"นิทาน" ถือได้ว่าเป็นตำนานคลาสสิกและเรื่องเล่านิทานก่อนนอนนั้น นอกจากจะช่วยสร้างความเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการแล้วยังมี ข้อคิด คติสอนใจที่แฝงอยู่ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตประจําวันได้ดี
นิทานอีสป คือนิทานที่นำเอาสัตว์มาเป็นตัวละครและสร้างเรื่องราวกลายเป็นนิทานและตอนจบทุกครั้งก็จะแทรกข้อคิดเตือนใจเอาไว้อีกด้วย เช่น คติสอนใจจากเรื่องชาวนากับงูเห่า ที่ให้ข้อคิดที่ว่า "ทำคุณกับคนชั่ว มีแต่จะได้รับความเดือนร้อน"
และเนื่องด้วยวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 วันหนังสือเด็กแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อการส่งเสริมให้มีนิสัยการรักอ่านแล้ว การอ่านยังถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เกิดพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะการอ่านหนังสือนิทาน นอกจากจะช่วย พัฒนาด้านสมอง และทักษะทางภาษา ให้แก่เด็กแล้ว ยังช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย เราจึงได้รวบรวม 5 คติสอนใจจากนิทานอีสปมาให้ได้คิดตามกัน!!
ชายตัดไม้คนหนึ่งทำขวานหลุดมือตกลงไปในบึง เขานั่งโศกเศร้าอยู่ริมฝั่งด้วยความเสียดาย เทพารักษ์สงสารจึงปรากฏกายขึ้นและช่วยงมขวานคืนให้ ครั้งแรก เทพารักษ์งมเอาขวานทองคำขึ้นมา แต่ชายตัดไม้ปฏิเสธว่า "ขวานเล่มนี้ไม่ใช่ของข้าพเจ้าหรอก"ครั้งที่สอง เทพารักษ์งมขวานเงินขึ้นมาให้ ชายตัดไม้ก็ปฏิเสธอีก ครั้งสุดท้าย เทพาลักษ์นำขวานเหล็กเก่าคร่ำคร่ามาให้ ชายตัดไม้ก็ดีใจมาก ที่ได้ขวานของตนคืน เทพารักษ์ชื่นชมความซื่อสัตว์ของเขา จึงมอบขวานทองคำและขวานเงินให้ด้วย เพื่อนของชายตัดไม้ รู้เรื่องนี้ก็นึกอิจฉาอยากได้บ้าง จึงไปยังริมบึงและแกล้งทำขวานหลุดมือตกน้ำ เมื่อเทพารักษ์ปรากฏกายขึ้นและงมขวานทองคำขึ้นมาให้ ชายผู้นี้ก็รีบตอบว่าเป็นขวานของตน เทพารักษ์เห็นว่าเขาเป็นคนโป้ปดโลภมาก จึงหายตัวไปทันที เพื่อนของชายตัดไม้จึงไม่ได้แม้แต่ขวานของตนคืน
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : "ผู้มีความสัตย์ ย่อมได้รับผลดีตอบแทน"
สุนัขจิ้งจอกผู้หิวโหยตัวหนึ่งเดินผ่านมายังไร่องุ่น มันเห็นพวงองุ่นที่สุกฉ่ำอยู่บนกิ่งไม้สูงจึงพูดว่า "พวงองุ่นพวกนั้นคงจะช่วยให้ข้าดับกระหายได้บ้างนะ" จากนั้นมันก็กระโดดหวังจะกินองุ่นแต่ก็พลาด มันจึงคิดหาวิธีอื่นดูบ้าง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถคว้าพวงองุ่นมากินได้เลย ในที่สุดมันก็เลิกล้มความตั้งใจ แล้วพูดว่า "องุ่นนั้นคงจะเปรี้ยวมาก ไม่เห็นน่ากินสักนิด" แล้วมันก็เดินจากไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : "ผู้ที่ทำสิ่งใดไม่สำเร็จ มักโทษว่าสิ่งนั้นไม่ดี"
กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว มีแม่หมูและลูกหมู 3 ตัว อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ลูกหมูที่เป็นพี่ใหญ่เกียจคร้าน มักจะแอบไปหาที่หลบเพื่อนอนอยู่ตลอดเวลา ลูกหมูตัวที่สองเป็นหมูจอมตะกละ ไม่ชอบทำงาน เวลางานก็มักจะหาเรื่องพักและกินอาหารที่แอบนำมาด้วยเสมอ ส่วนลูกหมูตัวที่สาม เป็นหมูที่ขยันแข็งแรง มีความขยันหมั่นเพียรและชอบทำงานเป็นอย่างมากวันหนึ่ง แม่หมูได้พูดกับลูกหมูทั้งสามตัวว่า “พวกลูกๆ โตเกินกว่าที่จะอยู่ในบ้านหลังน้อยของแม่แล้ว ถึงเวลาที่ลูกๆ จะต้องมีบ้านเป็นของตัวเองได้แล้วล่ะจ้ะ”
ลูกหมูสามตัวเริ่มออกเดินทางมาจนถึงชายป่าแห่งหนึ่ง พวกมันตัดสินใจที่จะสร้างบ้านบริเวณใกล้ๆ กัน จากนั้นก็ได้เดินทางไปที่ตลาดเพื่อซื้อของสร้างบ้าน พี่ใหญ่ ตัดสินใจซื้อฟางไปสร้างบ้าน จะได้ไม่เหนื่อยและหนักด้วย พี่รอง ตัดสินใจซื้อเศษไม้ไปสร้างบ้าน เพียงตอกตะปูไม่กี่ทีก็เสร็จแล้ว อีกทั้งยังสามารถต้านลมที่พัดมาแรงๆ ได้อย่างแน่นอน ส่วนน้องเล็ก ตัดสินใจซื้ออิฐมาสร้างบ้าน ลูกหมูทั้ง 3 สร้างบ้านของตนเองจนเสร็จเรียบร้อย จนกระทั่งคืนหนึ่ง มีเจ้าหมาป่ามาซุ่มดู หวังจะจับลูกหมู 3 ตัวมากินเป็นอาหาร
เจ้าหมาป่าไปบ้านลูกหมูที่สร้างด้วยฟางแต่ลูกหมูไม่ยอมเปิดประตู เจ้าหมาป่าเริ่มทำลายบ้านของลูกหมูตัวที่หนึ่งทันที ด้วยความตกใจ ลูกหมู่ทำอะไรไม่ถูก ลูกหมูตัวแรกรีบวิ่งไปหาน้องกลางที่สร้างบ้านด้วยเศษไม้ เจ้าหมาป่าตามมา และเคาะประตูให้เปิด ลูกหมูทั้งสองไม่เปิด แต่เจ้าหมาป่าก็สามารถพังประตูเข้ามาได้สำเร็จ ลูกหมูทั้งสองตัวจึงรีบวิ่งไปที่บ้านอิฐของน้องเล็ก เจ้าหมาป่าวิ่งตามมาติดๆ ลูกหมูทั้งสองเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับน้องเล็กฟัง เจ้าหมาป่าตัวร้ายก็มาถึงบ้านน้องเล็ก มันเคาะประตูบอกให้เปิดแต่ลูกหมูไม่เปิด เจ้าหมาป่าจึงรวบรวมลมเป่า แต่บ้านก็ไม่ยอมพังเสียที กระแทกประตูก็ไม่พัง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหมาป่าได้หวนกลับมาอีกครั้ง
มันได้เดินแบกเอาบันไดยาวมุ่งหน้าตรงมาที่บ้านอิฐของพวกลูกหมูเพื่อปีนเข้าทางปล่องไฟบนหลังคาทันไดนั้นเองที่ลูกหมูทั้งสามเห็นเจ้าหมาป่ากำลังปีนขึ้นมาทางปล่องไฟ น้องเล็กจึงได้รีบให้พี่ ๆ จุดเตาไฟ เจ้าหมาป่าถูกเผาด้วยไฟ ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากนั้นเป็นต้นมา หมาป่าก็เกิดสำนึกได้ จึงได้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ส่วนพี่หมูทั้งสองตัวก็ได้ตั้งใจจำเอาน้องหมูสุดท้องเป็นตัวอย่างที่ดี หันมาขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน
นิทานเรื่องลูกหมูสามตัวสอนให้รู้ว่า : "การเกียจคร้านไม่ได้ทำให้เราสบายได้จริง แต่จะนำทุกข์ภัยมาสู่ตน"
ชาวนาเดินออกจากบ้านในฤดูหนาววันหนึ่ง ระหว่างทางพบงูเห่าตัวหนึ่ง นอนตัวแข็งใกล้ตายอยู่บนคันนา ด้วยความเหน็บหนาว ชาวนาเห็นดังนั้นก็นึฏสงสาร จึงอุ้มมันขึ้นมาไว้ในอ้อมแขนเพื่อให้มันหายหนาว เมื่องูเห่าได้รับความอบอุ่นก็เริ่มมีกำลังมากขึ้น ทันทีที่เห็นชาวนา มันก็ตกใจ และฉกเขาตามสัญชาตญาณ ก่อนที่จะเลี้อยหนีไป ชาวนาทนพิษบาดแผลไม่ไหวได้แต่รำพึงก่อนที่เขาจะตายว่า "เราไม่น่าช่วยเจ้าสัตว์ร้ายนี้เลย สมควรแล้วที่เราจะต้องตายเพราะมัน
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : "ทำคุณกับคนชั่ว มีแต่จะได้รับความเดือนร้อน"
ณ หนองน้ำริมทุ่งนา วัวตัวหนึ่งเดินมากินน้ำและเหยียบโดนลูกอึ่งอ่างตายไปหลายตัว เมื่อแม่อึ่งอ่างกลับมา ลูก ๆ ก็รีบเล่าให้แม่ฟังด้วยความตื่นกลัวว่า " แม่จ๋าเมื่อกี้มีตัวอะไรไม่รู้ สูงใหญ่ทะมึนเหยียบพวกเราตายไปตั้งหลายตัว น่ากลัวมากเลยจ๊ะ "
แม่อึ่งอ่างได้ฟังก็สูดลมพองตัวให้ใหญ่ขึ้นแล้วถามด้วยความอยากรู้ว่า " ตัวใหญ่เท่านี้ไหม? " ลูกอึ่งอ่างบอกว่า " ใหญ่กว่านี้อีกจ้ะแม่ " แม่อึ่งอ่างจึงพองตัวขึ้นอีก ลูก ๆ ก็ตอบว่า " ยังใหญ่ไม่ถึงครึ่งเลยแม่ " แม้ว่าแม่อึ่งอ่างจะพยายามพองตัวขึ้นเท่าไร แต่ลูก ๆ ก็ยังส่ายหน้าว่ายังใหญ่ไม่ถึงครึ่ง แม่อึ่งอ่างนึกฉุนเฉียวจึงพองตัวขึ้นสุดแรงเกิดจนตัวเองทนไม่ไหว ท้องแตกตายที่ริมหนองน้ำแห่งนั้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : "เมื่อทำสิ่งใดควรรู้จักประมาณตนให้เหมาะสม"
นอกจากนี้ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ยังมีนิทานสนุก ๆ มาเล่ากันในทุกเช้าให้น้อง ๆ ได้ตื่นมาฟังนิทานกันอีกด้วย กับรายการนิทานตื่นนอน รายการที่จะมาเล่านิทานเด็กดีแสนสนุก ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ข้อคิดดี ๆ ถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเข้าใจง่ายผ่านตัวละครในนิทาน ละครสั้น ภาพวาดเขียน ตัวละครหุ่นมือ รับชมย้อนหลังได้ทาง www.ALTV.tv/Tale
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
SOURCE : Kalyanamitra