ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นในทางสังคม วัฒนธรรม หรือพิธีกรรม แต่ที่โดดเด่นและเห็นได้ชัดคือ ดนตรีพื้นบ้านอีสานที่มีประวัติมากว่า 1,000 ปีแล้ว ซึ่งดนตรีพื้นบ้านของอีสานมักถ่ายทอดเรื่องราวของ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ ความแห้งแล้ง โดยภาพสะท้อนเหล่านี้จะดูได้จากสำเนียงเพลง บทเพลง ลักษณะของเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน
หากจะให้ยกตัวอย่างให้ชัดเจน คือทางภาคอีสานมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เมื่อถึงเวลาหน้าฝนชาวอีสานต้องรีบทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนไม่มีเวลาที่จะสนุกสนานมากนัก เครื่องดนตรีจึงประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่าย ๆ และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น การบรรเลงก็รวดเร็วคึกคัก กระชับและสนุกสนาน แสดงถึงความเร่งรีบ ซึ่งเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่เรารู้จักกันดีมีดังนี้
หมอลำกับคำว่าโอ้ละนอ
เป็นที่คุ้นหูกันดีกับคำว่า "โอ้ละนอ" และ "โอนอ" ถ้าขึ้นมาก็รู้ได้เลยทันทีว่าเป็นหมอลำ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการโชว์ความสามารถและน้ำเสียงของหมอลำแต่ละคนแล้ว ยังเป็นการตั้งเสียง ระหว่างเสียงหมอลำและเสียงแคนให้อยู่ใน “ลาย” (Mode) เดียวกัน ไม่เช่นนั้น เสียงลำอาจจะเพี้ยน คือร้องไม่เข้ากับเสียงแคนได้ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของการร้องหมอลำคือ เสียงร้องที่นำการคุมจังหวะของดนตรี ซึ่งถ้าพูดถึงศิลปินดั้งเดิมที่แค่พูดชื่อ ก็ต้องร้องอ๋อ! ในทันทีก็คงหนีไม่พ้น บานเย็น รากแก่น, จินตหรา พูนลาภ เป็นต้น
สำหรับคนไทยแล้ว เราจะคุ้นเคยกันดีกับเอกลักษณ์และสำเนียงเฉพาะตัวของเครื่องดนตรีอีสานอย่าง แคน พิณ และหมอลำ แต่บางครั้งคนรุ่นใหม่กับดนตรีพื้นบ้านก็เหมือนจะเป็นเรื่องห่างไกลกัน ด้วยวัฒนธรรมการฟังเพลงใหม่ ๆ ในกระแส การฟังดนตรีอีสานบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เอ้าท์และไม่เท่ไปซะแล้ว แต่วันนี้เราจะมานำเสนอดนตรีอีสานสมัยใหม่ ที่นำมาผสมผสานเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว แต่ก็ยังไม่ละทิ้งตัวตน เรียกได้ว่าแปลกใหม่และเท่สุด ๆ เรามาทำความรู้กกับศิลปินเลือดอีสานใหม่พร้อม ๆ กันกับ 3 ศิลปินสุดเจ๋งเหล่านี้
"รัสมี" เสียงร้องของจิตวิญญาณอีสาน ศิลปินผู้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการดนตรีพื้นบ้าน
แป้ง หรือที่รู้จักกันดีในนาม "รัสมี" เป็นนักร้องอีกคนที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการเพลงอีสานหรือหมอลำ เดิมทีแล้วรัสมีได้รับอิทธิพลทางดนตรีมากจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นนักดนตรีลูกทุ่งหมอลำ พ่อส่งเสริมให้เธอได้ฝึกลูกเอื้อนหมอลำตั้งแต่เด็ก จนมีน้ำเสียงที่ถูกใจผู้ชม แต่ด้วยฐานะทางการเงินที่บ้านไม่ดีนัก เธอไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ทำให้เวลาทั้งหมดต้องใช้ไปกับการคลุกคลีอยู่กับดนตรี จากเด็กผู้หญิงอีสานธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่แล้วเสียงเอื้อนก็พาเธอไปไกลถึงต่างแดนได้
เธอได้รู้จักกับเพื่อนกลุ่มนักดนตรีผิวสี ทำให้ได้เริ่มทำการทดลองนำไปผสมผสานกับดนตรีแนวอื่น ๆ อย่างบลูส์ หรือดนตรีแอฟริกัน จนเป็นที่ยอมรับ ไปเล่นไกลถึงฝรั่งเศส ผู้คนก็ต่างให้ความสนใจอย่างมาก จนจุดประกายความคิดให้เธอเริ่มอยากเขียนเพลงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้คนได้ฟัง
"แป้ง" นักดนตรีที่ทำลายกำแพงทางชนชั้น
กำแพงแห่งการแบ่งชนชั้นทางดนตรี ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ต้องเผชิญเหมือนกัน เมื่อมีคนบอกว่า คุณไม่ควรมาร้องหมอลำที่นี่ เพราะที่นี่เป็นที่ของคนชั้นสูง และหมอลำคือชั้นต่ำ แต่รัสมีค่อย ๆ คลายกำแพงเหล่านี้ออกไป กลุ่มแฟนเพลงของเธอมีตั้งแต่ แม่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงระดับไฮโซ รวมไปถึงชาวต่างชาติที่ต่างเมื่อได้ฟังดนตรีของเธอต่างให้ความสนใจและสนุกไปกับมัน ทั้งที่บางครั้งภาษาที่เธอร้อง เป็นทั้งภาษาอีสาน บางครั้งก็มีเขมรผสมอยู่ด้วย แต่รัสมี ได้ทำลายกำแพงทางภาษา ด้วยเสียงดนตรี ทำให้เราเห็นว่า ดนตรีของเธอเป็นการสื่อสารที่สากล
มากกว่าเพลง คือเรื่องราว
เนื้อหาของเพลงรัสมี มีอิทธิพลต่อผู้ฟังอย่างมาก โดยเฉพาะในเพลง "เด็กผู้หญิง" ที่เป็นตัวแทนสะท้อนผู้หญิงในภาคอีสาน มีเรื่องราวที่พูดชีวิต ความไม่เท่าเทียมทางด้านการศึกษา หากมองลึกลงไปแล้วเพลงนี้เต็มไปด้วยเรื่องราว เสียงของเธอเปรียบเสมือน ตัวแทนของจิตวิญญาณที่ไม่ว่าใครฟังแล้วต่างสัมผัสได้ถึงพลัง ความฝัน และความเป็นอีสาน แบบที่ไม่ต้องพยายาม เป็นแนวดนตรีที่เจ๋งโดยไม่ต้องหาคำนิยามอื่นใด
ต้น - ต้นตระกูล แก้วหย่อง ดนตรีอีสานที่ถูกปรุงแต่งให้มีความโมเดิร์น
ต้น ตระกูล แก้วหย่อง เติบโตมากับพื้นฐานครอบครัวที่มีใจรักในเสียงดนตรีในทางภาคอีสานเป็นทุนเดิม แต่คุณต้นเองได้อยู่ในสภาพแวดล้อมทางดนตรีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสากล อย่าง Jazz, Classic, Opera เขาจึงเกิดไอเดียที่จะนำความเป็นสากลมาผสมผสานกับเครื่องดนตรีไทย จึงนำไปสู่ความแปลกใหม่ของวงการดนตรี
จุดเปลี่ยนของการฟัง ดนตรีไทยไม่เชยอีกต่อไป
ในช่วงแรกเขาก็มีอาการเคอะเขินอยู่บ้าง เมื่อต้องขนแคนขึ้นรถประจำทางและทำการแสดงเปิดหมวก แต่พอเล่นไปสักพักได้เห็นความตื่นเต้นของผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมา เขาก็เริ่มรู้สึกได้ทันทีว่า คนรอบข้างสนใจ เสน่ห์ของดนตรีอีสานมีมากพอที่จะทำให้คนที่สัญจรไปมาต้องหยุดชะงัก และยืนฟังได้จนจบ ทำให้เขายึดมั่นกับเครื่องดนตรีอีสานมากขึ้น และอยากต่อยอดให้ผู้คนได้เห็นความเจ๋งในเครื่องดนตรีอีสานมากขึ้น จนกระทั่งเกิดวงดนตรี "TONTRAKUL"
"TONTRAKUL" แนวดนตรีที่นำเอาอดีต มาปรุงแต่งใหม่ในปัจจุบัน เพื่อส่งต่อในอนาคต
เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ดนตรีอีสานเป็นดนตรีที่ปรับเปลี่ยนตัวเองในทุกยุคทุกสมัย ไม่มีกฏระเบียบที่ตายตัว มีความเป็นอิสระของมัน และค่อนข้างใกล้เคียงกับวิธีของสากล และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเข้าถึงดนตรีอีสานได้ง่าย โดยคุณต้นมีแนวคิดที่ต้องการจะต่อยอดดนตรีพื้นบ้าน และยังมีอีกหลากหลายวิธีที่อยากทดลองในการนำเสนอดนตรีอีสาน โดยการทำเพลงแบบให้เข้าเนื้อกับยุคสมัย ให้มีความพอดีของดนตรีดั้งเดิม แต่ยังไม่หลุดจากยุคสมัยมากจนเกินไป เขาเชื่อว่าดนตรีพื้นบ้านยังคงไม่หายไปไหน เพียงแต่ต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ เปลี่ยนบทเพลง เปลี่ยนผู้ฟัง เปลี่ยนการสื่อสารให้เข้ากับปัจจุบันเท่านั้นเอง
อภิชาติ ปากหวาน กับคำนิยามของแนวดนตรี "อีสานทรอนิกส์"
หลาย ๆ คนอาจจะเคยคุ้นหูกับชื่อนี้มาบ้างกับ อภิชาติ ปากหวาน แต่ก็ไม่ยักกะเคยเห็นหน้าสักทีว่าเป็นใครมาจากไหน แต่อันที่จริงแล้ว "อภิชาติ ปากหวาน" เป็นชื่อโปรเจกต์ดนตรี ที่โอลิวิแอร์ ชโรเดอร์ ดีเจชาวดัตช์ และอังคณาง พิมพ์วันคำ ทำร่วมกัน
เป็นแนวเพลงที่ผสมผสานหมอลำกับ ฮิปฮอป ดั๊บ และอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไว้ด้วยกัน
รักแรกพบกับเพลงลาว
โอลิวิแอร์ ชโรเดอร์ เป็นดีเจชาวดัตช์ที่เล่นดีเจตั้งแต่อายุ 14 ปี มีพื้นฐานและความหลงใหลในฮิปฮอปและอิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รักแรกพบระหว่างเขาและกับดนตรีลาว เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ เมื่อได้ยินเพลงลาวครั้งแรกจากรถทัวร์ เขาตกหลุมรักในเสียงพิณและ Groove ของหมอลำ ซึ่งนั่นทำให้เขาได้รู้จักกับดนตรีในเอเชียครั้งแรก ถือได้ว่าแปลกหูสำหรับเขามากเลยทีเดียว จึงทำให้อยากสานต่อ นำดนตรีมาผสมผสาน เขาเริ่มเรียนดนตรีพื้นบ้าน อย่าง ขิม แคน และพิณ ทำความรู้จักกับมันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นโปรเจกต์อภิชาติ ปากหวาน ที่นำเสนอความเป็นอีสานที่แปลกใหม่ตามยุคสมัย เมื่อนำไปเล่นที่บ้านเกิดเขาแล้ว ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เคยต่อต้านหมอลำ เสียงอีสาน เพราะโดนดูถูก
หลายครั้งที่คนรุ่นใหม่หรือคนกรุงเทพมักมองว่าหมอลำเป็นเพียงดนตรีพื้นบ้าน โดนดูถูกดูแคลน ซึ่งนั่นก็ทำให้ อังคณาง ต่อต้านหมอลำไปเลยในช่วงแรก แต่พอได้ทำโปรเจกต์นี้ได้เห็นสายตาชาวโลกที่มีต่อหมอลำแล้วทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด และภูมิใจในความเป็นไทยมาก ๆ ทำให้อยากนำเสนอในความเป็นดนตรีอีสาน ดนตรีลาว และดนตรีชนเผ่ามากขึ้น สำหรับพวกเขาแล้ว ความเป็นดนตรีอีสานได้บอกเล่าถึงความเจ็บปวด ยากแค้น ผ่านบทเพลง จึงมีคำว่า "โอยหนอ.." ขึ้นมาก่อนเสมอ นั่นแปลว่าพื้นฐานของดนตรีอีสานนั้น สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี
ในชั่วโมงนี้ถ้าจะเรียกว่า "อีสานฟีเวอร์" ก็คงไม่ผิดนัก เพราะผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับภาคอีสานมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของประเทศไทย และมีอีกหลายมุมมองที่รอให้ถูกหยิบยกไปนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ อาหาร วัฒนธรรม ภาษา สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะ อยู่ที่ว่าใครจะเลือกหยิบจับอย่างไรให้เหมาะสมกับยุคสมัย กาลเวลาเปลี่ยนไป ดนตรีอีสานถูกนำเสนอผ่านมุมมองใหม่ ๆ ผสมผสานกับดนตรีที่หลากหลาย ทำให้เราได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ นั้นไม่ถูกต้องเสมอไป ดนตรีอีสานเป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย เป็นวิถีชีวิต เป็นความสวยงาม เป็นวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องราว ที่นำมาสืบทอดได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องนำเสนออย่างสร้างสรรค์และเข้ากับยุคสมัยเท่านั้นเอง
สำหรับใครที่ต้องการติดตามหมอลำกลอนและหมอแคน อดีตหมอลำจากคณะสุนทราภิรมย์ คณะหมอลำกลอนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตและมีคนติดตามอย่างมากมายว่าจะม่วนแค่ไหน
ต้องติดตามชมรายการ ลุยไม่รู้โรย Super Active ทาง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก