(8 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยแพร่เอกสาร “กิจกรรมเสริมหลักสูตรการฝึกอบรมนักเรียนให้เกิดทักษะการเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และภัยพิบัติ” พร้อมกำหนดกรอบเวลาจัดกิจกรรม 16 พ.ค. – 20 มิ.ย. นี้
โดยเอกสารกิจกรรมฯ ระบุว่า เพื่อตอบสนองต่อนโยบายระดับชาติ ในการเสริมสร้างความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้ สพฐ. จัดทําขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการเผชิญเหตุให้แก่นักเรียนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
รวมถึงมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเชิงป้องกันให้แก่นักเรียนได้ตระหนักถึงความเสี่ยง การวางแผนรับมือที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในภาวะวิกฤตและยังส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ครอบครัว และชุมชน
กิจกรรมฯ ให้ความสําคัญกับผลลัพธ์ 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะ (Attitude) เพื่อนําไปสู่สมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน (Core Competencies) ได้แก่ สมรรถนะด้านการจัดการตนเอง (Self-Management) สมรรถนะด้านการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking)
สมรรถนะด้านการสื่อสาร (Communication) สมรรถนะด้านการรวมพลังทํางานเป็นทีม (Teamwork Collaboration) สมรรถนะด้านการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Civic Literacy) และสมรรถนะด้านการอยู่ร่วมกับ ธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน (Sustainable Coexistence with Nature and Science) ในอนาคต
ส่วนพื้นที่ดำเนินการได้แก่ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง สถานศึกษาทุกแห่ง และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนทุกคน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในสังกัด สพฐ. โดยกิจกรรมฯ ครอบคลุมทุกภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แผ่นดินไหว, สึนามิ, ดินถล่ม, อุทกภัย, ไฟป่า, วาตภัย, หมอกควัน และภัยแล้ง ทั้งหมด 8 กิจกรรม รวมระยะเวลา 23 ชั่วโมง
ที่มา : กิจกรรมเสริมหลักสูตรการฝึกอบรมนักเรียนให้เกิดทักษะการเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และภัยพิบัติ