จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่เว้นกระทั่งด้านการศึกษา เด็กทั่วประเทศต้องเจอกับการเรียนรูปแบบใหม่ นั่นคือการเรียนออนไลน์ แม้จะดูไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดในช่วงแรก แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดถูกยืดมายาวนาน ประกอบกับการอยู่บ้านและการกักตัว ทำให้เด็กไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเข้าสังคม ยิ่งทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว
ผลสำรวจขององค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ โดยเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ระหว่างวันที่ 27 มี.ค. - 6 เม.ย. 63 จากเด็กและเยาวชน 6,771 คน ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อายุ 15 - 19 ปี พบว่า เด็กไทย 8 ใน 10 มีแนวโน้มเกิดความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่ายสูงขึ้น ผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งปัญหาการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนกังวลมากที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจ ตลอดจนการถูกเลิกจ้าง
จากผลสำรวจทำให้เห็นได้ว่าเด็กเองก็มีความเครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แม้ก่อนหน้านี้พ่อแม่จะพยายามปลูกฝังทักษะชีวิตให้เด็กเข้มแข็ง แต่ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเด็กบางคนอาจไม่สามารถรับมือได้ดี ดังนั้นเมื่อเด็กตกอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่สามารถรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ สิ่งที่พ่อแม่เหลือได้มีดังนี้
สังเกตความเปลี่ยนแปลง
สังเกตภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของเด็ก ว่ามีแนวโน้มเกิดความเครียดหรือไม่ เพื่อต่อยอดสู่การช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน
เปิดโอกาสให้เด็กสามารถออกแบบกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น การทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เพื่อผ่อนคลายความเครียดและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
ให้กำลังใจ เสริมพลังบวก
หลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติมหรือความเห็นในด้านลบ เปลี่ยนเป็นการใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้เด็กเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง เข้าใจและยอมรับกับทุกปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอและไม่อาจเลี่ยงได้ สิ่งที่เป็นกำลังใจมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นครอบครัว ดังนั้นครอบครัวที่เป็นเสาหลักมั่นคง จะมีส่วนช่วยให้เด็กผ่อนคลายและพร้อมตั้งรับกับเรื่องใหม่ ๆ มากขึ้น
ที่มา : กรมสุขภาพจิต