“เรามีวิชาที่พูดถึงร่างกายเยอะมาก แต่วิชาที่พูดถึงจิตใจ และการพัฒนาของดวงจิต ยังไม่เข้มแข็งพอ”
เมื่อห้องเรียนวิชาศิลปะ ไม่ใช่แค่การวาดรูประบายสีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักกับตัวเอง และมีแนวทางชีวิตที่มั่นคง แต่จะทำได้อย่างไร ALTV ชวนฟัง “ครูมอส - อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี” จิตรกรและนักศิลปะบำบัด และ “ครูใหญ่โรงเรียนในภูเขา”
เพราะในช่วงพัฒนาการ 7 ปีแรกของเด็กเล็ก ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิตที่จะเติบโตหลังจากนี้ ถ้าทำศิลปะให้เป็นเรื่องเดียวกับการพัฒนาทางด้านจิตใจ สิ่งนี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่น ได้มีพลังใจหล่อเลี้ยงให้เขาเติบโตต่อไป
“สิ่งที่เห็นคือ เด็กจำนวนมาก ไม่สมดุล มีปัญหาเจ็บป่วยทางจิตใจ ศิลปะบำบัด จึงเป็นงานทางใจ เมื่อเราระบายสี เมื่อเราปั้น เมื่อเราเคลื่อนไหว เมื่อเราร้องเพลง พลังงานของศิลปะ จะกลับไปโอบอุ้มความไม่สมดุลของแต่ละคน”
ครูมอสเล่าว่า เวลาพูดถึงศิลปะ คนมักนึกถึงความงาม แต่สำหรับครูมอสแล้ว ในเวลาที่เริ่มต้นทำงานศิลปะ เช่น วาดภาพ จะมาจากการหายใจเสมอ ศิลปะด้านในมีพื้นฐานมาจาก ศิลปะมนุษยปรัชญา สิ่งใดที่ทำให้เราสามารถออกแบบศิลปะ ให้เข้าไปในระบบการศึกษาที่เชื่อมถึงการพัฒนาจิตได้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และศิลปะเป็นสิ่งที่เด็กอยู่ใกล้ชิดที่สุด เด็กทุกคนสามารถวาดรูปได้โดยที่ไม่มีใครสอน
ถ้าเราทำศิลปะให้เป็นเรื่องเดียวกับการพัฒนาทางด้านจิตใจ และปูรากฐานในเรื่องสำคัญ เช่น ความสงบ การได้อยู่กับตัวเอง การได้ค่อยๆ ค้นพบตัวเอง จะทำให้กระบวนการศิลปะกับกระบวนการชีวิต เป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า ศิลปะ ตามหลักสูตรของโรงเรียนในภูเขา จึงไม่ใช่ศิลปะธรรมดา แต่มีกระบวนการที่ผู้คนที่จะนำไปใช้ ต้องให้ความสำคัญว่า มันต้องเข้าถึงความรู้สึกทางด้านใน และกระบวนการทำงานที่เป็นองค์รวม
“โรงเรียนในภูเขาใน 5 ปีที่ผ่านมา เราสนใจเด็กกลุ่มเสี่ยง หรือว่าอยู่ในพื้นที่ของการย้ายถิ่นฐาน อยู่ในแง่มุมที่อาจจะไม่ปลอดภัย เป็นกลุ่มที่เราสนใจที่จะทำในรูปแบบของศิลปะที่ไปชุบชูใจ เพราะเรามีเป้าหมายว่าโรงเรียนในภูเขาเป็นโรงเรียนต้นแบบให้กับสังคมในมุมมองของรูปแบบของการจัดการศึกษาที่เรียกว่าเป็นทางเลือก”
“วิชาร้องเพลงและเข้าจังหวะ” เป็นอีกหนึ่งวิชาสำคัญของห้องเรียนนี้ “ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก” นักดนตรีบำบัด ในฐานะครูสอนดนตรีและจังหวะ กล่าวว่า หากเด็กๆ ได้ร้องเพลงในตอนเช้า จะถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ ในการเริ่มต้นของแต่ละวัน เด็กๆ จะได้ เปิดด้านใน เปิดกาย เปิดวาจา เปิดน้ำเสียง วิชาร้องเพลงจะปูพื้นฐานให้เด็กตื่นรู้ขึ้น ได้ฟังเสียงเพื่อนด้วยกัน อยู่ในมวลเพลงเดียวกัน ไปด้วยกัน มันเป็นการรวมข้างในของเด็ก
“ก่อนหน้านี้ เด็กๆ มองว่าดนตรีก็คือไปเต้นรำสนุกสนาน แต่ในมิติที่เราให้ เราสอนให้เปล่งเสียงร้อง และทำดนตรีที่ไม่ยาก ทำดนตรีที่เขาเข้าใจได้ง่าย เพราะเด็กๆ ทุกคน ควรจะมีจังหวะชีวิตที่ดี มันจะเหมือนกับมีชีพจรอยู่ในชีวิตของเขา”
การเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ ยังช่วยให้เด็กหลุดจากภาวะสมาธิสั้นได้ อย่างกิจกรรมลาวกระทบไม้ เขาจะแหย่เท้าตอนไหน เขาจะเอาเท้าขึ้นตอนไหน เพื่อไม่ให้โดนบีบ นี่คือจังหวะที่เด็กเรียนรู้ และทำให้ก้าวผ่านความกลัวได้
“จริงๆ เด็กกลัว เพราะฉะนั้น เราจะก้าวผ่านความกลัว แล้วแหย่ลงไป แล้วกลับมาได้ วันนี้เห็นหลายคนที่ก้าวผ่านความกลัวจริงๆ เพราะเขามั่นใจว่า เดี๋ยวมันต้องเปิดแน่ๆ และเดี๋ยวมันก็ต้องปิด”
และสุดท้ายในเรื่อง “การร้องเพลง” เด็กๆ ต้องเข้าใจว่า เสียงมันเกิดในตัวเรา แล้วมันผ่านกระบวนการที่ทำให้ออกมาเป็นคำพูด เพราะฉะนั้นเสียง จึงเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน เป็นการแสดงถึงตัวตนที่ชัดที่สุด จึงไม่จำเป็นว่าต้องไปหัดร้องเพลงจนเพราะแล้วค่อยร้องได้ แต่การร้องเพลงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้ มันคือตัวเรา เราสามารถร้องออกมาอย่างภาคภูมิ เปล่งเสียงออกมาได้เต็มที่ เพื่อแสดงว่าข้างในตัวเรามั่นคงพอ
“การปั้น” เป็นวิชาต่อมาของห้องเรียนนี้ ครูมอสเล่าว่า วิชานี้จะให้เด็กได้ทำงานศิลปะอิสระ “Free Play” โดยครั้งนี้ให้เด็กๆ ได้ปั้นดินอย่างอิสระ
“การทำวงกลม ก็เหมือนกับการที่ข้างในของเรา อยู่ในความสงบในเส้นเดียวกัน เป็นเส้นที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่เราเรียกว่า เส้นเดียวกับจักรวาล ดินจะถูกพัฒนาขึ้นไปจากวงกลม แล้วค่อยๆ หาว่า ศีรษะหรือท้ายของสัตว์ หรือว่าลำตัว หรือหางของสัตว์ อยู่ตรงไหน วิธีการนี้ทำให้เด็กไปกับงาน แล้วงานยังอยู่ในเนื้อในตัวของเด็ก”
และเนื่องจาก ดิน มีคุณสมบัติอีกข้อที่น่าสนใจ คือ มีความเป็นมวล มีความมั่นคง ดังนั้น เมื่อเราปั้นไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยย้ำความรู้สึกว่า เราอยู่ตรงนี้ เราอยู่กับมือ และโต๊ะที่กำลังปั้น
“ดินไม่ต้องการการดึง แต่ต้องการการดูแล ดึงกับดูแลไม่เหมือนกัน ดึงคือกระชากให้มา แต่ดูแลก็คือค่อยๆ ชวนให้เปลี่ยนรูปทรงทีละเล็กทีละน้อย”
ครูมอส เปรียบเทียบว่า ในห้องเรียนเดียวกัน ถ้าเป็นวิชาอื่น บางทีจะมีเสียงพูดคุย แต่หากเป็นวิชาปั้น จะเงียบเสมอ เพราะฐานของการทำงานจะไปอยู่ที่มือ เท้า และท้อง จึงเป็นกิจกรรมที่ดีมากสำหรับเด็กที่มักจะ “ออกนอกตัว” หรือมีอาการจิตเหม่อ จิตนึกถึงอย่างอื่น แต่ ดิน ช่วยย้ำว่า ก้อนดินอยู่ในมือของเด็ก
หลังจากเด็กๆ รู้ทิศทางของตัวเอง อีกวิชาที่ปรับเข้ามาในหลักสูตร ก็คือ Story Telling หรือเป็นการที่เรากำลังทำงานกับจินตภาพ “ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท” ครูสอนวิชาเล่าเรื่อง บอกว่า “การเล่าเรื่อง” ทำให้คนมีความสัมพันธ์กับตัวเอง และมีความสัมพันธ์กับโลกใบนี้
“การที่ใครคนหนึ่งจะรู้สึกถึงความงามในธรรมชาติ มันต้องมีประสบการณ์ หรือมีกิจกรรม หรือมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกอย่างนั้นได้ เลยใช้เรื่องอาหารเป็นตัวนำโยงเข้ามาว่า โลกใบนี้เราอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 สิ่งนี้ก็จะโยงเข้ามา เป็นเรื่องของศิลปะในการเล่าเรื่อง ถอดบทเรียนกัน มาเรียงร้อยต่อกัน เพราะว่าความรู้ไม่ใช่เฉพาะคนเล่าที่ให้ความรู้ แต่คนฟังในมวลทั้งหลาย ก็สามารถที่จะมาร่วมเล่าเรื่องนี้ให้สนุกสนาน”
ครูอุ้ยบอกว่า การใช้ อาหาร เป็นตัวนำพาการเล่าเรื่อง ช่วยจูงความสนใจของเด็กได้มาก โดยใช้คำสั้นๆ ว่า “จานนี้มีเรื่องเล่า” สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่แค่ได้ผลลัพธ์เป็นอาหารเท่านั้น แต่ยังกินได้อร่อยด้วย ที่สำคัญคือ กระบวนการก่อนที่จะมาถึงผลลัพธ์ว่า มันเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น มันมีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา
“เราไม่ได้หวังว่า มันจะต้องจบที่กินได้แล้วอร่อยอย่างเดียว ในฐานะที่เป็นครู อยากจะเห็นว่าเด็กมีการแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราแก้ปัญหาได้ไหม เขารู้หรือยังว่า สิ่งที่มันเป็นอยู่ มันคือปัญหาแล้ว กระบวนการระหว่างทางจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด สำหรับจานนี้มีเรื่องเล่า”
ครูมอส ย้ำว่า ศิลปะด้านในอยู่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคน เราต้องหามันให้เจอ แล้วส่งต่อไปกับเด็กที่อยู่รอบข้างเรา เพราะแก่นแท้ของศิลปะด้านในคือ เราได้เห็นเด็กข้างหน้าของเรา “อย่างแท้จริง” หรือไม่ และเราได้พาศิลปะนั้น เข้าไปในธรรมชาติของเขา ซึ่งเราเคารพและให้เวลากับการเติบโตกับด้านในของเด็กคนหนึ่ง โดยที่เราไม่คาดหวังหรือมีความสำเร็จมามอบให้
หมายเหตุ : ถอดความจาก รายการ First Class ห้องเรียนแรก ตอน ห้องเรียนศิลปะด้านใน (จิตใจ) เผยแพร่ครั้งแรกทางช่อง ALTV หมายเลข 4 วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568