อาหารพม่า หรืออาหารเมียนมา มีเอกลักษณ์เฉพาะที่น่าหลงใหล ซึ่งอาหารดั้งเดิมของเมียนมามีความหลากหลายทั้งแกง ยำ และซุปที่ทานกับข้าวสวย เมื่อครั้งที่มีสงครามโยเดียระหว่างเมียนมากับอยุธยา เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานบวกกับการค้าขายกับอาณาจักรเพื่อนบ้าน จึงทำให้อาหารเมียนมามีความหลากหลายทั้งรูปแบบและวัตถุดิบ นี่คือจุดกำเนิดของอาหารเมียนมารสเลิศในปัจจุบัน
สำหรับคนไทยที่สนใจในอาหารเมียนมาและยังจินตนาการไม่ออกว่าอาหารนั้นน่าลิ้มลองแค่ไหน ละครเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” จะพาทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์ของอาหารพร้อมย้อนรอยประวัติศาสตร์เมียนมา ที่เพียงแค่ตอนแรกก็นำเสนอเมนูขึ้นชื่อของแต่ละเมืองได้อย่างน่าสนใจ อาทิเช่น แกงไก่เจตเตาซันจากรัฐยะไข่, แกงเนื้อจากรัฐคะฉิ่น, สลัดออโซนจากรัฐฉาน และโมฮิงกาจากรัฐทวาย
โมฮิงกา จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส
นอกจากอาหารที่กล่าวถึงในละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี แล้วยังมีเมนูประเภทเส้นที่ทานได้หลากหลายรูปแบบคล้ายกับก๋วยเตี๋ยวในบ้านเรา เช่น ก๋วยเตี๋ยวแบบผัด, ยำ, แห้งและก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำซุป ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูเส้นเหมือนกัน แต่ความอร่อยโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแต่ละเมืองก็มีสูตรเฉพาะของตัวเองที่ชวนให้นักชิมได้ลิ้มลอง
โมฮิงกา เมนูประจำชาติเมียนมา กับสูตรลับที่ต้องตามหา
เมื่อพูดถึงเมนูกินเส้นที่ขึ้นชื่อของชาวเมียนมา คงต้องพูดถึง โมฮิงกา "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี" กันอย่างจริงจัง ซึ่งในตอนแรก ทุกคนคงได้เห็นอาหารโมฮิงกาสูตรรัฐทวายกันแล้ว คงสงสัยว่าโมฮิงกามีความพิเศษอะไร และไม่เพียงเท่านั้นเมนูนี้ยังเป็นตัวร้อยเรื่องราวให้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ อีกมากมาย
หัวหน้าเชฟปกรณ์กำลังชิม โมฮิงกาจากทวาย
โมฮิงกาหรือหม่อฮิงคา (Mohinga) ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารประจำชาติของชาวเมียนมา เดิมทีคนเมียนมานิยมทานเป็นอาหารเช้า แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากจนสามารถหาทานได้ตลอดทั้งวันตามร้านริมทางทั่วประเทศ เพราะมีราคาถูก อร่อยและอิ่มท้อง โมฮิงกามีหน้าตาคล้ายขนมจีนน้ำเงี้ยวในบ้านเรา สูตรลับของตัวน้ำแกงอยู่ที่วัตถุดิบหลัก 2 อย่าง คือปลาป่นและหยวกกล้วย เพิ่มสีสันด้วย กะปิ ขิง ตะไคร้ หัวหอม กระเทียม พริก และถั่วหัวช้างป่น เคี่ยวอย่างเข้มข้นจนเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวน้ำแกงให้รสชาติหวาน เปรี้ยว เค็มและเผ็ดกลมกล่อมอย่างลงตัว คนเมียนมาแต่ละภาคจะปรุงส่วนผสมในสัดส่วนที่ต่างกันออกไป เช่น ในรัฐยะไข่จะใส่กะปิมากกว่า น้ำแกงน้อยกว่า และโมฮิงกาสูตรของทวายในละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี จะใช้พริกไทยดำแทนพริก
โมฮิงกา อาหารต่อลมหายใจ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โมฮิงกาได้รับความนิยมในฐานะอาหารของชนชั้นแรงงาน และความนิยมเพิ่มเป็นทวีคูณโดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถูกเปลี่ยนจากอาหารเช้ามาเป็น "อาหารกันตายที่ทานได้ทุกมื้อ" เพราะมีราคาถูกมากในสมัยนั้น
"ก่อนหน้าปีค.ศ. 1990 ราคาต่อชามของโมฮิงกา รวมผักชุบแป้งทอดและไข่เป็ดผ่าซีกแล้ว เฉลี่ยเพียงชามละ 3 จ๊าต เทียบกับตอนนี้ทุกอย่างในชามให้น้อยลง มีแค่ถั่วทอดถูก ๆ แถมไม่มีไข่ในราคา 15 จ๊าต"
นางอองซานซูจี เคยบ่นถึงราคาของโมฮิงกาในจดหมายฉบับหนึ่งปีค.ศ. 1991
เหตุผลที่โมฮิงกาและขนมจีนน้ำเงี้ยวมีความคล้ายกันมาก นั่นเพราะว่าน้ำเงี้ยวเป็นอาหารของชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา อพยพเข้ามาอาศัยทั่วพื้นที่ภาคเหนือ และอีกหนึ่งเหตุผล คือช่วงพ.ศ. 2489 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพายัพของไทยหลังจากกลับมาจากการรบในประเทศเมียนมา ด้วยความที่คุ้นเคยกับอาหารเมียนมาจึงดัดแปลงรสชาติของขนมจีนน้ำเงี้ยวให้คล้ายกับโมฮิงกา ซึ่งทั้งสองเมนูมีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
โมฮิงกากินอย่างไรให้อร่อย ความอร่อยของโมฮิงกา คือทานกับเส้นขนมจีนและเพิ่มเติมท็อปปิ้ง ได้แก่ ไข่ต้ม ถั่วทอดกรอบ ปาท่องโก๋หั่น และผักชี อาจปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา หรือพริกป่นแห้งลงไปได้ตามใจชอบเพื่อเพิ่มความกลมกล่อมยิ่งขึ้น
หนโนะข้าวสเว ก๋วยเตี๋ยวแกงกะทิอร่อยเหาะ
โหนโนะข้าวสเว (Ohn no khao swè) คือ “ก๋วยเตี๋ยวกะทิ” เมนูสุดคลาสสิกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้โมฮิงกาในสไตล์ที่แตกต่าง คือบะหมี่ไข่แกงไก่กะทิ เส้นก๋วยเตี๋ยวนุ่ม ๆ ในน้ำซุปกะทิเข้มข้นมีไก่เป็นส่วนประกอบหลัก โหนโนะข้าวสเวมีความคล้ายกับข้าวซอยเมนูประจำภาคเหนือของไทย แต่เครื่องเทศน้อยกว่า อีกทั้งคำว่า “ข้าวซอย” ยังใกล้เคียงกับคำว่า “ข้าวสเว” (Khao Swe) ซึ่งหมายถึง ก๋วยเตี๋ยว
การเดินทางของ โหนโนะข้าวสเว ในอินเดียตะวันออกเป็นที่รู้จักกันในเมนูสตรีทฟู้ดยอดนิยมชื่อ บะหมี่ Khow suey และ ชาวปากีสถานเรียกว่า Khausa ซึ่งเดินทางมาพร้อมกลุ่มพื้นเมืองชาวอินเดียที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ โหนโนะข้าวสวี ยังมีความคล้ายกับเมนูบะหมี่ของชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น หลักซา (Laksa) อาหารประเภทเส้นของมาเลเซีย, ข้าวซอยของชาวเชียงใหม่และชาวลาวหลวงพระบาง
โหนโนะข้าวสเวจะโรยหน้าด้วยถั่วกรอบ หัวหอมซอย พริก และไข่ต้มหั่นซีก ปรุงรสด้วยน้ำมะนาวและน้ำปลา
ยะไข่ มองติ๊ ก๋วยเตี๋ยวพื้นเมืองยะไข่
คำว่า มองติ๊ (Mont ti) เป็นชื่อเรียกรวมของอาหารประเภทเส้น ซึ่ง ยะไข่ มองติ๊ (Rakhine Mont ti) เป็นอาหารขึ้นชื่อของรัฐยะไข่ที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่นิยมมักทานเป็นมื้อเที่ยงและมื้อเย็น ยะไข่ มองติ๊ มีรสชาติออกเผ็ด เปรี้ยว เค็ม กลมกล่อม มีส่วนประกอบหลัก คือ เส้นหมี่เส้นเล็ก ปลาสด กุ้ง ตะไคร้ พริกไทย กระเทียม พริกเขียว ซอสพริกแดง โรยหน้าด้วยกระเทียมทอดกรอบ และผักชี วิธีทาน ยะไข่ มองติ๊ ให้อร่อยทานได้ 2 แบบ คือ แบบยำแห้งและน้ำ มักเสิร์ฟพร้อมกับผักหรืออาหารทะเลชุบแป้งทอดสไตล์เมียนมา เรียกว่า อา-เจย์ (a-kyaw)
หนานจี้โตะ สปาเก็ตตี้เวอร์ชันเมียนมา
หนานจี้โตะ (Nan Gyi Thoke) เป็นอาหารเช้ายอดนิยมอีกหนึ่งเมนู ที่คนนิยมทานได้ทั้งเช้าทั้งและบ่ายโดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลา หน้าตาคล้ายอาหารสปาเก็ตตี้ในเวอร์ชันเมียนมา ทำจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผสมกับแกงไก่ที่ปรุงเป็นพิเศษ โดยตัวแกงไก่ใส่ผงมะสะหล่า (ผงเครื่องเทศและสมุนไพร) เวลาทานให้ตักแกงราดลงไปบนเส้นก๋วยเตี๋ยว ใส่เครื่องปรุงเพิ่มความกลมกล่อม ได้แก่ หอมเจียว ต้นหอม ถั่วหัวช้างบด ผักชี ไข่ต้ม และบีบมะนาวเล็กน้อยจากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน
ก๋วยเตี๋ยวฉาน สลัดก๋วยเตี๋ยวสไตล์ฉาน
ก๋วยเตี๋ยวฉาน (Shan Khao Swe) ก๋วยเตี๋ยวแห้งสไตล์ฉานที่ชาวเมียนมาชื่นชอบและทานตลอดทั้งวัน เป็นอาหารพื้นเมืองของรัฐฉาน ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนระหว่างจีน ไทย และลาว จึงไม่แปลกใจเลยที่ก๋วยเตี๋ยวฉานจะหาทานได้ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มณฑลยูนนานของจีนและเชียงใหม่ในประเทศไทย
ก๋วยเตี๋ยวฉานไม่ได้มีส่วนผสมซับซ้อนแต่อร่อยอย่างลงตัว ด้วยก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กในน้ำซุปใสมีไก่หรือหมูหมักและพริกไท โรยหน้าด้วยงาคั่วและน้ำมันกระเทียม โดยสูตรลับความอร่อยอยู่ที่ไก่หรือหมู ปรุงด้วยซอสมะเขือเทศ เสิร์ฟพร้อมกับเครื่องเคียงผักดอง ต้นหอมและถั่วลิสงป่น ปรุงรสชาติได้ตามใจชอบ
5 เมนูทั้งหมดนี้ คือวัฒนธรรมการกินของบ้านพี่เมืองน้องของเรา ซึ่งถ้าหากใครได้มีโอกาสทานอาหารเมียนมาแล้วอร่อยถูกใจ สามารถพูดเป็นภาษาเมียนมาได้ว่า "อะยาต่าชิเดะ!!" หรือ "อะ ยัง กอง เด" แปลว่า "อร่อยมาก ๆ !!"
จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ละครที่ไม่เพียงแค่ชวนให้ผู้ชมได้อินและฟินในอาหารเมียนมา แต่ยังมีเรื่องราวของศิลปะนาฏศิลป์โยเดียที่ปรากฏในตำรามหาคีตะ โดยสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นบนแผ่นดินเมียนมาที่ชวนให้ติดตามอีกด้วย