ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
"ดาวเสาร์" ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์มากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล
แชร์
ชอบ
"ดาวเสาร์" ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์มากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล
02 ส.ค. 64 • 13.13 น. | 11,768 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ดาวเสาร์โคจรใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนมารู้จัก "ดาวเสาร์" ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์เป็นบริวารมากที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล

ในวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นี้ "ดาวเสาร์" จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์จะมีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (Saturn Opposition) ห่างจากโลกประมาณ 1,337 ล้านกิโลเมตร และเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวเสาร์สว่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จนถึงรุ่งเช้า ที่บริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล สามารถดูได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า 

หากดูผ่านกล้องส่องทางไกล หรือกล้องสองตาที่มีขนาดหน้าเลนส์ไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตร กำลังขยายตั้งแต่ 10 เท่าขึ้นไป จะเริ่มมองเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้ หรือดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจน โดยมีช่องว่างแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง 

"ดาวเสาร์" ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์เป็นบริวารมากถึง 82 ดวง

ดาวเสาร์ (Saturn) เป็นดาวเคราะห์ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) สังเกตดาวเสาร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2153 เขามองเห็นดาวเสาร์มีลักษณะเป็นวงรี 

กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2202 คริสตียาน เฮยเคินส์ (Christiaan Huygens) พบว่าวงรีที่กาลิเลโอเห็นนั้นคือวงแหวนของดาวเสาร์ เป็นที่เชื่อกันว่าดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวของระบบสุริยะที่มีวงแหวน จนกระทั่งต่อมาได้มีการส่งยานอวกาศไปค้นพบวงแหวนบาง ๆ รอบดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ดาวเสาร์ถูกสำรวจโดยยานไพโอเนียร์ 11 ในปี พ.ศ. 2522 ตามด้วยยานวอยเอเจอร์ 1 ยานวอยเอเจอร์ 2 และยานแคสสินีในปี พ.ศ.2547

คริสตียาน เฮยเคินส์ (Christiaan Huygens)

บรรยากาศของดาวเสาร์เป็น ไฮโดรเจน 75% ฮีเลียม 25% ปะปนไปด้วยน้ำ มีเทน แอมโมเนีย จำนวนเล็กน้อย แถบสีบนดาวเสาร์เกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองเร็วมาก จนทำให้เกิดการหมุนวนของชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน จึงปรากฏเป็นแถบเข้มและจางสลับกันไป โครงสร้างภายในของดาวเสาร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับของดาวพฤหัสบดี มีแกนกลางที่เป็นหินแข็ง ห่อหุ้มด้วยแมนเทิลชั้นในที่เป็นโลหะไฮโดรเจน และแมนเทิลชั้นนอกที่เป็นไฮโดรเจนและฮีเลียมเหลว

"ดาวเสาร์" มีมวลมากจึงมีแรงโน้มถ่วงมาก สามารถดูดจับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางมาเป็นบริวาร ได้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบแล้ว 82 ดวง ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ "ไททัน" (Titan) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธด้วย

"วงแหวนดาวเสาร์" อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 1,495,978,286.77 กิโลเมตร จึงไม่ถูกรบกวนจากลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สูญเสียบรรยากาศชั้นนอกและมีมวลมาก ทำให้มีแรงโน้มถ่วงมาก สามารถดูดจับดาวหางที่โคจรผ่านเข้ามา 

ดาวหางนั้นมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งจึงเปราะมาก เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดาวเสาร์ แรงโน้มถ่วงมหาศาลจะทำให้เกิดแรงแรงน้ำขึ้นลงภายในดาวหาง ด้านที่หันเข้าหาดาวเสาร์จะถูกแรงกระทำมากกว่าด้านอยู่ตรงข้าม ในที่สุดดาวหางไม่สามารถทนทานต่อแรงเครียดภายใน จึงแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยสะสมอยู่ในวงโคจรรอบดาวเสาร์และกลายเป็นวงแหวนในที่สุด

CREDIT PHOTO : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

ด้วยเหตุนี้วงแหวนของดาวเสาร์จึงประกอบด้วยอนุภาคจำนวนมหาศาลซึ่งมีวงโคจรอิสระ มีขนาดตั้งแต่เซนติเมตรไปจนหลายร้อยเมตร ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำแข็ง ปะปนอยู่กับเศษหินเคลือบน้ำแข็ง วงแหวนของดาวเสาร์บางมาก แม้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 250,000 กิโลเมตร แต่มีความหนาไม่ถึง 1.5 กิโลเมตร วงแหวนแต่ละชั้นมีชื่อเรียกตามอักษรภาษาอังกฤษ เช่น วงแหวนสว่าง (A และ B) และวงสลัว (C) ช่องระหว่างวงแหวน A และ B เรียกว่า ช่องแคสสินี (Cassini Division) นั้นเอง 

สามารถติดตามชมปรากกฏการณ์ทางดาราศาสตร์ดาวเสาร์ใกล์โลกที่สุดในรอบปี ผ่านทางการถ่ายทอดสดทาง Facebook Page สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00-21.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ส่งสัญญาณภาพจากหอดูดาว 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย หรือสามารถใช้กล้องโทรทรรศน์ส่วนตัวรับชมปรากฏการณ์นี้ พร้อมกันได้เลย

ไม่พลาดทุกเรื่องราว ! "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" พร้อมอัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียล กับ Thai PBS Sci & Tech

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

Source : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT), ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ALTV, 
#ทีวีเรียนสนุก, 
#ดาราศาสตร์, 
#ดาวเสาร์, 
#Saturn, 
#ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี, 
#สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, 
#NARIT, 
#ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์, 
#LESA, 
#ดาวเคราะห์, 
#วงแหวนรอบดาวเสาร์ 
ALTV CI
คลังความรู้
คลังความรู้
ALTV News
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ALTV, 
#ทีวีเรียนสนุก, 
#ดาราศาสตร์, 
#ดาวเสาร์, 
#Saturn, 
#ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี, 
#สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, 
#NARIT, 
#ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์, 
#LESA, 
#ดาวเคราะห์, 
#วงแหวนรอบดาวเสาร์ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา