เคยไหม ? ที่รู้สึกว่าพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุในบ้านมีบางอย่างเปลี่ยนไป ที่นอกเหนือจากสีผมที่ขาวขึ้น หรือผิวหนังที่เหี่ยวย่นลง แต่กลายเป็นคนขี้บ่น ปากร้าย ซ้ำยังเอาแต่ใจ ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยพูด และใจเย็นกว่านี้ หรือบางคนกลับกลายเป็นซึมเศร้าเสียใจได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และดูเหมือนว่ายิ่งพวกเขามีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น ---- ALTV จึงอยากพาทุกคนมาสวมใจเป็นวัยเก๋า เพื่อทำความเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้นอีกนิด ว่าในความเป็นจริงผู้สูงอายุเป็นวัยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง..
เราเชื่อว่าหลายครอบครัวกำลังประสบปัญหาที่ต้องรับมือกับพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในบ้านจู้จี้ขี้บ่น อารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่คุณก็มักปล่อยผ่านมันไปด้วยเหตุผลแบบง่าย ๆ ที่ว่า ‘เขาแก่แล้วก็เป็นแบบนี้แหละ’ โดยละเลยที่จะทำความเข้าใจถึงต้นตอของพฤติกรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง หรือบางคนก็พยายามรับมืออย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ตัวคุณเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีปัญหาชีวิต และภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ไหนจะความเครียดที่สะสมในแต่ละวัน เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเหนื่อยหน่าย รำคาญ และนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
แต่ทว่ากุญแจในการหาทางออก ไม่ใช่การโต้เถียงด้วยอารมณ์ แต่คือการทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของพฤติกรรมเหล่านี้อย่างใจเย็น เพราะในวันหนึ่งเมื่อเราแก่ตัวลง เราก็อาจจะต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน
ภาพจาก : Freepik.com
ความเหงา : สถิติจากกรมสุขภาพจิต ระบุไว้ว่า คนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะเผชิญกับสถานการณ์ความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 ซึ่งสาเหตุหลักของความเหงาในผู้สูงอายุ มักมาจากสาเหตุจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัว รองลงมา คือขาดการติดต่อจากคนใกล้ชิด ซึ่งถึงแม้ว่าการสูญเสียจะเป็นเรื่องของคนทุกวัย แต่ในวัยชราคุณอาจต้องพบเจอกับการสูญเสียที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนวัยเดียวกัน หรือคนรักที่ใช้ชีวิตด้วยกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งการสูญเสียในช่วงบั้นปลายชีวิตเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจผู้สุงอายุอย่างมาก และหากปล่อยไว้นาน อาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้
ความรู้สึกไม่ปลอดภัย : เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา ภาวะสูญเสียมวลกระดูก โรคข้ออักเสบ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จะเริ่มถามหา ส่งผลให้คุณมีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่างได้ยากขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นอีกด้วย ลืมชีวิตที่สนุกสุดเหวี่ยงเหมือนตอนวัยรุ่นไปได้เลย เพราะเพียงแค่การเดินขึ้น-ลงบันไดธรรมดาก็เป็นเรื่องยากแล้วสำหรับคนวัยนี้
ความไม่มั่นคงทางการเงิน : เมื่อคุณเข้าสู่วัยเกษียณ คุณไม่สามารถออกไปทำงานหาเงินเองเหมือนเมื่อก่อน สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ คุณอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สมดุลต่อเงินเก็บที่มี หรือต้องออมเงินมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
สูญเสียประสาทสัมผัส : เมื่อคุณอายุได้ 40-50 ปีเป็นต้นไป สมองส่วนหน้า (Temporal cortex) ที่มีหน้าที่สำคัญในส่วนของความจำจะเสื่อมสภาพลง 2-3 % ในทุก 10 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการค่อย ๆ สูญเสียทางประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งเป็นต้นตอของโรคชราต่าง ๆ อาทิ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยน ซึ่งกระทบกับความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน นอกจากนี้ปัญหายอดฮิตในผู้สูงอายุ อย่างการสูญเสียการได้ยิน ก็มักนำไปสู่ความล้มเหลวทางการสื่อสารระหว่างลูกหลาน ส่งผลให้ผู้สูงอายุบางรายเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวเฉียบพลัน
ข้อจำกัดทางกายภาพ : การทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หรือได้ทำสิ่งที่สนใจ จะสามารถช่วยให้คุณได้ผ่อนคลายความเครียด เสริมสร้างสมาธิ ฯลฯ ซึ่งในผู้สูงอายุจะช่วยในเรื่องความจำและความคล่องแคล่ว แต่ถ้าหากคุณมีข้อจำกัดทางกายภาพที่มากขึ้น จะส่งผลให้คุณไม่สามารถทำงานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่คุณเคยวาดฝันไว้
รับฟังและทำความเข้าใจ : การเติบโตมาในยุคสมัยที่ต่างกัน มักนำมาซึ่งทัศนคติที่ไม่ตรงกันในบางเรื่อง คุณอาจจะไม่เข้าใจความคิดของผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุบางคน ก็ไม่รู้วิธีจะสื่อสารกับคุณอย่างไรให้คุณเข้าใจถึงความคิดของพวกเขา ทางที่ดีคุณอาจเริ่มต้นด้วยการลองพูดคุยกับพวกเขาให้มากขึ้นอีกนิด สังเกตและรับฟังถึงปัญหาของพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว ซึ่งนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ในภายหลัง
ให้ความสำคัญ : ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกว่าตนเป็นภาระ ไร้คุณค่า ไร้ความสำคัญ ต่อคนในครอบครัว ซึ่งความคิดเหล่านี้มีต้นตอมาจากปัญหาความวิตกกังวล ที่ตนไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเมื่อก่อน ในอดีตบางคนเคยทำหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่างภายในบ้าน แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นต้องอยู่เฉยๆ ซึ่งไม่ใช่กิจวัตรเดิมที่คุ้นชิน คุณอาจเริ่มต้นด้วยการให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในบางเรื่อง หรือขอความคิดเห็นจากพวกเขาบ้างเป็นครั้งคราว และปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความเคารพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เหล่าผู้สูงอายุรู้สึกได้ว่า พวกเขายังเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคุณอยู่
ทำกิจกรรมร่วมกัน : การเริ่มทำกิจกรรมด้วยกันบ่อย ๆ จะนำมาสู่การได้เรียนรู้ความคิด ความต้องการ ซึ่งกันและกัน เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจผู้สูงอายุได้ดีขึ้น อาจเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการออกไปซื้อของ เล่นเกมฝึกสมอง และจบด้วยการทำอาหารมื้อเย็นด้วยกัน นอกจากจะช่วยให้คุณและผู้สูงอายุสนิทสนมมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้หันกลับมามีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ได้อีกครั้งด้วย
เสริมสร้างสุขภาพกายใจ : ความแปรปรวนทางอารมณ์ของผู้สูงอายุ มีสาเหตุหนึ่งมาจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป การได้รับประทานอาหารที่บำรุงร่างกาย หรือให้พวกเขาได้ออกไปทำกายบริหารเบา ๆ สัก 20 - 30 จะช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือที่เรารู้จักกันในนามสารแห่งความสุขออกมาได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อสภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
ถึงแม้เราจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่อธิบายถึงความแก่ชรา แต่ทว่าเมื่อเราพิจารณาดูแล้ว ‘ความชรา’ ไม่ใช่สิ่งที่คนหนุ่มสาวอย่างเราจะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ จนกว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่การ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อาจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะเข้าใจผู้สูงอายุได้มากขึ้นอีกนิด และถ้าหากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุเพิ่มเติม สามารถรับชมเนื้อหาสาระดี ๆ ที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ได้ที่รายการ "สูงวัยวาไรตี้" ทางเว็บไซต์ ALTV
ที่มา กรมสุขภาพจิต วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต Families for life Fellowship senior living