สำหรับประเทศที่จะมีโอกาสเกิดดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จะเริ่มจากประเทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือหรือที่เราเรียกว่า ทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer) เป็นตำแหน่งละติจูดเหนือสุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉากที่จุดเหนือศีรษะ ไปจนถึงประทศที่อยู่ในตำแหน่งละติจูดที่ 23.5 องศาใต้เท่านั้น หรือที่เราเรียกว่า ทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) เป็นตำแหน่งละติจูดใต้สุดบนโลกที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏตั้งฉากที่จุดเหนือศีรษะ
ภาพแสดงตำแหน่งของบริเวณโลกที่สามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างแนว Tropic of Cancer กับ Tropic of Capricorn ภาพจาก NARIT
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ จึงทำให้ประเทศไทยมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดปีละ 2 วัน โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง คือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม และกรกฎาคม-กันยายน
ภาพปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเมื่อปี 2562 ภาพจาก NARIT
ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย ครั้งที่ 2 ของปี เริ่มจากเหนือสุดของประเทศ จากนั้นเปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร เวลา 12:22 น. หากยืนกลางแดดช่วงเวลาดังกล่าว เงาของร่างกายจะตกอยู่ใต้เท้าพอดี ดูข้อมูลปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากครั้งที่ 2 ของแต่ละจังหวัดได้ที่ www.NARIT.or.th
ท่ายอดฮิต ท่าโยคะ "สุริยะนมัสการ" ภาพจาก NARIT
การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจึงอาจไม่ใช่วันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเสมอไป
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง