คุณเก๋อ คัมภีร์ สรวมศิริ ประกอบอาชีพเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินฟรีแลนซ์
ถามว่าเรารู้ได้อย่างไร อ๋อ... ก็เปิดดูประวัตินักเขียนตรงท้ายเล่มเอาน่ะ ถ้าให้เราระบุวิชาชีพของคุณเก๋ออย่างเป็นทางการเองโดยไม่แอบเปิดดูเฉลย อีกร้อยปีก็ไม่น่าจะตอบถูก เพราะสำหรับคนที่เรียนศิลป์ภาษาตอนม.ปลาย ต่อสายดนตรีตอนปริญญาอย่างเรานั้น “การแพทย์” เป็นสาขาอาชีพที่ไกลตัวเรามาก
ยิ่งถ้าบอกว่าหมอนี่ (หมายถึง คุณหมอคนนี้) ไม่ได้รักษาคนอยู่ตามคลินิกหรือโรงพยาบาล แต่เป็นหมอที่เลือกสถานที่ทำงานได้ เป็นหมอผู้เป็นนายตนเองไม่ต้องตกอยู่ใต้ระบบองค์กรใดๆ เป็นหมอในโหมดรับจ้างอิสระ
เฮ้ย มีด้วยเหรอ? อย่างเท่!
พอรวมกับชื่อ “หิมาลัยต้องกลับไปฟัง” ทำให้เรานึกไปเองว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเรื่องของคุณหมอที่ลางานไปแบกเป้เดินทางตามหาความหมายของชีวิต เท่ๆ คูลๆ ทางเดียวกันกับธีมสีสวยๆ ของภาพประกอบที่ได้เห็นเมื่อตอนหยิบขึ้นมาเปิดดูครั้งแรก
ถึงแม้จะมีซีนหล่อเสียบหูฟัง เปิดเพลง ทอดสายตาเหม่อมองทิวทัศน์ทำมิวสิกวีดีโออยู่บ้าง แต่พอได้นั่งลงอ่านแล้วถึงเก็ทว่า
อ๋อ... “หูฟัง” ที่เขาว่านั้นไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์ใช้ฟังเพลงอย่างเดียว แต่เล่นคำกับหูฟัง stethoscope ของคุณหมอที่ใช้ตรวจคนไข้ด้วย
พลิกอ่านคำโปรยบนปกหลัง บอกเราว่านี่คือ “บันทึกของการไปค่ายอาสาบนเทือกเขาหิมาลัย” โอ้โห! นอกจากเป็นแพทย์ฟรีแลนซ์ แล้วยังออกเดินทางไปรักษาคนไข้ไกลถึงอินเดียโน่น ยิ่งเท่จัดเลย แต่ก็ยิ่งไกลจากภาพที่เราจะนึกออกได้ไปอีกเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกช่วงห้าปีต่อมาจาก “หิมาลัยต้องใช้หูฟัง” ที่เป็นปฐมบทแห่งการออกสู่โลกกว้างของหมอเก๋อ (อ๋อ... เขาตั้งใจเล่นคำกับหูฟังมาตั้งแต่เขียนเล่มแรกแล้วนี่นา แหะๆ) เล่าการตัดสินใจกลับไปเป็นชาวค่ายในโครงการ Himalayan Health Exchange – โครงการที่ชักชวนให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในระดับนักศึกษาไปจนถึงมืออาชีพไปออกค่ายอาสาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม
เพื่อเดินสายตรวจรักษาชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ บนเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนามาตรฐานการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ไปพร้อมกับการให้ประสบการณ์จริงในการวินิจฉัยโรคแก่หมอชาวค่ายในเงื่อนไขที่มีทรัพยากรจำกัดตั้งแต่หยูกยา อุปกรณ์รักษา ไปจนถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยมีการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่นิวเดลีไปจนทิเบตเป็นของแถม
เรานั่งลงอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ยาวๆ ทั้งที่การไปตะลุยทำค่ายอาสาก็น่าจะเป็นวิบากกรรมใช่เล่น และการทำความเข้าใจกับการรักษาคนไข้ไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย แต่หมอเก๋อก็เล่าออกมาด้วยท่าทีสบายๆ เหมือนมีเพื่อนมานั่งเล่าเรื่องสนุกให้ฟัง
ถามว่าอ่านจนจบแล้ว เราได้วิธีเสริมสร้างอนามัยส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาไหม คนที่ไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการแพทย์อย่างเราก็ยอมรับตรงนี้ว่าจำอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้หรอก
สิ่งที่เราพอจะเก็บเกี่ยวมาพูดเท่ๆ ต่อได้คือ ยังมีประชากรโลกอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน
เราได้เห็นความเหมือนกันเป็นสากลหลายอย่าง เช่น ลายมือหมอที่เขียนหวัดได้อย่างไม่จำกัดภาษา คนเป็นหมอนั้นหลายครั้งก็มีหน้าที่มากกว่าการตรวจและรักษาร่างกายคนไข้ การคิดอย่างเป็นระบบเพื่อประกอบเอาทีมงานอาสาร้อยพ่อพันแม่มาร่วมกันทำงานได้อย่างราบรื่นก็สำคัญ
แม้จะมีตัวช่วยอย่างล่ามภาษาถิ่นคอยสื่อสารระหว่างหมอกับชาวบ้าน มีภาษาอังกฤษไว้ใช้เป็นภาษากลางของชาวค่าย แต่เมื่อเจอผู้ป่วยอธิบายอาการของตัวเองว่า วิงเวียนศีรษะไม่สบาย คล้ายคนที่มีความ “รู้สึกผิด” ก็ต้องวินิจฉัยออกมาให้ได้ว่าคุณคนไข้ป่วยเป็นอะไร ต้องรักษากายหรือรักษาใจกันแน่?
และการออกไปสำรวจโลกกว้างโดยนำทางด้วยหูฟัง จะกั้นเราจากเสียงอื้ออึงต่างภาษาที่ฟังไม่เข้าใจ หรือจะทำให้เราได้ยินอะไรระหว่างทางมากขึ้นกันนะ?
ทดลองอ่านการผจญภัยของหมอเก๋อได้ทาง minimore ของสำนักพิมพ์ SALMON
และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Himalayan Health Exchange ได้ทาง official website