ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
4 สถานที่เที่ยวทางประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยา
แชร์
ชอบ
4 สถานที่เที่ยวทางประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยา
17 ก.ค. 64 • 08.00 น. | 1,647 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

พักสมองออกจากห้องเรียนแล้วไปเที่ยวกับ 4 แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ฉบับโลกกลม ๆ กับครูสังคมของหนู ที่จะพาเดินทาง ไปสำรวจความรู้ในวิชาสังคมศึกษา ใช้เวลาไม่นานแต่ได้รับประสบการณ์เน้น ๆ จะมีอะไรให้เรียนรู้กันบ้าง ตามมาดูกันได้เลย !!

กรุสมบัติโบราณ “วัดราชบูรณะ”

“วัดราชบูรณะ” จัดเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 ตั้งอยู่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน ติดกับวัดมหาธาตุทางบริเวณทิศตะวันออก ห่างจากพระราชวังโบราณ เพียงเล็กน้อย

วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499 และลักขโมยทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาลหลบหนีไป 

ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตามมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศึกษาความเป็นมาเพิ่มเติมของวัดราชบูรณะกันต่อได้ที่นี้เลย

ที่มา : วัดราชบูรณะ

 

 

ศูนย์กลางเมืองสมัยอยุธยา “วัดมหาธาตุ”

“วัดมหาธาตุ” เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ใกล้วัดราชบูรณะ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่ไม่แล้วเสร็จ ก็ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน 

ต่อมาได้สร้างเพิ่มเติมให้เสร็จ ในสมัย สมเด็จพระราเมศวร โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 1927 ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของพระองค์

ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัดอีกด้วย

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระปรางค์ของวัดองค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาแลง ยอดพระปรางค์ได้ทลายลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ แต่ยังไม่ได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิมในรัชกาลนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงบูรณะใหม่รวมเป็นความสูง 25 วา เมื่อปี พ.ศ. 2176 และในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2275 – 2301

จนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดมหาธาตุโดนทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพังและถูกทิ้งร้าง ต่อมายอดพระปรางค์ได้พังทลายลงมาอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 อีกครั้ง เนื่องจากขาดการบำรุงรักษามาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 นั้นเอง เรียนรู้ประวัติศาสตร์กันต่อได้ที่

ที่มา : วัดมหาธาตุ

 

 

แหล่งศึกษาโบราณวัตถุ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 

ทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่” 

กรมศิลปากร จึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษา จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ รวมถึงโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารก่อสร้างด้วยเงินบริจาคจากประชาชน 

ในขณะนั้น ผู้บริจาคจะได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย เรียนรู้ประวัติศาสตร์กันต่อได้ที่

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

 

 

ศัสตราวุธโบราณ “มีดอรัญญิก”

“มีดอรัญญิก” เป็นผลงานที่สะท้อนภูมิปัญญาการทำมีดอันเก่าแก่ของชาวอำเภอบ้านต้นโพธิ์ และอำเภอไผ่หนอง ซึ่งอพยพจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

ที่แห่งนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำและป่าไผ่ เอื้อต่อการดำรงชีพโดยได้นำภูมิปัญญาของการตีมีดอันโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับกันในทักษะฝีมือ นำมาสร้างเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน และนำมีดที่ตีไปขายยังตลาดบ้านอรัญญิก 

จนมีดได้รับความนิยมในเรื่อง ความแข็งแกร่ง เนื้อเหนียว ทนทาน ไม่บิ่นหักง่าย ทำให้คนในสมัยก่อน บอกต่อกันปากต่อปากว่า มีดชั้นดีนี้ซื้อหาจากหมู่บ้านอรัญญิก จึงเป็นที่มาของมีดคุณภาพดีในนาม “มีดอรัญญิก” นับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา เรียนรู้ประวัติศาสตร์กันต่อได้ที่

ที่มา : มีดอรัญญิก

 

 

เรียนรู้วิชาสังคมศึกษาง่าย ๆ ที่ใช้เวลาไม่นานแต่ประสบการณ์เยอะ กับรายการโลกกลม ๆ กับครูสังคมของหนู รับชมได้ที่ : www.ALTV.tv/LoakGlom

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ALTV, 
#ช่อง4ทีวีเรียนสนุก, 
#สังคมศึกษา, 
#ประวัติศาสตร์, 
#คลังความรู้, 
#อยุธยา, 
#วัดราชบูรณะ, 
#วัดมหาธาตุ, 
#พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา, 
#มีดอรัญญิก 
ALTV CI
คลังความรู้
คลังความรู้
ALTV News
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ALTV, 
#ช่อง4ทีวีเรียนสนุก, 
#สังคมศึกษา, 
#ประวัติศาสตร์, 
#คลังความรู้, 
#อยุธยา, 
#วัดราชบูรณะ, 
#วัดมหาธาตุ, 
#พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา, 
#มีดอรัญญิก 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา