นอกจากที่เคยถูกสปอยล์ตามเนื้อเพลงว่า ...ขอให้สมดังใจ ได้เป็นดังฝัน แต่มีอีกอย่างที่สำคัญ เหนือสิ่งใดนั้นคือเป็นคนดี
สารภาพกันตามตรงเลยคือ สมัยเมื่อเราเป็นเด็กหญิง ถ้าหากไม่ได้โดนคุณครูหรือผู้ใหญ่เรียกตอบ เราก็ไม่เคยสนใจคำถามนี้เลย เป็นเด็กก็แค่เป็นเด็กได้ไหม เดี๋ยวโตขึ้นก็คงรู้เองว่า หนูจะได้เป็นอะไร (หรือสอบเข้าที่ไหนได้ก็คงตามเพื่อนไปเรียนที่นั่นก่อน) ยักไหล่แล้วก็วิ่งไปนำขบวนเพื่อนเล่นโดดยาง
มองย้อนไปแล้วใจนึงก็อยากนึกโทษระบบการศึกษาไทยที่มันไม่ได้นำพาให้เราสปาร์คจอยพบเจอความถนัด แค่เรียน ทวน ท่อง ไปทำข้อสอบให้ผ่าน ทำตัวให้อยู่ในกรอบในเกณฑ์พอไม่โดนตี ก็คือว่าทำหน้าที่เด็กไทยไปได้หลายข้อแล้ว
ในขณะที่เราก็คงเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดกันบ่อยๆ ว่าเด็กไทยต้องมุ่งหน้าสู่ “ความเป็นเลิศ” จึงสมกับเป็นอนาคตของชาติ เราเองก็เติบโตมาในบรรยากาศที่นักขยันเรียนทั้งหลายต่างแข่งกันวิ่งเข้าเส้นชัย พร้อมทีมซัพพอร์ตเป็นผู้ปกครองที่เชียร์กันยกใหญ่ เฝ้ารอวันที่จะเอาเกียรตินิยมไปอวดญาติ
ท่ามกลางฝุ่นตลบนั้น เราแอบมีคำถามขึ้นมาในใจว่า นอกจากตั้งใจเรียน ทุ่มเทกับการกวดวิชา เพื่อไปเป็นนักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยชื่อดัง จะได้จบออกมาหางานฐานเงินเดือนสูงๆ ทันกินทันใช้ หรือไม่ก็ถมปริญญาเข้าไปเยอะๆ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไม่มีที่ยืนในสังคมแห่งคนเก่ง เราไม่มีทางอื่นให้เลือกเดินเลยเหรอ?
จนมาเจอหนังสือเล่มนี้ David Epstein ชี้ชวนให้เราหยุดมองคนที่พุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จทั้งหลายในมุมต่าง แถมยังมานั่งช่วยเราถามถึงความเข้มข้นของการแข่งขันในระบบการศึกษา ว่ามันจำเป็นจริงไหม ที่เราต้องรีบค้นหาตัวเองให้เจอ เพื่อจะได้เริ่มก้าวแรกให้ไว จะได้เป็นกำไรของคนที่ออกตัวเร็ว
วิชารู้รอบ กวักมือให้เราซูมออกจากการจ้องเขม็งไปยังความเป็นตัวท็อป ให้ได้ถอยห่างกลับมามองภาพใหญ่ว่า
ผู้มีความเป็นเลิศนั้นอยู่ในจุดที่สูงลิ่วจนต้องแหงนคอมอง
หรือเราต้องชะโงกสุดตัวไปดู เพราะความรู้ที่เขามีนั้นมันลึกล้ำเหลือเกินกันแน่
เรานึกถึงสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าท่านให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน, สอนจับปลา เขามีกินตลอดชีวิต”
หลายงานวิจัยทดลอง จากผู้เชี่ยวชาญมากมายที่รวบรวมมาให้คิดตามนั้น ทำเราพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วยไปหลายเรื่อง
และเหมือนได้ยินเดวิดกระซิบเป็นของแถมมาด้วยว่า โลกกว้างไม่มีแค่ปลาให้จับ ถ้ามีเวลาก็ลองไปหัดยิงนก หรือล้มวัวดูบ้าง เราก็อาจจะทำได้ เผลอๆ สุดท้ายอาจจะพบว่า เราปลูกผักถนัดกว่าล่าสัตว์ก็ได้ใครจะไปรู้
เราได้เห็นว่า “รู้ลึกกว่าได้เปรียบ” นั้นไม่จริงเสมอไป บางครั้งการ “เป็นเป็ด” ก็อาจจะทำให้เราปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ ให้มันไม่ท่วมหัวได้ดีกว่า
เอาจริงๆ ตัวเราในฐานะมนุษย์ ผู้ไม่ได้ครอบครองตำแหน่งผู้ชำนาญดีเด่นอะไร อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาเหมือนกันนะ มันอาจจะมาถึงยุคที่เราไม่ต้องต่อสู้เพื่ออยู่ในตำแหน่งชนะเลิศอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วก็ได้
และเราก็เหมือนจะเข้าใจที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ถามแล้วด้วย ว่า
“ก็มีอินเตอร์เน็ตแล้ว จะต้องท่องต้องรู้เป็นนักปราชญ์ไปทำไม สงสัยอยากรู้เรื่องไหน หัดใช้กูเกิลให้เป็นมันไม่ง่ายกว่าเหรอ?”
หนังสือ RANGE วิชารู้รอบ
เขียนโดย David Epstein แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล