) ไม่ไกลจากเมืองมัณฑะเลย์ แม้ชื่อเสียงจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมาก แต่นักวิชาการคาดว่าเป็นอีกหนึ่งร่องรอยของชาวโยเดียในอดีต สังเกตได้จากงานจิตรกรรมฝาผนังที่ประกอบด้วย ลวดลายกระหนก หรือบุษบก 9 ยอด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สกุลช่างอยุธยา

ท่าร่ายรำ มาได้เพราะพรหมลิขิต!

กว่าจะได้เห็นฉากรำสวย ๆ ไม่ได้มาง่าย ๆ อย่างที่คิด เพราะนอกจากการฝึกซ้อมท่ารำแล้ว ในฐานะนักแสดง ความท้าทายอยู่ตรงที่ต้องรู้ว่าแต่ละท่ารำ สื่ออารมณ์ประมาณไหน และนักแสดงต้องสื่อสารออกมาให้คนดูเข้าใจให้ได้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร การร่ายรำจึงไม่ใช่เพียงการออกท่าทางเฉย ๆ แต่ต้องเต็มไปด้วยอารมณ์ ไม่ว่าจะสีหน้า หรือการเกร็งกล้ามเนื้อแต่ละมัดในร่างกาย เพื่อเน้นความหมายโดยที่ไม่ต้องใช้คำพูด เรียกได้ว่าเป็นงานหินสำหรับนักแสดงเลยก็ว่าได้

แม้ว่าท่าร่ายรำมีรายละเอียดเยอะมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคของเหล่านักแสดง ที่ทีมงานต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งตังตัง และเดาง์ เรียนรู้ได้เร็วมาก โดยเฉพาะตังตังที่แม้ไม่ได้มีประสบการณ์รำมาก่อน ก็สามารถออกลวดลายได้อย่างมืออาชีพ

โดยละครเรื่องนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณเอ็ม-ยุทธนา และคุณอั๋น-วีระพงษ์ แห่ง คณะคิดบวกสิปป์ กลุ่มคนที่มีใจรักนาฎศิลป์มาเป็นผู้ออกแบบท่ารำ และควบคุมฉากนาฏศิลป์ในละคร  โดยคุณเอ็มบอกกับเราว่าการได้มาร่วมงานในละครเรื่องนี้ ถือว่าเป็นพรหมลิขิต เพราะก่อนหน้านั้น ได้ศึกษาเกี่ยวกับท่าร่ายรำในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับช่วงเวลาในละคร โดยได้นำโขนสมัยนั้น มาดัดแปลงเข้ากับการรำมโนราห์ จนเกิดเป็นโขนสมมติและทำแสดงที่ วัดปราสาท จังหวัด นนทบุรี

ด้วยความบังเอิญคุณผู้กำกับได้เดินทางไปรับชมการแสดงนี้พอดีแล้วเกิดความประทับใจมาก จึงชักชวนให้คุณเอ็มและคุณอั๋นมาร่วมงานกัน จนเราได้เห็นการแสดง ชุด บุษบาเสี่ยงเทียน กับ โขมสมมติอยุธยา ต้นฉบับฉากรำสุดประทับใจในละครนั่นเอง 

นอกจากเบื้องหลังความพิเศษของละครแล้ว ยังเห็นถึงความตั้งใจของผู้จัด ทีมงาน และนักแสดงทุกชีวิต ที่ทุ่มกันสุดตัวกว่าจะได้ละครดี ๆ สักเรื่อง รู้อย่างนี้แล้วใครที่ยังไม่ได้ดูต้องรีบแล้ว! และสำหรับแฟน ๆ คนไหนที่ยังมูฟออนไม่ได้ สามารถรับชมละครย้อนหลังได้ที่ VIPA







แท็กที่เกี่ยวข้อง
#จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี, 
#ละคร, 
#โยเดีย, 
#เดาง์, 
#ตังตัง, 
#ก๊อตจิรายุ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี, 
#ละคร, 
#โยเดีย, 
#เดาง์, 
#ตังตัง, 
#ก๊อตจิรายุ 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา