ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เรื่องเล่าความดีงามของ 4 พระอาราม แรงบันดาลใจละครบุษบาลุยไฟ
แชร์
ฟัง
ชอบ
เรื่องเล่าความดีงามของ 4 พระอาราม แรงบันดาลใจละครบุษบาลุยไฟ
13 ส.ค. 66 • 04.00 น. | 493 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

จากกระแสความนิยมของ ‘ละครบุษบาลุยไฟ’ เกิดเป็นกิจกรรม ‘ล่องเรือเล่าเรื่อง บุษบาลุยไฟ’ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยไทยพีบีเอสได้พาแฟนละครตัวยง ล่องเรือตามรอยละครในสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 และเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมละครยิ่งขึ้น ALTV จะพาทุกคนไปชมจุดสำคัญจาก 4 พระอาราม สถานที่ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในละครบุษบาลุยไฟ พร้อมเกร็ดน่ารู้และเรื่องเล่าที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน

🛕วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ฝั่งธนฯ

ชมจิตรกรรมฝาผนัง ผลงานเลื่องชื่อ ‘ครูทองอยู่’ และ ‘ครูคงแป๊ะ’

เมื่อพูดถึง วัดสุวรรณาราม มีฉากสำคัญฉากหนึ่งในละครบุษบาลุยไฟ นั่นคือ การประชันฝีมือกันของ 2 ช่างเขียนใหญ่ ระหว่าง ‘ครูทองอยู่’ กับ ‘ครูคงแป๊ะ’ จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการ ‘กั้นผ้าขาว’ วาดภาพบนฝาผนังพระอุโบสถ อย่างไม่มีใครยอมใคร ซึ่งตัวละครทั้งสองเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

 

นอกจากนี้ ในละครผู้ชมยังได้เห็นระบบการทำงานของช่างไทยสมัยโบราณ ทั้งการเตรียมงาน อุปกรณ์ และการผสมสีอีกด้วย แม้ทั้งคู่จะไม่กินเส้นกัน แต่ต่างให้ความเคารพนับถือ ชื่นชมผลงานของอีกฝ่าย และมีความผูกพันต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ

 

🔸ชมละครบุษบาลุยไฟ ตอนที่ 3 : การประชันฝีมือ ‘ครูทองอยู่’ กับ ‘ครูคงแป๊ะ’ (คลิก)

ความสำคัญของ ‘วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร’

วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ที่เต็มไปด้วยจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทยอันน่าทึ่งมากมาย จึงมีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง หลายสมัย เพื่อคงความงดงามไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม เดิมวัดนี้ชื่อว่า ‘วัดทอง’ เป็นวัดเล็ก ๆ ประจำชุมชน ลักษณะเป็นลานกว้าง สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 รับไว้ในพระราชูปถัมภ์ฯ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นและสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งวัด มีการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร เก๋งหรือศาลาเล็กด้านหน้า 2 ข้าง ห้องกำแพงแก้ว พร้อมพระราชทานนามว่า ‘ วัดสุวรรณาราม’ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์มีพระนามเดิมว่า ‘ทองด้วง’ สอดคล้องกับชื่อวัด

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามอีกครั้ง พร้อมทั้งให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถอีกด้วย

 

ภายในวัดยังมี ‘เมรุหลวง’ สำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ที่ใช้ซึ่งตามประเพณีต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก และใช้เมรุหลวงสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลที่ 5

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เองก็ได้มีการบูรณะพระอุโบสถ เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา กระเบื้อง และไม้อื่น ๆ ที่ชำรุด ปูพื้นภายในพระอุโบสถ อีกทั้งสมัยรัชกาลที่ 9 กรมศิลปากรก็ได้เข้ามาปรับปรุงซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ชำรุดให้มีคงสภาพเดิมมากที่สุด

⭐ไฮไลท์⭐

จิตรกรรมฝาผนัง งดงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ใครที่ได้มาเที่ยววัดสุวรรณาราม จุดสำคัญที่ห้ามพลาดเลย คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ภายในพระอุโบสถ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ผลงานชิ้นโบว์แดง’ ในบรรดาผลงานทั้งหมดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอายุราว 300 ปี สร้างในรัชกาลที่ 3 ภายในมีผลงานอันเลื่องชื่อของสองจิตรกรเอกสมัยนั้น คือ ‘หลวงวิจิตรเจษฏา’ (ครูทองอยู่) ผู้เขียนภาพเนมิราชชาดก และ หลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก จากการประชันกันเขียนภาพโดยใช้ผ้ากั้นแล้วเปิดออกเมื่องานเสร็จแล้ว

เครดิตภาพ : Pantip.com

ลีลาการวาดภาพของครูทั้งสองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างกันอย่างชัดเจน ‘ครูทองอยู่’ จะวาดภาพตามขนบจิตรกรรมไทยแบบดั้งเดิม เรียกได้ว่าเป็นงานไทยแบบคลาสสิก มีแบบแผน เน้นความยิ่งใหญ่อลังการ ลายเส้นคมกริบ พริ้วไหวอ่อนช้อย ส่วน ‘ครูคงแป๊ะ ’ ค่อนข้างแหวกขนบ มีการสอดแทรกลักษณะของชาวต่างชาติ ลายเส้นเน้นการเคลื่อนไหว ลีลาโลดโผน ช่วยเสริมให้แบบขนบไทยดั้งเดิมดูโดดเด่น

 

ว่ากันว่า กรรมวิธีการวาดภาพของช่างไทยสมัยโบราณ มีความซับซ้อนและประณีตเป็นพิเศษ ต้องมีการเตรียมผนังที่ดี ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้จะเป็น ‘พู่กันหนวดหนู’ ทำจากขนหูวัว ใช้ในการตัดเส้นและลงสี และสีสันต่าง ๆ ผ่านกรรมวิธีผสมสีที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ เช่น สีดำจากเขม่า หรือถ่านของไม้, สีเหลือง สีนวล ได้จากดินตามธรรมชาติ และสีทองได้จาก ทองคำเปลว

 

💡เรื่องลับที่คุณ (อาจ) ไม่รู้

เรื่องอาถรรพ์ของวัดสุวรรณาราม เป็นที่เล่าขานกันว่า ‘วัดนี้ผีดุ’ มีดวงวิญญาณของทหารพม่าจำนวนมาก เพราะเมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินทรงมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้ว มาลงโทษด้วยการตัดคอ ณ วัดทองแห่งนี้ ส่วนสถานที่ฝังศพ คือบริเวณสนามโรงเรียนวัดสุวรรณาราม และบริเวณลานวัดสุวรรณารามในปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้ง ‘ศาลเจ้าพ่อสามทหาร’ ไว้ที่โรงเรียนวัดสุวรรณ หากใครที่มาไหว้ศาลแห่งนี้ เมื่อมองเข้าไปด้านในศาลจะเห็น ภาพวาดเป็นรูปนายกองทหารพม่าไว้สามรูป แทนที่จะมีเจว็ดอยู่ด้านในแบบศาลพระภูมิทั่วไป ทั้งนี้ ก็เพื่อระลึกถึงดวงวิญญาณทหารพม่าที่เสียชีวิตในอดีต นอกจากนี้ด้านหน้าศาลยังมีปิรามิดเล็ก ๆ ตั้งไว้ ด้วยความเชื่อที่ปิรามิดจะสะท้อนสิ่งอาถรรพ์นั้นออกไป

📍จุด Check-in ที่ไม่ควรพลาด

  • สักการะองค์พระประธาน ‘พระศาสดา’ เป็นพระพุทธรูปที่หล่อทองปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าอัญเชิญมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย ชาวบ้านต่างศรัทธาว่า พระศาสดามีความศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้สมประสงค์ได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหาร
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ วงเวียนท่าน้ำวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร มีทั้งแบบไทยที่ประกอบพิธีเททองหล่อ โดยคณะสาธุชนวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร และแบบจีนที่สลักด้วยหินแกรนิตขาว ส่งตรงจากมณฑลซัวเถา สาธารณรัฐประชาชนจีน
  • ชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย อยู่ไม่ไกลจากวัดสุวรรณารามมากนัก เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘การทำขันลงหินแบบโบราณ’ และที่ยังเหลืออยู่แห่งเดียว คือ โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา สิ่งของที่มักซื้อติดไม้ติดมือ ได้แก่ สแตนเลสบ้านบุ

 

การเดินทางไปวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ฝั่งธนฯ ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนน จรัญสนิทวงศ์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

🛥️ทางเรือ : สามารถเหมาเรือเที่ยวคลองบางกอกน้อยได้ทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ 

🚗รถยนต์ส่วนตัว : เข้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ประมาณ 700 เมตร มีที่จอดรถ แผนที่นำทาง (คลิก)

🚌รถประจำทาง : สาย 40, 42, 56, 68, 509, 80, 108 และ 175

🚇รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT : ลงสถานีบางขุนนท์ เดินต่อหรือนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 32

🛕วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร รำลึกเหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิด และการผ่าตัดครั้งแรกในแผ่นดินสยาม

 

ในละครบุษบาลุยไฟ ลำจวน (เฌอปราง อารีย์กุล) และทิม (โมฬีวรรณ พันธรักษ์) ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมมหรสพที่งานวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และอยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ เหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิด คืนนั้นมีการทำไฟพะเนียง (ดอกไม้ไฟ) จากปืนใหญ่ แต่เมื่อจุดชนวนแล้ว กระบอกปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นวงกว้าง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การผ่าตัดอวัยวะครั้งแรกในสยาม โดย หมอบรัดเลย์ (อาร์เธอร์ อภิชาติ กานโยซ์) เป็นผู้รักษาพระรูปหนึ่ง ด้วยการตัดแขนและเย็บแผลจนสำเร็จ

 

🔸ชมเหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิด ในละครบุษบาลุยไฟ ตอนที่ 4 และ 5 (คลิก)

 

ความสำคัญของ ‘วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร’

วัดประยุรวงศาวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย พระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้อุทิศที่ดินสวนกาแฟและสถาปนาขึ้นเป็นพระอาราม สำหรับเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส ต่อมาได้ถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า "วัดประยุรวงศาวาส" แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ‘วัดรั้วเหล็ก’ เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงล้อมรอบ

 

การสร้างวัดประยุรวงศาวาส กินเวลานานถึง 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 และสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 จุดเด่นภายในวัดมี พระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวทรงลังกา ที่เริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับวัด แต่สร้างเสร็จในรัชกาลที่ 4 โดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) เป็นผู้อำนวยการสร้าง

หลายปีให้หลัง พระเจดีย์องค์ใหญ่ได้ถูก 'ฟ้าผ่า' จนยอดพระเจดีย์หัก และไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้บูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นอีกครั้ง

 

ปัจจุบันมีโครงการการบูรณะ พระเจดีย์องค์ใหญ่ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วัดได้รับรางวัลยอดเยี่ยมมากมาย ได้แก่

  • รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2553 ประเภท “ปูชนียสถานและวัดวาอาราม” ด้านการอนุรักษ์งานมรดกศิลปสถาปัตยกรรม
  • รางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 (Award of Excellence) จากองค์การยูเนสโก ให้โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

นอกจากนี้ วัดประยุรวงศาวาส ยังถือป็น ‘วัดพี่วัดน้อง’ กับ วัดพิชยญาติการาม เพราะผู้สร้างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยวัดประยุรวงศาวาส สร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค) และวัดพิชยญาติการาม สร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัต บุนนาค)

⭐ไฮไลท์⭐

อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก อนุสาวรีย์แห่งแรกของประเทศไทย

ตามที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของ หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่มีการฉลองวัดอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ ‘ปืนใหญ่ระเบิด’ และ ‘การผ่าตัดแบบฝรั่งครั้งแรกของไทย’ ดังที่เล่าไว้ข้างต้น 

 

ภายหลังจากการระเบิดครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้สร้างอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต โดยทำเป็น เจดีย์ยอดปืนใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ภายหลังได้ย้ายอนุสาวรีย์นี้มาสร้างใหม่เป็น อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) นับว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกในสยาม

 

อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก มีลักษณะเป็นแท่นฐานทำเป็นสี่เหลี่ยมอย่างง่าย มีปืนใหญ่สามกระบอกปักลงไปในแท่น หัวท้ายศิลปะนูนต่ำมีรูปหัวสิงโตยื่นออกมา หน้าแท่นมีแผ่นจารึกข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างละแผ่นระบุว่า

 

“อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช 1198 ให้เป็นที่ระลึกแห่งปืนใหญ่ระเบิด เป็นที่เสียชีวิตหลายในเวลามีงานมหกรรมการฉลองพระอารามนี้ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้สร้างพระอารามนี้ ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ ในปีระกา สัปตศักราช 1249 โดยปัจฉิมบุตรของท่าน พระยาภาสกรวงศ์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระเดชพระคุณท่านผู้สร้างสืบไป ”

💡เรื่องลับที่คุณ (อาจ) ไม่รู้

มีการแนะนำกันปากต่อปากว่า ‘การลอดอุโมงค์วัดประยูรฯ’ ถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตนัก แล้วยังเชื่ออีกว่าเป็น การสะเดาะเคราะห์ให้หลุดพ้นจากเคราะห์ร้าย เคล็ดลับ คือ ขณะที่ลอดอุโมงค์นี้ ให้ตั้งสมาธิ สวดคาถาในใจว่า นะมามีมา มะหาลาภา เอหิ จิตตัง ปิยัง มะมะ นะมามิหัง พุทโธ มัง รักขะติ นะโมพุทธายะ สวด 3 จบ จากนั้นจึงอธิษฐานก็จะได้ในสิ่งที่ปรารถนา

 

ไม่เพียงแต่ความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น การลอดอุโมงค์เรายังได้เห็นโครงสร้างภายในเจดีย์องค์สีขาวขนาดใหญ่ ที่เป็นรูปแบบการก่อสร้างเจดีย์แบบช่างอยุธยาดั้งเดิม ซึ่งในประเทศไทยเหลือเพียงแห่งเดียวที่ยังอนุรักษ์เทคนิคนี้ไว้ กลางเจดีย์มีลักษณะกลวง มีเพียงเสาแกนกลางเรียกว่า “เสาครู” ก่อด้วยอิฐโบราณของเดิมที่ยังคงอยู่ และ เสาค้ำบัลลังก์ ทำหน้าที่ช่วยค้ำน้ำหนักส่วนยอดของพระเจดีย์ด้านบน

📍จุด Check-in ที่ไม่ควรพลาด

  • รั้วเหล็กโบราณแบบฝรั่ง ที่ซื้อด้วย ‘น้ำตาลทราย’ รั้วเหล็กที่เห็นล้อมรอบตอนหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และเขามอ มีลักษณะพิเศษต่างจากรั้วเหล็กทั่วไป เป็นรูป ‘อาวุธโบราณ’ คือ หอก ดาบ และขวาน เล่าขานกันว่านำเข้าจากประเทศอังกฤษ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 โดยใช้ ‘น้ำตาลทราย’ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของสยามในเวลานั้น แลกเปลี่ยนกันตามน้ำหนักกับรั้วเหล็กแบบ ‘น้ำหนัก ต่อน้ำหนัก’ ปัจจุบัน รั้วเหล็กโบราณมีอายุกว่า 190 ปี ภายหลังมีการบูรณะและสร้างรั้วเหล็กเพิ่มเติมให้มีรูปทรงคล้ายกับรั้วเหล็กเดิม แต่มีขนาดเล็กกว่าและทาสีแดง เพื่อให้แยกแยะง่ายถึงความแตกต่าง ระหว่างรั้วดั้งเดิมกับรั้วเหล็กที่ทำขึ้นใหม่
  • อุทยานเขามอ อุทยานแห่งนี้รู้จักกันในชื่อ "เขาเต่า" ภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยศิลา มียอดเขาลดหลั่นกันตามลำดับ ตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด นักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ สัมผัสความงดงามและความร่มรื่นของพันธุ์ไม้นานาชนิด อีกทั้งยังสามารถให้อาหารเต่าและตะพาบน้ำได้ตามอัธยาศัย ปีพ.ศ. 2522 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ในฐานะเป็น “ถาวรวัตถุสำคัญของชาติ”

การเดินทางไปวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี อยู่บนถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปง่ายหลายวิธี

🛥️ทางเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ราคา 21 บาท ลงท่าเรือสะพานพุทธ เดินข้ามฝั่ง หรือเหมาเรือเที่ยวได้ทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ ลงที่ท่าเรือท่าเรือวัดประยูรวงศาวาส-สำนักเทศกิจ

🚗รถยนต์ส่วนตัว : ปักหมุดจากวงเวียนใหญ่ ขับบนเส้นถนนประชาธิปก หรือจาก Iconsiam ขับบนถนนสมเด็จเจ้าพระยา มุ่งหน้าไปยังถนน พญาไม้ ภายในที่วัดมีที่จอดรถ แผนที่นำทาง (คลิก)

🚌รถประจำทาง : สาย 4, 7ก, 10, 21, 37, 39, 40, 42, 82, 85

🚇รถไฟฟ้า BTS : ใกล้สถานีคลองสาน และสถานีวงเวียนใหญ่

📞ช่องทางติดต่อ

🛕วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) แกะปริศนาภาษาไทย จาก 'โคลงกลบท' บนศิลาจารึก

 

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 3 มีการปฏิสังขรณ์ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือ “วัดโพธิ์ ท่าเตียน” ครั้งใหญ่ ได้มีการรวบรวมวิชาความรู้มากมายจารึกไว้บนแผ่นศิลามาประดับไว้ตามจุดต่าง ๆ ของวัดแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาอย่างเท่าเทียม ที่น่าสนใจ คือ ‘จารึกโคลงกลบท’ ภูมิปัญญาด้านภาษาไทยของคนโบราณ ซึ่งในละครบุษบาลุยไฟก็ปรากฏโคลงกลบทชนิดหนึ่ง ชื่อ ‘โคลงกลบทดาวล้อมเดือน’ ซึ่งมีวิธีการอ่านที่แตกต่างจากบทกลอนทั่วไปที่ทุกคนเคยรู้จัก

 

🔸ชมวิธีการอ่านโคลงกลบทดาวล้อมเดือน ในละคร บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 11 (คลิก)

 

ความสำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 1 เดิมชื่อ ‘วัดโพธาราม’ เพราะเป็นที่ประดิษฐานของต้นพระศรีมหาโพธิ์จาก เมืองลังกา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัย ‘พระเพทราชา’ ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า ‘วัดโพธิ์’

 

ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระนครมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้บูรณะวัดโพธิ์ที่เก่าแก่ให้ดีกว่าเดิม พร้อมพระราชทานนามว่า ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ’

 

ราว ๆ พ.ศ. 2374 รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สยามมีการค้าขายกับชาวจีน ในบูรณะวัดครั้งนี้จึงได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะจีนซึ่งเป็นแบบพระราชนิยม มาผสมผสานกับศิลปะไทยด้วย จุดเด่นอยู่ตรงหลังคาของโบสถ์หรือวิหาร โดยตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ออกให้เหลือแต่แบบเรียบ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแจกันจีน ใช้เวลา 16 ปี

ในรัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อ เป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” และสร้างพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ประจำรัชกาล 1-4 ประกอบด้วย พระมหาเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง และเพิ่มมุมเป็นยี่สิบมุม จำนวน 3 องค์ เรียงต่อกันในแนวแกนขนานกับกำแพงแก้วด้านหน้า นอกจากนี้ ยังมีพระเจดีย์รายประดิษฐานอยู่บริเวณวัดโดยรอบ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จึงถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวน 99 องค์

 

บทบาทของวัดโพธิ์ในสมัยก่อน เปรียบเสมือน ‘มหาวิทยาลัยแห่งแรกของคนไทย’ เพราะการเล่าเรียนในสมัยนั้นหาตำราและหนังสือเรียนได้ยาก จึงกลายเป็นศูนย์รวมวิชาความรู้สาขาต่าง ๆ มากมาย เช่น ศาสนา ภาษา วรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ประเพณีจิตรกรรม ประติมากรรม ตำรายา และการแพทย์แผนโบราณ ของประชาชนชาวสยาม โดยมีการสลักเป็นลายลักษณ์อักษรไว้บนแผ่นหินอ่อน ปัจจุบัน วัดนี้ยังมีชื่อเสียงด้าน ‘โยคะศาสตร์’ และ ‘ตำราการนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

⭐ไฮไลท์⭐

‘จารึกโคลงกลบทวัดโพธิ์’ บทประพันธ์ที่เต็มไปด้วยปริศนา

โคลงกลบทที่วัดโพธิ์ เป็นการรวบรวมผลงานทั้งบทพระราชนิพนธ์ บทพระนิพนธ์ของราชกวีมากมาย ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการประดิษฐ์คำที่มีชั้นเชิงกว่าธรรมดา ดูแล้วเป็นปริศนา ประกอบด้วย 'โคลงกลบท' และกลอักษร เพื่อให้ผู้อ่านได้ฝึกสมอง ลองภูมิความรู้ด้านภาษา เช่น การซ้ำคำ การอ่านสลับไปมา หรืออ่านตามทิศทางต่าง ๆ

 

โดยรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมโคลงกลบท กลอักษรที่น่าสนใจไว้กว่า 50 ชนิด บนแผ่นศิลาจารึกประดับไว้โดยรอบอุโบสถและพระวิหาร บริเวณระเบียงชั้นนอก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ แบ่งได้ 7 ส่วน เรียกว่า 'ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ'

 

ตัวอย่างโคลงกลบทที่น่าสนใจ เช่น

🔸กลบท กลโคลงสักวา ประพันธ์โดย กรมหมื่นไกรสรวิชิต ตั้งอยู่ส่วนที่ 1 บริเวณระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ จารึกกลโคลง 2 แผ่น เป็นการเขียนสักวาหนึ่งบท (8 วรรค) โดยซ่อนคำโคลงไว้ภายในสักวานั้นหนึ่งบท โดยใช้ถ้อยคำเดียวกัน

 

🔸กลโคลงดาวล้อมเดือน ประพันธ์โดย กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ตั้งอยู่ส่วนที่ 7 บริเวณระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ จารึกกลโคลง 2 แผ่น ลักษณะการอ่านจะเป็นการจับคำซ้ำ ย้ำเดินหน้า ย้ำถอยหลัง เริ่มจากเดือนที่อยู่ตรงกลาง แล้วตามด้วยดาวที่ล้อมรอบ

 

ปัจจุบัน จารึกวัดโพธิ์ (Epigraphic Archives of Wat Pho) ได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เป็นพันแผ่น ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้เป็น ‘มรดกความทรงจำแห่งโลก’ (Memory of the World) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปีพ.ศ.2551 และขึ้นทะเบียนในระดับโลกใน ปีพ.ศ.2554

⭐เรื่องลับที่คุณ (อาจ) ไม่รู้

หลายคนคงเคยได้ยิน ‘ตำนานยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้ง’ ที่ทะเลาะกันจนเป็นที่มาของ 'ท่าเตียน' ในปัจจุบัน มีเรื่องเล่าว่า เดิมทียักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งเป็นเพื่อนรักกัน มาวันหนึ่ง ฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้งแล้วผิดนัดไม่ยอมจ่ายหนี้ ยักษ์วัดแจ้งต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันอุตลุด ทำให้บ้านเรือนละแวกนั้นราบเตียนเป็นหน้ากลอง เป็นที่มาของชื่อ “ท่าเตียน” แต่ตามตำนานยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ

 

และที่หลายคนมักเข้าใจผิด คิดว่ายักษ์วัดโพธิ์นั้นคือ 'ลั่นถัน นายทวารบาล' หรือตุ๊กตาสลักหินรูปนักรบจีนขนาดใหญ่ ที่ยืนถืออาวุธเฝ้าซุ้มประตูเข้า - ออกในเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่ความจริงแล้ว 'ยักษ์วัดโพธิ์' มีหน้าตาคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์นี่เอง ปัจจุบันหลงเหลือให้ดู 2 คู่ คือ

  • พญาขร (ผิวกายสีเขียว) กับ สัทธาสูร (ผิวกายสีแดงเสนผสมสีขาว) อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • มัยราพณ์ (ผิวกายสีม่วงอ่อน) กับ แสงอาทิตย์ (ผิวกายสีแดงชาด) อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้

📍จุด Check-in ที่ไม่ควรพลาด

  • สักการะพระนอนวัดโพธิ์ หรือ “พระพุทธไสยาส” ศิลปะในยุคทองของช่างฝีมือสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศที่มีลักษณะงดงาม โดยเฉพาะมงคล 108 ประการที่ประดับมุกไว้ที่ฝ่าพระบาท ว่ากันว่ารัชกาลที่ 3 ทรงยกย่องว่า 'พระบาทมุก' เป็นผลงานอันยอดเยี่ยม หาที่ติมิได้
  • มหาเจดีย์ 4 รัชกาล ชมสถาปัตยกรรมที่ความงดงามของพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 – 4 ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และสถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูลักษณะไทยจีนประยุกต์ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
  •  รูปปั้นฤๅษีดัดตน ชวนมาออกกำลังกาย แก้เมื่อย แก้ล้า ตามรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ ซึ่งเป็นท่าที่ตรงตามหลักโยคะศาสตร์ของโยคีอินเดีย เดิมมีการรวบรวมไว้กว่า 80 ท่า แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 24 เท่านั้นน นอกจากนี้ในวัดยังมี 'นวดแผนไทย' ให้นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลายอีกด้วย

 

การเดินทางไปวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

ที่ตั้ง : บนถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

🛥️ทางเรือ : ขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าเรือ ท่าช้าง, ท่าวัดอรุณแล้วนั่งเรือข้ามฝากมาขึ้นท่าเตียน หรือเหมาเรือเที่ยวได้ทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ

🚗รถยนต์ส่วนตัว : รถส่วนตัวจอดได้ที่ ถนนเชตุพน เสียค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท แผนที่นำทาง (คลิก)

🚌รถประจำทาง : สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 43, 44, 47, 48, 51, 53, 82, 103 รถประจำทางปรับอากาศ ปอ.1, ปอ.6, ปอ.7, ปอ.8, ปอ.12, ปอ.44

🚇รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT : ลงที่สถานีสนามไชย ทางออกมิวเซียมสยาม

🛕วัดเทพธิดารามวรวิหาร รู้เรื่องสุนทรภู่แบบ 360 องศา

วัดเทพธิดารามเคยเป็นสถานที่จำพรรษาของ ‘สุนทรภู่’ เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ในระหว่างนั้นก็ได้ประพันธ์บทกลอนไว้หลายเรื่อง ที่สำคัญวัดนี้ยังเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับละครบุษบาลุยไฟ ซึ่งสามารถติดตามชมได้ในตอนจบ

 

ความสำคัญของวัดเทพธิดารามวรวิหาร

วัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี โดยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระราชธิดาองค์โปรด คือ พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และในการสร้างวัดก็ทรงบริจาคทุนส่วนพระองค์ร่วมด้วย จึงพระราชทานนามว่า วัดเทพธิดาราม

ในปี พ.ศ. 2382-2385 มีหลักฐานว่าสุนทรภู่เคยจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามแห่งนี้ ปัจจุบันทางวัดได้ตั้ง ‘กุฏิสุนทรภู่’ และหล่อรูปครึ่งตัวของสุนทรภู่ไว้ที่กุฏิเพื่อเป็นอนุสรณ์

 

สถาปัตยกรรมโดยรวมของวัดเทพธิดารามวรวิหาร เป็นศิลปะไทยผสมจีนเช่นเดียวกับวัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างในยุคเดียวกัน จุดเด่นคือสัญลักษณ์ 'รูปหงส์' ซึ่งอยู่บนหน้าบันของพระวิหารและอุโบสถ รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังด้านในอีกด้วย ตามคติจีนถือว่าหงส์ เป็นสัตว์มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของหญิงผู้สูงศักดิ์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องตกแต่งเป็น ‘ตุ๊กตาศิลาจีนผู้หญิง’ ที่แต่งกายไทยและจีนในท่าทางต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาสตรีชาววังนั่งพับเพียบเท้าแขน และตุ๊กตาสตรีอุ้มลูก เป็นต้น สมกับที่เป็นพระอารามเพื่อเกียรติแห่งสตรีอย่างแท้จริง

 

 

⭐ไฮไลท์⭐

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ จุดที่จะพาทุกคนใกล้ชิดสุนทรภู่มากขึ้น

นอกจากการได้มาอยู่ในสถานที่เดียวกันกับวรรณกรรม ‘รำพันพิลาป’ ซึ่งสุนทรภู่พรรณาถึงความสวยงามวัดเทพธิดารามแล้ว

ปัจจุบันมีกุฏิหลังหนึ่งชื่อ กุฏิสุนทรภู่ ถูกเรียกว่า ‘บ้านกวี’ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ สถานที่เรียนรู้ชีวประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่ โดยมีพระอาจารย์เป็นวิทยากร และยังได้ชมเรื่องราวของสุนทรภู่ ในเวอร์ชั่นการ์ตูน บริเวณพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ มีห้องจัดแสดงทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่

  • ห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ แสดงรูปหล่อครึ่งตัวของท่านเมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ รวมทั้งชีวประวัติและผลงานของสุนทรภู่ และมีอนุสรณ์ของสุนทรภู่พร้อมสัญลักษณ์ของยูเนสโก ในฐานะที่สุนทรภู่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก
  • มณีปัญญา มีกิจกรรมในผู้เยี่ยมชมได้ทดสอบความรู้ภาษาไทยเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จากวรรณกรรมของสุนทรภู่ ซึ่งสะท้อนถึงสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในยุคนั้น
  • ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยท่านสุนทรภู่เป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร เช่น ตู้พระไตรปิฎก กระดานชนวน ถ้วยชาม ปิ่นโต และตาลปัตรใบตาล เป็นต้น

 

⭐เรื่องลับที่คุณ (อาจ) ไม่รู้

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในวัดเทพธิดารามแห่งนี้ที่นับว่าเป็น unseen คือ รูปหล่อหมู่ภิกษุณี จำนวน 52 องค์ อายุร้อยกว่าปี ที่หล่อด้วยดีบุกตันทั้งองค์ ลงรักปิดทองงดงามมาก ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารภิกษุณี ด้วยอิริยาบถที่แตกต่างกัน ทั้งนั่ง ยืน ฟังธรรม พนมมือ ฉันหมาก นับว่าเป็นของเก่าแก่ที่ชมได้ยากและมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และในโลก

 

เหตุผลที่ว่าทำไมจึงมีรูปหล่อหมู่ภิกษุณีจำนวนมาก ด้วยท่าทางที่ไม่ซ้ำกัน สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 3 อาจทรงต้องการทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาธรรม ในเรื่องของ เจตสิก 52 ประการ ว่าด้วย ‘จิต’ ที่แต่งบุคคลิกของคนให้เป็นไปต่าง ๆ นานา

📍จุด Check-in ที่ไม่ควรพลาด

  • สักการะหลวงพ่อขาว สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์งดงามมาก พระประธานปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากพระราชวังมาประดิษฐานเหนือบุษบกเป็น ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธเทววิลาส
  • เช่าชุดไทย แต่งกายย้อนยุคตามนางในวรรณคดี ด้านนอกพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ มีบริการเช่าชุดไทยและจุดถ่ายรูปที่ทางวัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถสวมหน้าเป็นตัวละครในวรรณคดี เช่น สุดสาคร พระอภัยมณี นางเงือก และนางยักษ์

การเดินทางไปวัดเทพธิดารามวรวิหาร 

ที่ตั้ง : เลขที่ 70 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 

🛥️ทางเรือ : สามารถเหมาเรือเที่ยวได้ทั้งแบบส่วนตัวและหมู่คณะ ลงปลายทาง ท่าผ่านฟ้าลีลาศ เดินข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศต่อประมาณ 500 เมตร

🚗รถยนต์ส่วนตัว : ใกล้ประตูผี หรือซอยมีที่จอดรถ แผนที่นำทาง (คลิก)

🚌รถประจำทาง : สาย 2, 15, 39, 44, 47, 56, 59, 68, 79, 503, 509 และ511

🚇รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT : ใกล้สถานีสามยอด ทางออกที่ 1 ประมาณ 750 เมตร

ช่องทางติดต่อ :www.watthepthidaramqr.com

 

สถานที่ดังกล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รวมอยู่ในฉากสำคัญของละครบุษบาลุยไฟ ยังมีเหตุการณ์เกี่ยวประวัติศาสตร์และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยด้านศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย

สามารถรับชมละครบุษบาลุยไฟได้ทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ เวลา 20.15 น. รับชมอีกครั้งทาง www.VIPA.me

🔴 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.thaipbs.or.th/BudsabaLuiFire

 

 

ขอบคุณข้อมูล : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือมรดกภูมิปัญญา จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์, ฐานข้อมูลจิตรกรรม วัดสุวรรณาราม, เดอะ วัดโพ(ธิ์)-เอ้ม โค้ด (The Wat P(h)o-em Code), Bangkok Tourism Division, www.watprayoon.com, Thai PBS

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บุษบาลุยไฟ, 
#รัชกาลที่3, 
#วัดสุวรรณาราม, 
#เที่ยววัดเขตพระนคร, 
#โคลงกลอนกลบท, 
#จารึกวัดโพธิ์, 
#ล่องเรือเล่าเรื่องบุษบาลุยไฟ, 
#ครูคงแป๊ะ, 
#ครูทองอยู่, 
#จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม, 
#ปืนใหญ่วัดประยุร, 
#เหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิดที่วัดประยุรวงศาวาส 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
บทความที่เกี่ยวข้อง
กลอนสอนใจของ "สุนทรภู่
26 มิ.ย. 64 • 10.13 น.
กลอนสอนใจของ "สุนทรภู่
3 ยุคทองด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ในรัชกาลที่ 3
31 มี.ค. 66 • 12.00 น.
3 ยุคทองด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ในรัชกาลที่ 3
5 สิ่งพิเศษที่ซ่อนอยู่ในงาน "ย่ำค่ำลำนำศิลป์ บุษบาลุยไฟ"
14 มิ.ย. 66 • 09.00 น.
5 สิ่งพิเศษที่ซ่อนอยู่ในงาน "ย่ำค่ำลำนำศิลป์ บุษบาลุยไฟ"
"ALTV ประกวดบทอาเศียรวาท" กว่า 200 ผลงานจากคนรุ่นใหม่สู่เอกลักษณ์ภาษาไทยที่งดงาม
28 ก.ค. 66 • 18.57 น.
"ALTV ประกวดบทอาเศียรวาท" กว่า 200 ผลงานจากคนรุ่นใหม่สู่เอกลักษณ์ภาษาไทยที่งดงาม
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บุษบาลุยไฟ, 
#รัชกาลที่3, 
#วัดสุวรรณาราม, 
#เที่ยววัดเขตพระนคร, 
#โคลงกลอนกลบท, 
#จารึกวัดโพธิ์, 
#ล่องเรือเล่าเรื่องบุษบาลุยไฟ, 
#ครูคงแป๊ะ, 
#ครูทองอยู่, 
#จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม, 
#ปืนใหญ่วัดประยุร, 
#เหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิดที่วัดประยุรวงศาวาส 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา