"จันทรุปราคา" (Lunar eclipse) คือ ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อโลก ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่แนวเดียวกันทำให้เงาของโลกบดบังดวงจันทร์ไปบางส่วน หรือทั้งหมด โดยคนไทยจะรู้จักกันอีกชื่อว่า "จันทรคราส" เช่น ดังรูป
ทั้งนี้ "ปรากฏการณ์จันทรุปราคา" ครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้นในค่ำวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.38-19.52 น. ตามที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ปรากฏการณ์นี้ ไว้ว่าดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 15.47 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกเกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16.44 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 18.11-18.25 น. แต่ในวันดังกล่าว ในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.38 น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นเป็นเพียง “จันทรุปราคาบางส่วน” เท่านั้น
สำหรับผู้สนใจ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.38 น. เป็นต้นไป จะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกในเวลา 20.49 น. จะถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)