“กำยาน” สมุนไพรคู่ชุมชน
ต้นกำยาน พืชที่พบได้ง่ายที่ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี กำยานเป็นพืชไม้เลื้อยขนาดเล็กที่เจริญเติบโตได้ดีและมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่นี้ พื้นที่ตรงนี้จึงถูกเรียกว่า ดอนกำยาน แม้ว่าจะเป็นพืชที่มีมากในชุมชนแต่น้อยคนในชุมชนที่จะรู้วิธีใช้ประโยชน์จากกำยาน สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี จึงเข้าแนะนำให้ชาวบ้านเพาะพันธุ์ต้นกำยานให้มากขึ้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งรากของกำยานจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้สามารถนำมาทำเครื่องหอมได้และนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการหมักปลาสลิดดอนกำยาน ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนที่ทำให้ปลาสลิดมีกลิ่นหอมและไม่เหม็นคาว นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำรากกำยานไปใช้สร้างสรรค์เมนูขนมหวานอย่างกะละแมและขนมเปียกปูนอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนเช่นนี้จะสามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวหันมาสนใจและทำความรู้จักต้นกำยานมากยิ่งขึ้น
ศูนย์การเรียนรู้เยาวชนรักษ์ถิ่นเกิด
เสียงกลองและเสียงฆ้องดังก้องทั่วชุมชนเป็นเสียงที่ชาวบ้านที่บ้านหนองปลามันได้ยินกันจนคุ้นหู เพราะเป็นเสียงกลองที่บรรดาเยาวชนรวมตัวกันฝึกฝีมือการเล่นดนตรีล้านนา ในศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการแสดงและดนตรีล้านนา ในนามเยาวชนรักษ์ถิ่นเกิด ที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ลานกว้างหลังวัดสว่างเพชร โดยครูดนตรีอย่าง ธนวัฒน์ ราชวัง หรือครูน้อง ผู้เชี่ยวชาญดนตรีล้านนา ที่ก่อตั้งมานานกว่า 26 ปี ที่ศูนย์การเรียนรู้รักษ์ถิ่นเกิด บ่มเพาะศิลปินล้านนาทั้งเด็กนักเรียนจากรั้วโรงเรียนบ้านหนองปลามันและเยาวชนทั่วไป จนผู้ก่อตั้งอย่างครูน้องได้รับยกย่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปะการตีกลองพื้นเมืองล้านนา ปี 2561 และครูน้องยังพัฒนาพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ให้กลายมาเป็นการนำศิลปะวัฒนธรรมมาส่งเสริมความเป็นอยู่และการมีส่วนร่วมในชุมชนให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น
ติดตามชมรายการ HAVE A NEWSDAY วันจันทร์ที่ 11 ก.ค. 65 เวลา 12.00 – 12.10 น. ทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมายเลข 4