หนังสือ “สงครามโลกในสิ่งของ WORLD WAR TOOLS” ของคุณมนสิชา รุ่งชวาลนนท์ ดึงสายตาเราได้ตั้งแต่ปกสีสดที่ประกอบด้วยภาพมากมายที่ดูเหมือนตัดเอารูปจากนิตยสารเก่าและหนังสือประวัติศาสตร์มาแปะรวมกัน
ไล่เรียงดูจึงเห็นรายละเอียดมี่ตั้งแต่ขวดน้ำหอมหมายเลขห้า ลิปสติกสีแดง ขวดไวน์ ถ้วยชา รถถัง ผู้คนในเครื่องแบบ โลโก้ห้าห่วงโอลิมปิก ไปจนภาพวาดดอกทานตะวันเลื่องชื่อของแวนโก๊ะ
ภาพคอลลาจเน้นแม่สี สีแดง ขาว น้ำเงิน เหลือง ฉูดฉาดนี้ แม้ว่าจะดูป๊อบเท่ แต่ถามว่าภาพประกอบเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร คนอ่อนวิชาสังคมอย่างเราก็คือไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน
หนังสือเล่มนี้เล่าประวัติศาสตร์สงครามโลกผ่าน สินค้า สิ่งของ และกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมัยในเส้นทางการรบ
ทำให้เราคิดถึงพอดแคสต์รายการหนึ่งที่เราชอบมาก ชื่อ “Everything is Alive” เป็นรายการภาคภาษาอังกฤษที่ในแต่ละตอนจะมีแขกรับเชิญมาพูดคุยกันแบบสบายๆ หัวข้อก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ดำเนินรายการเข้าได้คุยกับอะไร
ใช่ค่ะ... ไม่ใช่ “ใคร” แต่เป็น “อะไร”
พอดแคสต์นี้สร้างขึ้นมาเพื่อบันทึกการสัมภาษณ์เรื่องราวประสบการณ์และความในใจ ...ในโลกแฟนตาซีที่มีกฎว่า สิ่งของต่าง ๆ รอบตัวมนุษย์นั้นล้วนมีชีวิตและความคิดเป็นของตัวเอง
ทำให้บทบาทสมมติของพิธีกรที่โต้ตอบกับบรรดาสิ่งของ ปากกา กระป๋องโคล่า ไปจนสบู่ก้อนนั้น หลายบทเป็นสนทนาสนุกและได้มุมมองที่น่าสนใจ ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่สมจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
กลับมาที่หนังสือ WORLD WAR TOOLS เล่มนี้ ต้องขอบคุณผู้เขียนใจดีที่เขียนบท intro ปูพื้นฐานแบบคิดเผื่อเด็กไม่ตั้งใจเรียนอย่างเราให้เข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ระดับโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะพาคนอ่านไปทัวร์สนามรบผ่านสิ่งของ
บางเรื่องมีอายุขัยสั้น ๆ อยู่เฉพาะช่วงที่มีสงคราม เป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยเพร่ความเชื่อต่างๆ ที่ท่านผู้นำตอนนั้นเขาคิดว่าดี ก่อนที่จะถูกความเชื่ออื่นกลบทับไปตามนำหนักของประเทศมหาอำนาจในยุคถัดมา
แต่ก็มีสินค้าสิ่งของบางอย่างที่เป็นตัวละครที่อยู่รอดผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกมาได้หลายเหตุการณ์ ยังคงได้รับความนิยมและมีมูลค่าในระดับคลาสสิค โดยไม่เกี่ยงว่าเป้าหมายของผู้สร้างสรรค์จะเริ่มต้นมาด้วยสาเหตุใด
ความรักชาติ สร้างทั้งวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ และก็เป็นตัวจุดระเบิดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงเกินจะชดใช้ด้วยเช่นกัน
พอคิดว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านเวลามาไม่ถึงร้อยปี บางความเชื่อดูเชยจนกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังถูกสืบทอดส่งต่อผ่านมาถึงปัจจุบัน
รหัสประจำตัวนักโทษในค่ายกักกันมรณะที่ฝังเป็นรอยสักถาวรอยู่บนผิวชาวยิว เป็นสัญลักษณ์ยืนยันว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์กว่าหกล้านชีวิตเคยเกิดขึ้นจริง และจะยังคงย้ำเตือนความโหดเหี้ยมอยู่เช่นนั้น
ในขณะที่สัญลักษณ์ชูสองนิ้วง่ายๆ ที่เราแอคถ่ายรูปกันประจำกลับถูกช่วงชิงเปลี่ยนแปลงความหมายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ทำให้เห็นว่า “ทัศนคติ” ไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่อยู่แค่ในความคิดของคนเท่านั้น แต่มันแทรกตัวอยู่ได้ในทุกที่
มีทั้งมุมที่เหมือนเดิมและมุมที่เปลี่ยนไป อย่างกับสิ่งของเหล่านั้นมีชีวิตเป็นของตัวเอง
ชวนคุณแวะไปอ่านบางตอนของหนังสือ “สงครามโลกในสิ่งของ WORLD WAR TOOLS” จาก สำนักพิมพ์ SALMON.
ส่วนรายการ “Everything is Alive” พอดแคสต์ค่าย Radiotopia จากสหรัฐอเมริกา สามารถรับฟังได้ทาง podcast application ต่างๆ ที่คุณชื่นชอบ หรือทาง www.everythingisalive.com