ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
5 ผักและผลไม้ที่แอบซ่อนพิษจาก “ไซยาไนด์”
แชร์
ชอบ
5 ผักและผลไม้ที่แอบซ่อนพิษจาก “ไซยาไนด์”
03 พ.ค. 66 • 08.30 น. | 3,259 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่พบบ่อยในยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนู นอกจากนี้ พืชต่าง ๆ ยังสามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ได้เองตามธรรมชาติ เพื่อใช้ในการต้านทานต่อโรคและศัตรูพืช พิษจากไซยาไนด์ในพืชสามารถเป็นอันตรายร้ายแรงถึงตาย หากได้รับในปริมาณที่มากพอ

 

ผักและผลไม้ที่เราคุ้นเคยแอบซ่อนพิษจากไซยาไนด์ไว้อย่างไรบ้าง ALTV ขอนำข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ เพื่อการตระหนักถึงสารพิษ และลดความเสี่ยงซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

💀ไซยาไนด์ (Cyanide) คืออะไรในทางเคมี?

 CN− คือสูตรทางเคมีของไซยาไนด์ เป็นกลุ่มของสารเคมีในรูปแบบ “ไซยาไนด์แอนไอออน” (N≡C-) ประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอน (C) และอะตอมของไนโตรเจน (N) ที่เกิดพันธะทางเคมี (การยึดเหนี่ยวกันระหว่างอะตอม 2 ชนิด) แบบ Triple-bond โดยมีอิเล็กตรอนร่วมพันธะกัน 3 คู่ ซึ่งประจุลบนี้ทำให้สสารเข้มข้น ทำงานรวดเร็ว และเป็นพิษร้ายเรงมากต่อสิ่งมีชีวิต

 

ไซยาไนด์เป็นสารพิษที่เป็นได้ทั้งก๊าซ ของแข็ง และของเหลว “ไม่มีสี” เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) หรือไซยาโนเจนคลอไรด์ (CNCl) ซึ่งมีกลิ่นฉุน, สารละลายของไฮโดรเจนไซยาไนด์ในน้ำ เรียกว่า “กรดไฮโดรไซยานิก” หากเป็นของเหลวจะมีลักษณะใส ระเหยเป็นแก๊สได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง ส่วนในรูปแบบผลึก เช่น โซเดียมไซยาไนด์ (NaCN) หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN) บางครั้งถูกอธิบายว่ามีกลิ่นจาง ๆ คล้าย “อัลมอนด์” แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะใช่ว่าทุกคนจะตรวจจับกลิ่นนี้ได้ 

 

ในวงการอุตสาหกรรมมักใช้ในการผลิตกระดาษ สิ่งทอ พลาสติก และเครื่องประดับ มีอยู่ในสารเคมีที่ใช้ในการพัฒนาภาพถ่าย 

  • เกลือไซยาไนด์ หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์ มักถูกใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์สำหรับการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า (Electroplating) ทำความสะอาดโลหะ รวมถึงการกำจัดทองคำออกจากแร่
  • ก๊าซไซยาไนด์ ใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและสัตว์รบกวนในเรือและอาคาร เช่น ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่อากาศ ดิน และน้ำ จากกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟ ไฟป่า และกิจกรรมทางจุลชีววิทยา

 

ในทางเคมีหรือการแพทย์ สิ่งที่สามารถแก้พิษไซยาไนด์ได้ ชื่อว่า Hydroxocobalamin หรือที่เรียกว่า วิตามิน B₁₂ₐ เป็นการฉีดเข้าสู่ร่างกายร่วมกับตัวยาอื่น ๆ เพื่อเข้าไปยับยั้งสารพิษ ซึ่งต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไซยาไนด์จะถูกสลายอย่างช้า ๆ แล้วขับออกมาทางปัสสาวะ

 

ธรรมชาติสร้าง “ไซยาไนด์” ได้เช่นกัน

“ไซยาไนด์ธรรมชาติ” เป็นสารประกอบที่เป็นพิษ สามารถสังเคราะห์ได้จากพืชมากกว่า 2,000 ชนิด รวมทั้งแบคทีเรีย เชื้อราและสาหร่ายบางชนิด เพื่อใช้ในการต้านทานโรคและป้องกันแมลง โดยพืชจะมีเอนไซม์ที่ย่อยสลาย “ไซยาโนไกลโคไซด์” ให้กลายเป็นสารพิษที่ต่างกัน เช่น อะมิกดาลิน (Amygdalin), ลินามาริน (Linamarin), โลทอสตราลิน (Lotaustralin) สามารถพบได้ในผักและผลไม้สดเหล่านี้

💀ไซยาไนด์ใน “มันสำปะหลัง”

มันสำปะหลังเป็นแหล่งพลังงานและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน แคลเซียม และไฟเบอร์ แต่ “ไม่ควรกินดิบ” เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อพิษไซยาไนด์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

 

ใน มันสำปะหลัง พบสารพิษที่เรียกว่า “กรดไฮโดรไซยานิก” (Hydrocyanic acid) ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ลินามาริน (Linamarin) และ โลทอสตราลิน (Lotaustralin) กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในหัว ลำต้น และใบ อาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้

มันสำปะหลังในประเทศไทยที่นิยมปลูก มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ หวานและขม 

  • ชนิดขม ใช้ทำแป้งมันและอาหารสัตว์ มีกรดไฮโดรไซยานิกค่อนข้างสูง
  • ชนิดหวาน ใช้ทำอาหาร เช่น ต้ม เชื่อม เผา ส่วนใบนำมาต้มจิ้มน้ำพริก มีกรดไฮโดรไซยานิกแต่น้อยกว่าชนิดแรก

 

ทั้ง 2 ชนิดนี้ “กินดิบไม่ได้” เพราะได้รับพิษจากกรดไฮโดรไซยานิกทำให้ มีงานศึกษาหาไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง พบว่า ส่วนใบมีกรดไฮโดรไซยานิกมากกว่าส่วนหัว โดยส่วนหัวของมันสำปะหลังชนิดขม มีความเข้มข้นของไซยาไนด์สูงถึง 185 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม โดยกรดไฮโดรไซยานิกนี้จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลาย จากการทุบ บด หรือกัด

 

ในประเทศไทย พบรายงานการเสียชีวิตของเด็กอายุ 4 - 6 ปี จากการได้รับพิษไซยาไนด์เนื่องจากกินมันสำปะหลังแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ภายในเวลา 1 - 2 ชั่วโมง โดยเด็กมีอาการชัก เหนื่อยหอบ หมดสติ และหยุดหายใจ

การป้องกันและกำจัดพิษ

มันสำปะหลังหาก “ล้างให้สะอาด” และ “ปรุงสุก” ก็สามารถรับประทานได้ ก่อนบริโภคสามารถกำจัดพิษได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  • หั่นเป็นชิ้นเล็กแช่ในน้ำเพื่อให้สารพิษสะลายออกมา จากนั้นนำไปตากให้แห้งแล้วค่อยนำมาประกอบอาหารหรือทำเป็นแป้งมันสำปะหลังต่อไป
  • ในขั้นตอนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง สำปะหลังสดที่ปอกเปลือกแล้วจะถูกโม่ เพื่อทำให้พิษมีปริมาณลดลง นอกจากนี้การอบแห้งยังช่วยลดปริมาณไซยาไนด์ที่เหลือลงได้อีก จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
  • การทำให้สุก ไม่ว่าจะต้ม หรือเผา จะช่วยให้สารพิษถูกทำลายหมดไป ก่อนจะนำมาปรุงสุกต้องเลือกมันสำปะหลังที่ไม่ช้ำ แตก หรือหัก เพราะกรดไฮโดรไซยานิกที่ออกมาจำนวนมากจะทนต่อความร้อนได้ดี อาจต้องเพิ่มเวลาปรุงสุกให้นานขึ้น

💀ไซยาไนด์ใน “หน่อไม้”

หน่อไม้ จัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติชั้นเลิศ มีคุณค่าทางอาหารสูง ไขมันต่ำ อุดมไปด้วยเกลือแร่ คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเส้นใยอาหาร นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนที่ร่างกายผลิตไม่ได้ เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้ว่าหน่อไม้จะมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ก็มีสารประกอบที่เป็นพิษซึ่งออกฤทธิ์ต่อร่างกายเฉียบพลัน

 

หน่อไม้สด มีสารพิษไซยาโนไกลโคไซด์ ที่เรียกว่า “สารแทกซีฟิลลิน” (Taxiphyllin) เป็นสารทำให้เกิดรสขม และจะปล่อยออกมาเมื่อถูกเคี้ยว หรือทำให้ช้ำทั้งที่ยังดิบ

 

เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคหน่อไม้มากเป็นพิเศษ ทั้งสด ต้มและดอง สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเก็บตัวอย่างจากหน่อไม้แต่ละสายพันธุ์ใน 31 จังหวัดเพื่อหาบริมาณไซยาไนด์ พบว่า 

 

  • หน่อไม้สด มีปริมาณไซยาไนด์ เฉลี่ยอยู่ที่ 167 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าต่ำสุด-สูงสุด อยู่ที่ค่าต่ำสุดอยู่ที่ 18 - 943 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  • หน่อไม้ดองมีปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ย 41.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าต่ำสุด-สูงสุด อยู่ที่ 10 - 261 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  • หน่อไม้ต้ม มีปริมาณไซยาไนด์ เฉลี่ย 19.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าต่ำสุด-สูงสุด อยู่ที่ 10 - 92 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 

หน่อไม้สด ดอง และต้ม มีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษไซยาไนด์จากธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย ร่างกายก็สามารถขับออกมาทางปัสสาวะเองได้ แต่หากได้รับพิษมากก็จะทำให้ภาวะขาดออกซิเจน หมดสติและเสียชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าซื้อจากแหล่งใด หรือทานด้วยวิธีใดก็ตาม ให้นำไปต้มก่อนดีที่สุด

การป้องกันและกำจัดพิษ

สารแทกซีฟิลลินที่เป็นพิษในหน่อไม้ สามารถสลายได้ง่ายเมื่อมีอยู่ในน้ำเดือด ก่อนปรุงอาหารแนะนำให้แช่ในน้ำข้ามคืนก่อน แล้วค่อยนำไปลวก หรือต้ม ในน้ำเดือดนาน 20-30 นาที กระบวนการนี้จะช่วยสลายไซยาไนด์ที่ซ่อนอยู่ในหน่อไม้หายไปจนหมดเกลี้ยง

💀ไซยาไนด์ใน “แอปเปิล”

แอปเปิล เป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารและวิตามินสูง ช่วยในการกระตุ้นระบบขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก และยังอุดมไปด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ใครก็ตามที่ชอบเคี้ยวแกนแอปเปิล อาจถูกวางยายาพิษที่แอบซ่อนอยู่ใน “เมล็ดแอปเปิล” โดยไม่รู้ตัว

 

ในนิทานสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ยาพิษในแอปเปิลที่สโนว์ไวท์กินเข้าไปอาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อ แต่อยู่ที่ เมล็ด!! เนื่องจากในเมล็ดแอปเปิลมีสารพิษที่ซุกซ่อนไว้ชื่อว่า “อะมิกดาลิน” (Amygdalin) เป็นเป็นโมเลกุลที่มีไซยาไนด์และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ หากเมล็ดแอปเปิลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก็จะไม่มีอันตรายอะไร แต่เมื่อถูกเคี้ยวและเข้าสู่ระบบย่อยอาหารก็จะกลายเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่มีพิษรุนแรง และอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้

 

สารอะมิกดาลินยังพบได้ใน “เมล็ดผลไม้กลุ่ม Stone fruits” ที่มีลักษณะเป็นผลเดี่ยว เนื้อนุ่ม มีเมล็ดที่แข็งเหมือนก้อนหิน ได้แก่ เชอร์รี, ลูกพีช, พลัม, แอพริคอต พลูออทและเนคทารีน  

โดยทั่วไปแอปเปิล 1 ผลจะมีช่องเมล็ดอยู่ประมาณ 5 ช่อง ในแต่ละช่อง จะมีเมล็ดแอปเปิลประมาณช่องละ 1-2 เมล็ด ปริมาณของสารอะมิกดาลินที่พบได้ในเมล็ดแอปเปิ้ลแตกต่างกันออกไปแล้วแต่สายพันธุ์และพื้นที่ปลูก เมล็ดแอปเปิล 1 กรัมจะมีปริมาณไซยาไนด์เพียงเล็กน้อย ประมาณ 0.6 มิลลิกรัม ซึ่งไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย 

 

ปริมาณของไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ อยู่ที่ประมาณ 50 - 300 มิลลิกรัม โดยเฉลี่ยร่างกายผู้ใหญ่สามารถเคี้ยวและกลืนเมล็ดพืชได้ตั้งแต่ 150 ถึงพันเมล็ดขึ้นไป เว้นแต่ว่าคุณจะกินแกนแอปเปิลพร้อมเคี้ยวเมล็ดอย่างละเอียด ติดต่อกัน 18 ลูก แบบนี้ก็เข้าข่ายอันตราย แต่ถึงอย่างไร สำหรับร่างกายของเด็กแค่เคี้ยวเพียง 2 - 3 ก็ถือว่าเสี่ยงอยู่ดี ในระดับเบาจะเกิดอาการปวดหัว วิงเวียน สับสน และวิตกกังวล

การป้องกันและกำจัดพิษ

เมล็ดแอปเปิลนั้นมี “รสขม” ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่บางครั้งคุณอาจเผลอกินเข้าไป หรือไม่ก็ปั่นรวมกับเนื้อผลไม้ โดยไม่ได้แกะเมล็ดออก โชคดีที่ร่างกายมนุษย์สามารถรับมือได้หากได้รับในปริมาณเล็กน้อย

 

แต่ถึงอย่างไร ก่อนจะรับประทานแอปเปิล “ควรแกะเมล็ดออกก่อน” เพราะหากได้รับสารอะมิกดาลินสูง ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน นอกจากนี้ เปลือกของเมล็ดแอปเปิลค่อนข้าง “ย่อยยาก” และอาจส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้เช่นกัน

💀ไซยาไนด์ใน “อาลมอนด์”

อาลมอนด์ ขึ้นชื่อว่าเป็นถั่วที่ดีต่อสุขภาพ อุดมไปด้วยมีวิตามินและแร่ธาตุหลากชนิด โดยเฉพาะกลุ่มวิตามิน A, B1, B2, B3, C, D, E ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีส่วนช่วยบำรุงสมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบภูมคุ้มกันในร่างกาย แต่ก็มีอาลมอนด์บางเมล็ดที่มีรสขม ซึ่งแฝงตัวเป็นผู้ร้ายทำลายร่างกายได้เช่นกัน

 

ถั่วอาลมอนด์แบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ อาลมอนด์ขมและอาลมอนด์หวาน มีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกันมาก แต่หากมองจากภายนอกก็สามารถแยกแยะได้ โดยอาลมอนด์ขมจะคล้ายรูปหัวใจแบน มีขนาดกว้างและป้อมกว่า ในขณะที่อาลมอนด์หวานมีเมล็ดเรียวยาวกว่า

อาลมอนด์เพื่อสุขภาพมีประมาณ 40 สายพันธุ์เกือบทั้งหมดมีรสหวาน พบมากตามร้านค้าทั่วไป ส่วน อาลมอนด์ขม หรืออาลมอนด์ป่า มีรสขมตามชื่อ เกิดจาก “สารอะมิกดาลิน” ที่มีความเข้มข้นสูง ทำให้มีกลิ่นรุนแรง ส่วนใหญ่จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ด้วยความเป็นพิษและความขมนี้เอง จึงมักถูกใช้เพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาโรค เช่น ยาฆ่าเชื้อรา, ต้านมะเร็ง, ยาขับปัสสาวะ และรักษาไข้เรื้อรัง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย

 

อันตรายจาก “สารไกลโคไซด์อะมิกดาลิน” ในอาลมอนด์ขม เมื่อรับประทานเข้าไปดิบ ๆ สารพิษนี้จะแตกตัวเป็นสารเคมีหลายชนิด รวมทั้งเบนซาลดีไฮด์ซึ่งมีรสขม และไซยาไนด์ที่เป็นพิษต่อร่างกาย มีงานวิจัยระบุว่า การรับประทานเพียง 6 - 10 เม็ด สามารถทำให้เกิดพิษร้ายแรงในผู้ใหญ่ ซึ่งหากทาน 50 เม็ดขึ้นไป ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

 

การป้องกันและกำจัดพิษ

ไฮโดรเจนไซยาไนด์สามารถหลุดออกจากอาลมอนด์ได้เมื่อนำมาแปรรูปด้วยความร้อน เช่น การอบและการต้ม ซึ่งช่วยลดปริมาณไซยาไนด์ของอาลมอนด์ลงได้ 79% - 98% ตามลำดับ

💀ไซยาไนด์ใน “ถั่วลิมา”

ถั่วลิมาเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับ ถั่วชิกพีและถั่วเลนทิล มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และไฟเบอร์ที่ช่วยให้คุณอิ่มท้อง เป็นอาหารที่ช่วยคุมน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่ถ้าใส่ไปลงไปในสลัดแบบดิบ ๆ ก็อาจถึงตายได้

 

ถั่วลิมาหรือถั่วเนย มีสารพิษที่ชื่อว่า “ลินามาริน” (Linamarin) เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในมันสำปะหลัง เอาไว้ต้านทานโรคและศัตรูพืช และพบปริมาณไซยาไนด์ที่สูงมากในถั่วลิมาป่า แม้ถั่วลิมาที่ปลูกเชิงพาณิชย์จะมีไซยาไนด์น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม แต่ก็ยังเสี่ยงอันตราย เนื่องจากการรับประทานไซยาไนด์ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ป่วยได้ เช่น ปวดศีรษะ อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และใจสั่น

การป้องกันและกำจัดพิษ

การปรุงถั่วลิมาให้สุก สามารถทำลายเอนไซม์ที่ปล่อยไซยาไนด์ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการปรุงอาหาร การต้มในน้ำเดือดเป็นเวลานานกว่า 30 นาทีเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดไซยาไนด์มากถึง 80% 

 

การแช่ถั่วค้างคืนประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง แล้วล้างให้สะอาด ก่อนนำไปต้มระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาทีก็ได้ผลดีเช่นกัน ส่วนการนึ่งก็เป็นวิธีที่ช่วยลดไซยาไนด์ได้ แต่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการต้ม

 

💀ไซยาไนด์ในพืชอันตรายแค่ไหน?

ไซยาไนด์ที่พบในพืช เรียกว่า “กรดไฮโดรไซยานิก” (hydrocyanic acid) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กรดพลัสสิค” (Prussic acid) ออกฤทธิ์เฉียบพลันและอันตรายถึงชีวิตได้ในปริมาณที่มากพอ เมื่อรับประทานจะถูกเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ที่มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลง และระบบหายใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นอีก เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ชัก
  • หมดสติ

ไซยาไนด์จะเข้าไปจับเกาะธาตุเหล็กในกระแสเลือด ทำให้ธาตุเหล็กไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ เซลล์สมองจะหยุดการทำงาน และคนที่ได้รับพิษในปริมาณมาก การเสียชีวิต จะมีลักษณะคล้ายคนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

 

อาการของสัตว์ที่เกิดจากสารพิษของกรดไฮโดรไซยานิค คือ กล้ามเนื้อขาดออกซิเจนทำให้หายใจขัด ตัวสั่น ชักกระตุก และอาจถึงตายได้ในรายที่รุนแรง ซึ่งจะแสดงอาการภายใน 10 -15 นาที และตายภายใน 2 - 3 นาทีในเวลาต่อมา อาหารสัตว์ที่พบว่ามีกรดไฮโดรไซยานิคในระดับสูง ได้แก่ ข้าวฟ่าง, หญ้าจอห์นสัน, หญ้าซอกัม, ไผ่เพ็กหรือ หญ้าเพ็ก, หญ้าซูแดกซ์ เป็นต้น

 

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้ปริมาณการได้รับสารไซยาไนด์ในแต่ละวันได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หมายความว่า หากคนน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม สามารถได้รับไซยาไนด์วันละไม่เกิน 3 มิลลิกรัม ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ร่างกายสามารถขับออกปัสสาวะได้หมด

 

หากสงสัยว่าได้รับพิษไซยาไนด์ในพืช จากการรับประทานเข้าไป วิธีเบื้องต้นให้รีบ "อาเจียน" ออกมา แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด

 

วิธีป้องกันจากไซยาไนด์ในพืชได้ดีที่สุด คือ “ไม่กินดิบ”

เกร็ดน่ารู้!

  • ไซยาไนด์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ถูกสกัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1786 จากสีปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งเป็นสีสังเคราะห์ที่จิตรกรมักใช้วาดภาพในยุคหนึ่ง ภาพเขียนอันเลื่องชื่อที่มีสีปรัสเซียนบลู มากที่สุด คือ “The Great Wave off Kanagawa” โดย Hokusai จิตรกรชาวญี่ปุ่น
  •  ไซยาไนด์ไม่ได้พบเพียงบนโลกเท่านั้น สารพิษชนิดนี้ยังถูกพบในอวกาศอีกด้วย โดยอนุมูลไซยาไนด์จะซ่อนอยู่ในอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar medium) และพบได้ทั่วไปในดาวหาง

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : คลังความรู้ SciMath, ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย, วารสารแพทย์ นพ.มานพ เหลืองนฤมิตชัย, อ้างอิงข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ไซยาไนด์, 
#ไซยาไนด์ธรรมชาติ, 
#ไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิล, 
#ไซยาโนไกลโคไซด์, 
#อะมิกดาลิน, 
#ลินามาริน, 
#โลทอสตราลิน, 
#กรดไฮโดรไซยานิก 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
บทความที่เกี่ยวข้อง
5 เมนูกินเส้นชาวเมียนมา ตามรอยจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี
09 ม.ค. 65 • 08.00 น.
5 เมนูกินเส้นชาวเมียนมา ตามรอยจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี
5 อันดับสัตว์เดินช้า ที่มีค่าต่อระบบนิเวศ
06 ต.ค. 65 • 11.20 น.
5 อันดับสัตว์เดินช้า ที่มีค่าต่อระบบนิเวศ
"ดอกไม้หน้าร้อน" ริมถนนเมืองไทย พร้อมความหมายมงคล
13 เม.ย. 66 • 12.00 น.
"ดอกไม้หน้าร้อน" ริมถนนเมืองไทย พร้อมความหมายมงคล
เข้าใจ 5 ภาษารัก เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ครอบครัวให้ยืนยาว
23 เม.ย. 66 • 06.00 น.
เข้าใจ 5 ภาษารัก เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ครอบครัวให้ยืนยาว
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ไซยาไนด์, 
#ไซยาไนด์ธรรมชาติ, 
#ไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิล, 
#ไซยาโนไกลโคไซด์, 
#อะมิกดาลิน, 
#ลินามาริน, 
#โลทอสตราลิน, 
#กรดไฮโดรไซยานิก 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา