วันนี้ในเมื่อ 153 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นเป็นต้นมาในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญนี้ผ่าน "3 เรื่องน่ารู้วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" กันต่อได้เลย
เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี
ซึ่งได้พยากรณ์ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี โดยมีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศสและเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมสังเกตการณ์
เกิดขึ้นจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงได้คิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า "ปฏิทินปักขคณนา" (ปักขคณนา คือ วิธีนับปักข์หรือรอบครึ่งเดือนของข้างขึ้นข้างแรม เป็นวิธีนับที่แม่นยำสูง) และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ทำปฏิทินจันทรคติพระทุกปี แทนปฏิทินฆราวาส
ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อจะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ และมีชื่อเรียกว่า "กระดานปักขคณนา" ซึ่งปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นในวัดสายธรรมยุต เช่น วัดราชาธิวาส
ส่วนพระปรีชาสามารถด้านดาราศาสตร์นั้น เริ่มตั้งแต่ทรงทอดพระเนตรดาวหางเมื่อทรงพระเยาว์ ซึ่งพระองค์ยังได้ทรงออกประกาศแจ้งว่าดาวหางขึ้น อย่าได้วิตก เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ให้เชื่อตามคำเล่าลือที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นนับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ
ในส่วนพระราชฐานของพระองค์ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะ "หอชัชวาลเวียงชัย" บริเวณพระนครคีรีหรือเขาวัง พระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป
ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2395 โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น มีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทราเทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
SOURCE : หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง